ปิดฉาก178 ปี ‘โทมัส คุก’ พ่นพิษโรงแรมไทย!
ปิดตำนานบริษัททัวร์เก่าแก่ที่สุดในโลก สำหรับ “โทมัส คุก” (Thomas Cook) ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีอายุถึง 178 ปี พลันที่ประกาศ “ล้มละลาย” เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา
หลังคว้าน้ำเหลวในการทำข้อตกลงกอบกู้กิจการกับเจ้าหนี้และหุ้นส่วนใหญ่ คาดส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารทั่วโลกกว่า 6 แสนคน โดยหนึ่งในจุดหมายที่โดนหางเลขไปด้วยคือประเทศไทย!
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ขณะนี้ ททท.อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบและความเสียหายที่มีต่อภาคท่องเที่ยวไทยจากกรณีโทมัส คุก ประเทศอังกฤษล้มละลาย โดยในวันที่ 26 ก.ย.นี้ ททท.จะประชุมกับซัพพลายเออร์ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับแนวทางการรับมือ เช่น บริษัท เอเชียน เทรลส์ ซึ่งเป็น Destination Management Company หรือ DMC หลักของโทมัส คุก และผู้ประกอบการโรงแรมต่างๆ อาทิ อนันตรา ดุสิตธานี และมันดารา ขณะที่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ให้แนวคิดว่า เป็นไปได้หรือไม่หากจะตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ
“ก่อนเกิดกรณีนี้ ททท.มองตลาดอังกฤษเที่ยวไทยปีนี้เติบโตขึ้นจากปีที่แล้ว จึงขอบวกเป้าหมายนักท่องเที่ยวอังกฤษเพิ่มอีก 5 หมื่นคน จากเป้าเดิมกว่า 9 แสนคน ให้มียอดใกล้เคียง 1 ล้านคน แต่พอเกิดเหตุ จำเป็นต้องทบทวนการเพิ่มเป้าอีกครั้ง” ยุทธศักดิ์ เผย
ขณะที่ ศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ททท. เห็นว่า กรณีนี้ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวอังกฤษมาไทยแน่นอน แต่จะแตกต่างจากนักท่องเที่ยวอังกฤษที่ไปตุรกีและอียิปต์ซึ่งไม่มีเที่ยวบินกลับประเทศ เพราะใช้บริการสายการบิน Condor ของโทมัส คุกที่ไปส่งลูกค้าแล้วไม่รับกลับ ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องหาทางช่วยนำกลับ
ขณะที่นักท่องเที่ยวอังกฤษมาไทยซึ่งแต่ละปีทางโทมัส คุกจองโรงแรมในไทยปีละ 2.7 หมื่นคืน จะใช้บริการของสายการบินทั่วไป และเป็นตั๋วแบบไป-กลับ
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจึงเป็น “โรงแรม” ที่รับลูกค้าของโทมัส คุกเข้าพักแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน เพราะมีข้อตกลงจ่ายภายใน 30 วัน แต่พอบริษัทโทมัส คุกประกาศล้มละลาย ททท.จึงได้รับรายงานว่าโรงแรมหลายแห่งใน จ.พังงา ได้รับความเสียหายไปแห่งละ 7-8 แสนบาท ส่วนลูกค้าที่อยู่ระหว่างเข้าพัก คงต้องให้เป็นดุลยพินิจของโรงแรมว่าจะดำเนินการอย่างไร
ทั้งนี้ ได้ประสานให้สมาคมโรงแรมไทยรวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงแรมต่างๆ มายัง ททท. เพื่อนำไปหารือกับสถานทูตอังกฤษและองค์กรของรัฐบาลอังกฤษ เช่น สำนักงานบริหารหนี้ของอังกฤษ เพื่อติดตามหนี้สิน ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าต้องใช้เวลา 3-5 ปี หรือนานกว่านั้น แต่อย่างน้อยก็จะได้มีหลักฐานแสดงว่าเป็นหนี้สูญในการยื่นภาษีว่าโรงแรมนั้นๆ ได้รับความเสียหายจริง
ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) บอกว่า จากการประเมินเบื้องต้น โรงแรมในสมุยและภูเก็ตได้รับผลกระทบ แต่ไม่มาก ส่วนกรุงเทพฯและในภาคเหนือได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากช่วงนี้ท่องเที่ยวไทยอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวหรือโลว์ซีซั่น
ด้าน วิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) มองว่า จากกรณีนี้ทำให้บริษัททัวร์ต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวให้ทันโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเพราะเทคโนโลยี เมื่อการซื้อแพ็คเกจท่องเที่ยวผ่านบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) มาแรง สร้างการแข่งขันรุนแรงแก่บริษัททัวร์ ที่สำคัญต้องเปลี่ยนให้ถูกทิศ ถึงจะเติบโตอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม โทมัส คุก ประเทศอังกฤษเองก็เจอปัจจัยลบหลายอย่าง ไม่ได้มีแค่การแข่งขันรุนแรงจาก OTA และสายการบินต้นทุนต่ำ ทำให้ลูกค้าไหลไปจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังเผชิญจังหวะเงินปอนด์อ่อนค่า และความไม่แน่นอนของเบร็กซิท เมื่อลูกค้าหายไป ในภาวะที่ “ต้นทุนค่าใช้จ่าย” ยังเท่าเดิม ก็อยู่ไม่ได้
นับเป็น “บทเรียน” ของบริษัททัวร์ในไทยให้เร่งปรับตัวพร้อม “รีดไขมัน” ขององค์กร เพื่อให้อยู่รอดอย่างแข็งแรง ด้วยการใช้เทคโนโลยีให้มากที่สุด ใช้คนให้น้อยที่สุด เพื่อรับใช้ตลาดออนไลน์ให้มากที่สุด!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'โทมัส คุก' ล้มละลายคาดกระทบนักท่องเที่ยว 6 แสนคนทั่วโลก
-ปิดฉาก'โทมัส คุก'บ.ท่องเที่ยว178ปีอังกฤษ
-รัฐบาลอังกฤษช่วยเหยื่อ“โทมัส คุก”ล้มละลาย