เห็นชอบ กนอ. ศึกษาแผนถมทะเลจาก 1 พันไร่ เพิ่มเป็น 3 พันไร่ ตั้งโรงงานปิโตรเคมีเอ็กซอน โมบิล พร้อมรองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง คาด 6 เดือนได้ข้อสรุป เมินแรงต้านสมาคมโลกร้อน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ว่า การศึกษาพื้นที่รองรับการลงทุนของกลุ่มเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น ในโครงการปิโตรเคมีส่วนขยายในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง มูลค่าการลงทุน 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังเต็มแล้วและไม่ขยายพื้นที่ไม่ได้
รวมทั้งที่ผ่านมา เอ็มซอนโมบิลฯ เสนอถมทะเลบริเวณที่ติดกับโรงกลั่นน้ำมันเอ็กซอนโมบิล เพราะโรงงานปิโตรเคมีที่จะตั้งใหม่ต้องใช้วัตถุดิบจากโรงกลั่นน้ำมันเอ็กซอนโมบิลเดิม จึงต้องมีพื้นที่ติดกัน
ทั้งนี้ กนอ.มองว่าควรถมทะเล 3,000 ไร่ แบ่งเป็นการตั้งโรงงานปิโตรเคมีของเอ็กซอนโมบิล 1,500 ไร่ และเป็นพื้นที่ให้ กนอ.เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงอีก 1,500 ไร่ ซึ่งได้จ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ความคุ้มค่าการลงทุนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้เวลา 6 เดือน นับจาก เดือน ส.ค.นี้
ชี้เพื่อผลประโยชน์เศรษฐกิจ
นายสุริยะ กล่าวว่า หากผลศึกษาพบว่ามีผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุน กระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยก็ควรเดินหน้าต่อ เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากมูลค่าเศรษฐกิจ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง แต่หากผลศึกษาพบว่าไม่คุ้มค่าต้องยกเลิกโครงการนี้
“ทุกโครงการมีทั้งบวกและลบ แต่หากผลบวกสูงมากและบริหารจัดการให้มีผลกระทบน้อยที่สุดได้ก็ควรเดินหน้าโครงการ โดยการถมทะเลในต่างประเทศมีมานานแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และปัจจุบันเทคโนโลยีการถมทะเลก้าวหน้ามากจึงไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมมากนัก"
ส่วนรูปแบบการถมทะเลมีทั้งให้ กนอ.ถมเองและร่วมลงทุนกับเอกชน ซึ่งกฎหมายระบุชัดว่าต้องให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ถมทะเลเอง ส่วนค่าใช้จ่ายเป็นของภาคเอกชน
ส่วนโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ของ กนอ.ได้ร่างสัญญาและเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ที่ชนะประมูลแล้ว โดยจะส่งสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาภายในวันที่ 2-3 ก.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบ คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ เริ่มก่อสร้างภายในปี 2566 และเปิดบริการภายในปี 2568
เมินเอ็นจีโอต้านถมทะเล
รายงานข่าวจาก กนอ.ระบุว่า วานนี้ (19 ส.ค.) กนอ.ออกหนังสือชี้แจงกรณีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนออกมาคัดค้านกรณีนายสุริยะชี้แจงต่ออุปทูตสหรัฐถึงการสนับสนุนการถมทะเลเพื่อรองรับการลงทุนของเอ็กซอน โมบิล โดย กนอ.ได้ทำตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการลงทุน ในการศึกษาความเหมาะสมด้านเทคนิค และการจัดทำแนวคิดการออกแบบเบื้องต้น ในการพัฒนาพื้นที่บริเวณแหลมฉบังให้รองรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของพื้นที่ ซึ่งจะครอบคลุมถึงปัจจัยผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้และเหมาะสมกับทำเลที่ตั้ง
ยืนยันฟังผลกระทบชุมชน
ทั้งนี้ จะต้องรับฟังความคิดเห็นในการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยต้องให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อประกอบการพิจารณาการวางแผนการดำเนินโครงการอย่างรอบคอบรอบด้าน และตามข้อกำหนดกฎหมายต่างที่เกี่ยวข้อง และต้องเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 ประเภท ในอีอีซี
สำหรับการดำเนินงานจะต้องใช้หลักเกณฑ์การออกแบบและการบริหารจัดการตามแนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมถึงต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไข และมาตรการการติดตามตรวจสอบตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเสนอคณะกรรมการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินโครงการ
หนุนเอสเอ็มอีมีพื้นที่ลงทุน
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการ กนอ.กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มอบหมายให้ กนอ. ไปจัดหาพื้นที่ในนิคมฯให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการใหม่ (สตาร์ทอัพ) เช่าราคาถูก เพื่อช่วยเอสเอ็มอีลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ กนอ.ในอีอีซี ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และแหลงฉบัง ใช้พื้นที่เต็มแล้วและเหลือเพียงนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค พื้นที่ 1,500 ไร่ จะจัดหาพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็สอีที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม จะไปหารือกับนิคมฯของเอกชน ให้ร่วมจัดหาพื้นที่สำหรับเอสเอ็มอี โดยกนอ. จะหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อนำรายได้ของ กนอ. ที่ส่งให้กับกระทรวงการคลังกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี เข้ามาอุดหนุนราคาเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้ามาเช่าพื้นที่ได้ รวมทั้งหารือกับรัฐบาล เพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีในส่วนนี้ ซึ่ง กนอ. จะศึกษาความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก่อน เพื่อหามาตรการสนับสนุนให้ตรงกับความต้องการของเอสเอ็มอีต่อไป
ส่วนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค กนอ.กำหนดให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่รองรับการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว และในขั้นตอนต่อไปจะเสนอต่อ ครม. พิจารณาอนุมัติได้ภายในเดือนก.ย.นี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'สุริยะ' เห็นชอบ กนอ. ศึกษาแผนถมทะเล 3 พันไร่ รับลงทุนเอ็กซอน โมบิล
-เผยสหรัฐสนลงทุนอีอีซี ขอหนุนขยายลงทุนอุตฯปิโตร