ลุ้นครม.ชี้ขาดสัมปทาน ทางด่วน-รถไฟฟ้า ซัด กมธ.รายงานผลขยาย ทางด่วน-รถไฟฟ้า สุดเละเทะ วัดใจครม.ชี้ขาด
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ได้เสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ท่ามกลางข้อสงสัยของ ส.ส. ทั้งพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนได้ส่วนเสียของกรรมาธิการที่ร่วมพิจารณาหรือไม่
แม้ว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติตามรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ที่เสนอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. ขยายอายุสัมปทานทางด่วน 3 โครงการให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือบีอีเอ็ม โครงการละ 30 ปี และไม่เห็นด้วยกรณีที่กรุงเทพมหานคร หรือ กทม. จะขยายอายุสัมปทานให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นเวลา 30 ปี
ซึ่งในเรื่องแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฏร เห็นด้วยกับเสียงข้างมาก การต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เพื่อยุติข้อพิพาทที่มีการประมูล 1.37 แสนล้าน ที่กทพ.ต้องจ่ายให้กับเอกชน
และรายงานการพิจารณาของกรรมาธิการ ที่มีบรรยากาศการพิจารณารายงาน สุดดุเดือด มีการทักท้วงการจัดทำรายงาน ของส.ส.จากแต่ละพรรค ทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะที่นายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปราย เหน็บแรงๆว่า ปมมีข่าวลือว่า กรรมาธิการบางคน มีส่วนได้ส่วนเสียกับการต่ออายุสัญญาสัมปทาน ถึงขั้นที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย หนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญฯ ต้องออกตัวชี้แจงหลายรอบว่ากรรมาธิการทำงานตรงไปตรงมา ไม่มีใครรับเงินพร้อมยืนยันว่าหวังดีต่อประเทศชาติ
ขณะที่ส.ส.บางส่วนเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯทบทวนรายงานผลการศึกษาดังกล่าว โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีความขัดแย้ง ไม่เป็นเอกภาพ จึงอาจมีปัญหาในการให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติ และยังไม่ได้บอกสิ่งที่สังคมอยากรู้ โดยเฉพาะบุคคลที่กระทำผิดรวมทั้งยังลงมติเป็นรายบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การทำรายงานที่นำไปใช้อ้างอิงใดๆ ไม่ได้ จึงควรกลับไปทบทวน
ส.ส.ซัดกมธ.ลงมติรายบุคคลไม่เคยเห็นมาก่อน ทำรายงานเละเทะ
ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นความเห็นรายบุคคล ซึ่งไม่เคยเห็นการจัดทำรายงานในลักษณะที่คณะกรรมาธิการฯลงมติ หรือให้ความเห็นเป็นรายบุคคลมาก่อน จึงควรนำไปทบทวนให้ตรงกับรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาฯ
ส่วนนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย บอกว่า ผิดหวังที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ทำรายงานออกมาเละเทะ และขอให้รับผิดชอบในผลที่จะเกิดขึ้น หากมีการนำรายงานดังกล่าวไปร้องต่อศาลว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์ หรือรับเงินรับทอง
แม้ว่ากระบวนการของสภาฯจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ผู้ที่จะชี้ขาดว่าจะต่อหรือไม่ต่ออายุสัญญาสัมปทานคือคณะรัฐมนตรี โดยในส่วนของทางด่วน หน่วยงานต้นสังกัดคือกระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะชี้ขาดเรื่องนี้อย่างไร เพื่อให้ภาครัฐได้รับประโยชน์สูงสุด และประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางน้อยที่สุด
ขอบคุณภาพ รายการข่าวข้น คนเนชั่น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'หมอระวี' แจงแค่ผลศึกษากมธ.ปมต่อสัมปทาน 'BEM-BTS'
-'กมธ.' 21เสียงหนุนขยายสัมปทาน 'บีอีเอ็ม' 30 ปี
-'บีทีเอส' หวังรัฐบาล เคาะต่อสัมปทาน ยันช่วยลดภาระ กทม.
-'กมธ.ทางด่วน-บีทีเอส' เสนอรายงานแล้ว พบหนุนต่อสัมปทานทางด่วน-ค้านต่อสัญญาบีทีเอส