ภาคธุรกิจเชื่อมท้องถิ่น หัวใจขับเคลื่อน'อีอีซี'
การประชุมประจำปี 2562 พัฒนาพื้นที่ไทย : เชื่อมไทยก้าวไกลเชื่อมโลก ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ในการเสวนากลุ่มย่อยระดมความเห็นเรื่อง “การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ : ความร่วมมือทุกภาคส่วนและการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม” มีการแลกเปลี่ยนความเห็นถึงการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า อีอีซีจะเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีกฎหมาย องค์กรดําเนินการ และมีภารกิจชัดเจนในการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเน้นนําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างรายได้และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
รวมทั้งดำเนินการเชิงรุกแบบบูรณาการอย่างเบ็ดเสร็จ ครบวงจร ภายใต้กรอบเวลา โดยความรวมมืออย่างใกล้ชิดระหว่าง ภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและ ส่วนท้องถิ่น โดยคํานึงถึงประโยชน์ประเทศและประชาชนในพื้นที่ร่วมผลักดัน
ทั้งนี้ การพัฒนาอีอีซีให้เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศ จะผลักดันโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพและประชาชนเข้าถึงได้สะดวก รวมทั้งกําหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ โดยสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน พัฒนาเมืองใหม่ที่มีความทันสมัยระดับนานาชาติ ที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยอย่างสะดวก ปลอดภัยและส่งเสริมการประกอบกจิการอย่างมีประสิทธิภาพ
นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวในการเสวนาว่า การพัฒนาพื้นที่เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อแก้ปัญหาความล้มเหลวของระบบบริหารงานผ่านกระทรวงแบบเดิม โดยได้พยายามเริ่มมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2525 ไปจนถึงการพัฒนาอิสเทิร์นซีบอร์ดและการพัฒนากรุงเทพมหานคร และถึงปี 2545 ได้ปฏิรูปมีโครงการผู้ว่าฯซีอีโอ แต่เดินหน้าได้น้อยเพราะกระทรวงต่างๆ ไม่มอบอำนาจให้ท้องถิ่น
การพัฒนาเชิงพื้นที่มี 3 รูปแบบ คือ 1.การพัฒนาเชิงพื้นที่ที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะว่าต้องการอะไรเป็นนโยบายรัฐบาล เช่น แหลมฉบัง มาบตาพุด อีอีซี เป็นการพัฒนาบนพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ
2.การพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นการออกแบบการพัฒนาตามนโยบายของรัฐ โดยหัวใจ คือ การเก็บข้อมูล และเป็นข้อมูลที่มีวิญญาณนำเอาไปใช้ได้จริง ทำให้คนมีสำนึกร่วมกันว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ทำให้เกิดความรู้สึกการเป็นเจ้าของให้พื้นที่เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง เกิดประโยชน์ร่วมกันเป็นการแก้ปัญหาระบบราชการแบบเดิม รวมทั้งการทำให้ระบบอ่อนตัวในการบริหาร
3.การพัฒนาพื้นที่ที่ปล่อยให้เขาคิดแก้ปัญหาเอง ให้ไปจัดการเองในพื้นที่แล้วเสนอแนวทางแก้ปัญหา ผู้ว่าราชการจังหวัดนั่งหัวโต๊ะให้ทุกฝ่ายมาระดมความคิดแก้ปัญหา เป็นแบบที่เราไม่ค่อยกล้าทำ
สำหรับจุดสำคัญการจัดการเชิงพื้นที่มี 4 ข้อ คือ 1.ทำอย่างไรในการสร้างความเป็นเจ้าของ การพัฒนาพื้นที่ต้องเป็นไปตามคำสอนรัชกาลที่ 9 คือการระเบิดจากข้างในตามภูมิสังคม 2.ต้องให้เขามีอิสระพอสมควรในการให้ชุมชนได้คิดทำอะไร คนที่อยากได้งานเร็วมักปฏิเสธการมีส่วนร่วมเพราะต้องแลกด้วยเวลา แต่การมีส่วนร่วมเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดความยั่งยืน
3.ต้องเพิ่มบทบาทให้กับท้องถิ่นอีซีซี ต้องเชิญท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมให้มาก 4.ให้ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทร่วมกับท้องถิ่นอีอีซี มีความสำเร็จระหว่างการเชื่อมโยงธุรกิจกับธุรกิจ แต่ความสำพันธ์ระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่กับธุรกิจชุมชน และท้องถิ่นยังไม่ค่อยมี
นอกจากนี้ ต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่ามีทั้งทั้งโอกาสและภาระ มีโอกาสท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น มีงาน มีอาชีพที่ดี ต้องเตรียมจัดการภาระ ผู้ที่จัดการภาระได้ดีที่สุด คือ ท้องถิ่น
รวมทั้งจะต้องแบ่งสัดส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับท้องถิ่นมากขึ้น เช่น ระยองหาภาษีได้เยอะแต่ได้ส่วนแบ่งเท่าเดิม คือ ได้รับ10% ของภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เหลือให้รัฐบาลกลางจัดสรรให้กับจังหวัดขนาดเล็กอื่นๆทั่วประเทศ ซึ่งควรจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% หรือ 50%
“อีอีซีจะมีโรงงานและธุรกิจเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งจะมีทั้งประโยชน์ที่ได้เชิงเศรษฐกิจ มีโอกาส และมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าจะเกิดปัญหาตามมาทั้งความแออัด สิ่งแวดล้อม และด้านอื่นอีกมาก"
ดังนั้น อีอีซี จะต้องสื่อสารให้ชาวบ้านได้เขาใจอย่างลึกซึ้งทั้ง 2 ด้าน เพื่อให้ท้องถิ่นเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ยังมีโอกาสที่เกิดช่องว่างการเข้าถึงของคน ทั้งเชิงปัจเจกและกลุ่มคน อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงโอกาส เกิดช่องว่างระหว่างรายย่อยกับทุนใหญ่ พัฒนาพื้นที่แล้วต้องทำให้เจ้าของกิจการในพื้นที่ต้องเข้มแข็งขึ้นและมีที่ยืน ถ้าเราทำไม่ได้จะเกิดปัญหาตามมาอีกมาก
“อีอีซีต้องสร้างความเป็นเจ้าของให้กับชุมชน รวมทั้งต้องให้ชุมชนได้เห็นผลประโยชน์ที่จะได้รับจากอีอีซี แสดงภาพให้เห็นการเปลี่ยนแปลงก่อนมีอีอีซีและหลังมีอีอีซี เมื่อคนในพื้นที่รู้ว่าจะได้ประโยชน์อะไร การต่อต้านจะน้อยลง”
นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวว่า การพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน คนในพื่นที่ต้องเข้าใจ และเห็นด้วยกับโครงการพัฒนา ต้องเป็นเป้าหมายในอนาคตที่ชัดเจน เช่น ในอีก 10 ปี ท้องถิ่นจะเป็นอย่างไร และประเทศชาติจะเป็นอย่างไร โดยรัฐบาลจะต้องพัฒนาโครงการอีอีซี ให้กระจาบรายได้และโอกาสให้กับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่กระจุกตัวแต่เพียงคนบางกลุ่มใน 3 จังหวัด
การพัฒนาอีอีซีนั้น ภาครัฐควรจะเร่งดำเนินการ 5 ข้อ ได้แก่ 1.กระจายอำนาจให้มากที่สุด 2.แสวงหารูปแบบใหม่ที่เหมาะสมในการบริหารจัดการในแต่ละพันธกิจ 3.แก้ไข และปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ กฎกระทรวง ให้ยืดหยุ่นและรองรับรูปแบบใหม่ 4.พัฒนาระบบการตรวจสอบที่สร้างสรรค์ต่อการพัฒนาประเทศ 5.สร้างโอกาส สร้างช่องทางให้ประชาชน เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ได้ประกอบอาชีพและสร้างธุรกิจอย่างต่อเนื่อง