คปภ. ยกเครื่องใหม่กระบวนการอนุมัติผลิตภัณฑ์ประกันภัย
คปภ. ยกเครื่องใหม่กระบวนการอนุมัติผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยไทย โดยเริ่มใช้ปีนี้พร้อมปรับใหญ่แบบสัญญาประกันสุขภาพเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้ประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของด้านกำกับ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยเชิญนายกสมาคมประกันชีวิตไทย นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย กรรมการผู้จัดการบริษัทประกันชีวิต ผู้จัดการสาขาบริษัทประกันชีวิต กรรมการผู้จัดการบริษัทประกันวินาศภัย และผู้จัดการสาขาบริษัทประกันวินาศภัย เข้าร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. โดยมี 2 ประเด็นสำคัญ คือ
ประเด็นแรก การปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและรองรับให้ภาคธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยไทย จึงได้มีการจัดทำกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ขึ้น โดยในครั้งนี้สำนักงาน คปภ. เน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมธรรมาภิบาลของบริษัทในการพิจารณาและกลั่นกรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ประกันภัยและความพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ การทดสอบผลิตภัณฑ์ ระบบการจัดการความเสี่ยง ระบบการจัดการค่าสินไหม ระบบเรื่องร้องเรียน โดยผ่านคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ของบริษัท และในส่วนของ สำนักงาน คปภ. ได้จัดช่องทางในการอำนวยความสะดวก ที่ชัดเจนอย่างเป็นระบบ ตลอดจนวางแผนรองรับการกำกับรูปแบบใหม่ ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการและหารือภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมของการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่นี้ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบอัตโนมัติ (File & Use) การให้ความเห็นชอบที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนประกาศกำหนดเป็นแบบมาตรฐาน ให้ถือว่าบริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนนับแต่วันที่สำนักงาน คปภ. ประทับตรารับเรื่องและมีการชำระค่าธรรมเนียม สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบปกติ การให้ความเห็นชอบอัตราเบี้ยประกันภัยที่นอกเหนือไปจากหลักเกณฑ์ประกาศกำหนดให้เป็นแบบอัตโนมัติ และบริษัทสามารถนำไปใช้ได้ต่อเมื่อนายทะเบียนให้ความเห็นชอบแล้ว สำหรับไฮไลท์ ในการยื่นขอรับความเห็นชอบแบบ ข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัยจะมีความชัดเจนและรวดเร็วยิ่งขึ้น กล่าวคือ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบอัตโนมัติ (File & Use) ใช้เวลาอนุมัติแบบ ไม่เกิน 30 นาที ผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบปกติ (ขอใหม่) ซึ่งเป็นแบบที่ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาอนุมัติแบบ ไม่เกิน 15 วัน (จากเดิมใช้เวลาอนุมัติ 30 วัน) ผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบปกติ (ขอใหม่) ซึ่งเป็นแบบที่มีความซับซ้อน ใช้เวลาอนุมัติไม่เกิน 30 วัน (จากเดิมใช้เวลาอนุมัติ 60 วัน) ผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบปกติ (ขอต่ออายุ) ซึ่งเป็นแบบที่ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาอนุมัติไม่เกิน 7 วัน (จากเดิมใช้เวลาอนุมัติ 15 วัน) ผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบปกติ (ขอต่ออายุ) ซึ่งเป็นแบบที่ซับซ้อน ใช้เวลาอนุมัติไม่เกิน 30 วัน (จากเดิมใช้เวลา 60 วัน) เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่า กระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่จะสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในปีนี้
ประเด็นที่สอง คือ การปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐาน เพื่อให้รองรับกับเทคโนโลยีและวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีแนวปฏิบัติที่เป็นแนวทางเดียวกัน และสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่อง รายการความคุ้มครอง ต้องกำหนดเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์ การบริการทางการแพทย์ฯ รวมทั้ง การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุม จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพ โดยสำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานร่างสัญญามาตรฐาน ประกอบด้วย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย แพทย์ที่ปรึกษา นักวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุม CEO Forum ครั้งที่ผ่านมา (เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562) ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้นำข้อสรุปและประเด็นข้อคิดเห็นมาปรับปรุงและดำเนินการต่อยอดเพื่อให้ร่างสัญญาประกันสุขภาพมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งสาระสำคัญของการปรับปรุง อาทิเช่น ปรับปรุงหมวดรายการผลประโยชน์ความคุ้มครองให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งธุรกิจ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ลดการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ซ้ำซ้อน ประชาชนสามารถเปรียบเทียบผลประโยชน์ความคุ้มครองและเลือกซื้อได้อย่างเหมาะสมตรงตามความต้องการ สำหรับคำนิยาม เงื่อนไข และข้อยกเว้นของสัญญา ได้มีการพิจารณาปรับปรุงให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้การนำไปใช้เป็นแนวทางเดียวกัน เช่น การต่ออายุ (Renewal) การปรับเบี้ยประกันภัย สภาพที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัย (Pre-existing Condition) ระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง (Waiting Period) ตารางผ่าตัด การปรับเพิ่มรายการผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (Day Surgery) เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อให้ระบบการประกันสุขภาพครบถ้วนสมบูรณ์ จึงได้เตรียมการในเรื่องจัดทำฐานข้อมูลประกันสุขภาพที่เป็นมาตรฐาน เพื่อใช้ประโยชน์ในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติ การพัฒนาระบบการประกันสุขภาพ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เอาประกันภัยในการเรียกร้องค่าสินไหมในอนาคตด้วย
“ขั้นตอนหลังจากการประชุมในวันนี้ จะได้รวบรวมทุกความเห็นและข้อเสนอแนะให้คณะทำงานฯนำไปวิเคราะห์ในการปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัย และปรับปรุงแบบสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐาน ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์และดำเนินการไปในแนวทางเดียวกันเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้มีความเข้มแข็ง ก้าวทันตลาด ทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการและถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้ง สะท้อนความเสี่ยง ต้นทุนที่แท้จริง และความพร้อมของบริษัท โดยเป็นการสรรค์สร้างสิ่งที่มีอยู่แล้วให้มีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการพลิกโฉมธุรกิจประกันภัยโดยมีสำนักงาน คปภ. เดินเคียงข้างไปกับธุรกิจประกันภัยเพื่อส่งเสริมความพร้อมของภาคธุรกิจควบคู่กับการดูแลสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้บริการด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย