ถกแนวทางป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ดิจิทัล
กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือเอกชน หาแนวทางปกป้องการการละเมิดลิขสิทธิ์ดิจิทัล เผยปี 61 มูลค่าตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยสูงถึง 2.6 หมื่นล้านบาท จี้ป้องกันละเมิดลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล หวั่นอนาคตไทยถูกบล๊อคห้ามเผยแพร่
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบายในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เกี่ยวกับดิจิทัลคอนเทนต์ และการปกป้องสิทธิของประกอบธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งการละเมิดลิขสิทธิ์ทางสื่อดิจิทัล โดยเฉพาะการใช้กล่องรับสัญญาณโทรทัศน์โดยผิดกฎหมาย (ISD) ได้สร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจไทยและต่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่คอนเทนต์อย่างถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยหรือบริษัทสตาร์ทอัพที่ไม่สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจหรือขยายโอกาสทางธุรกิจได้เพราะประสบปัญหาจากการละเมิดลิขสิทธิ์ การประชุมประชุมเรื่องการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดิจิทัลคอนเทนต์ ในครั้งนี้เป็นโอกาสให้ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมคอนเทนต์มาร่วมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดฯในปัจจุบันและแนวทางการปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย รวมถึงอภิปรายกลยุทธ์ในการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีประสิทธิภาพของประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
“ในปี 2561 ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยมีมูลค่าประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ในส่วนของกรมได้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งออนไลน์และ ที่ผ่านมาได้เดินหน้าปิดเว็บไซต์ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในอินเทอร์เน็ตไปมากกว่า 1,300 เว็บไซต์ โดยส่งดำเนินคดีทางกฎหมายมากกว่า 200-300 ราย พร้อมยึดหลักทรัพย์มากกว่า 100 ล้านบาท รวมทั้งอยู่ระหว่างตรวจสอบเชิงลึกอย่างใกล้ชิด”
นายจุลทัย ศาลิคุปต ผู้อำนวยการฝ่ายรายการกีฬา บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยมีอยู่มากมาย ตั้งแต่ฟุตบอลโลก รวมถึงฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษที่กำลังมีการถ่ายทอดสดกันอยู่ ซึ่งรูปแบบการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นจะแตกต่างจากในอดีตที่ละเมิดผ่านเคเบิ้ลมาเป็นช่องทางอินเทอร์เน็ต และโมบายแอพพลิเคชั่นทำให้การตรวจจับทำได้ยากยิ่งขึ้น หากประเทศไทยยังคงละเมิดลิขสิทธิ์กันอยู่แบบนี้ ก็จะส่งผลกระทบให้เจ้าของลิขสิทธิ์ระดับโลกฟ้องร้องยุติการส่งสัญญาณการแข่งขันมายังประเทศไทย ทำให้แฟนบอลชาวไทยไม่สามารถติดตามรับชมการแข่งขันได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงคอนเทนต์คุณภาพอื่นๆ จากต่างประเทศอีกด้วย หากคนไทยเข้าใจและเคารพต่อกฎหมายลิขสิทธิ์กันมากขึ้น นอกจากช่วยจะป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์คอนเทนต์ของต่างประเทศแล้วยังสามารถช่วยปกป้องลิขสิทธิ์คอนเทนต์ของไทยได้อีกด้วย พร้อมทั้งยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ของไทยทุกแขนงให้เติบโตเทียบเท่ามาตรฐานสากลได้ต่อไป
นายหลุยส์ บอสเวล ประธานกรรมการของสมาคมอุตสาหกรรมวีดีโอเอเชีย (AVIA) กล่าวว่า การประชุมเรื่องการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์มีการหารือเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ทางดิจิทัลและความเสี่ยงของผู้บริโภค ประสิทธิภาพของมาตรการการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ การใช้เทคโนโลยีในการป้องกันการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา และการทำงานร่วมกันกับตัวกลางเพื่อป้องกันการรับเงินจากรายได้ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งหลายประเทศพยายามหามาตรการมารับมือกับการขโมยคอนเทนต์ ซึ่งมาตรการมีอยู่หลายวิธีและต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นี่เป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่จะได้ปรับใช้มาตรการที่ประสบผลสำเร็จในต่างประเทศให้เหมาะสมกับประเทศไทย เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว
นายนีล เกน ผู้จัดการทั่วไทยของพันธมิตรต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ (CAP) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ AVIA กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขโมยคอนเทนต์ได้สร้างความเสียหายในทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีอีกด้านที่ผู้บริโภคและหน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐอาจมองข้ามคือการละเมิดลิขสิทธิ์ทางดิจิทัลนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อผู้บริโภค ความอยากได้ของฟรีหรือจ่ายค่าสมาชิกราคาถูกเพื่อดูคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์มักทำให้ผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่แท้จริงจากการติดมัลแวร์