'ทุเรียนไทย' ขึ้นแท่นอันดับ 1 ของโลก ทำยอดส่งออกครึ่งปีพุ่งกว่า 800 ล้านดอลล์
"กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ" เผย "เอฟทีเอ" ดันยอดส่งออกทุเรียน ครองแชมป์เบอร์ 1 โลก 6 เดือนแรก ไทยส่งออกทุเรียน กว่า 800 ล้านดอลลาร์ ตลาดจีนโตสูงสุด ขยายตัวถึง 70%
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามผลการส่งออกผลไม้ของไทยไปตลาดโลก พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ทุเรียนยังคงเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด โดยมีสัดส่วนการส่งออกทุเรียนสด คิดเป็น 44 % ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด และมีมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดของไทยสู่ตลาดโลกพุ่งถึง 817 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึง 45 % ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีนและอาเซียน ปัจจุบันไทยครองเป็นแชมป์ผู้ส่งออกทุเรียนได้เป็นอันดับที่ 1 ของโลก นำหน้าฮ่องกงและมาเลเซียกว่าเท่าตัว
นางอรมน กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอมี มีส่วนส่งเสริมให้การส่งออกทุเรียนของไทยเติบโตเพราะช่วยขจัดอุปสรรคภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้า ทำให้ทุเรียนไทยได้แต้มต่อจึงมีโอกาสในการส่งออกและแข่งขันมากขึ้น ปัจจุบันทุเรียนของไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าใน 16 ประเทศคู่ค้าที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย ได้แก่ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ บรูไน อินเดีย ชิลี และเปรู เหลือเพียง 2 ประเทศ คือ มาเลเซียและเกาหลีใต้ ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทย แต่ได้ปรับลดอัตราภาษีลง โดยมาเลเซียเก็บที่ร้อยละ 5 ขณะที่เกาหลีใต้ปรับภาษีนำเข้าลงจาก 45 % เหลือ 36 % ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกปี 2561 และช่วงครึ่งปี 2562 ที่พบว่าทุเรียนเป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการขอใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสูงมากเป็นอันดับต้น โดยเฉพาะในการส่งออกไปจีนและอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย สัดส่วนการส่งออกทุเรียนไปยังสองตลาดนี้ คิดเป็น 79 % ของการส่งออกทุเรียนของไทยทั้งหมด
สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ไทยส่งทุเรียนไปจีนแล้วถึง 425 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึง 70 % ส่วนตลาดอาเซียน ไทยส่งออกทุเรียนมูลค่า 219 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 19 % จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกทุเรียนของไทยในปี 2561 พบว่า การส่งออกทุเรียนไปจีน เพิ่มขึ้นถึง 41,840 % เมื่อเทียบกับปี 2545 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่จีนยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ส่วนตลาดอาเซียนอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้น 8,416 % เมื่อเทียบกับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่อาเซียนจะลดภาษีนำเข้าทุเรียนภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน
“ สินค้าทุเรียนของไทยครองความเป็นหนึ่งในตลาดอย่างยั่งยืน เกษตรกรและผู้ประกอบการควรรักษามาตรฐานสินค้าและพัฒนาคุณภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเพาะปลูก การบรรจุหีบห่อ และมีใบรับรองสุขอนามัยพืช รวมทั้งควรลดการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงเนื่องจากปัจจุบันตลาดในหลายประเทศมีความเข้มงวด ประกอบกับผู้บริโภคนิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น” นางอรมน กล่าว