ธนาคารปู:ตำราอนุรักษ์ ฉบับชาวบ้าน
“ธนาคารปูบ้าน” ต.เกาะเพชร ต้นทางตำราการอนรักษ์ฉบับชาวบ้าน ที่สามารถฟื้นท้องทะเลร้าง ให้กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้แก่ชาวประมงกว่า 2,500 บาทต่อวัน
วิรชัช เจะเหล็ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเกาะเพชร ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ในอดีตช่วงปี 2535 - 41 อ่าวหัวไทรมีปูจำนวนมาก แต่ในเวลาไม่กี่ปีทะเลบริเวณนี้ร้างไปเลย เพราะชาวประมงใช้เครื่องมือที่จับที่รุนแรงเพื่อจับปูได้ครั้งละมากๆ
ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งกับสิ่งแวดล้อมและรายได้ของครัวเรือน เนื่องจากการสร้างไม่ทันของธรรมชาติ จึงคิดที่จะฟื้นฟูสภาพของอ่าวในปี 2545 โดยเริ่มตั้งกลุ่มเพื่อศึกษาสภาพแวดล้อม และวิธีการจากชุมชนอื่นๆ แต่ไม่สามารถนำมาปรับใช้ที่หัวไทรได้ ส่วนหนึ่งเพราะภูมิประเทศที่ไม่เหมือนกัน
จนกระทั่งในปี 2552 ทุกคนลงความเห็นว่าต้องสร้างธนาคารสัตว์น้ำ หรือธนาคารปูขึ้นมา จึงระดมเงินจากผู้ที่เห็นด้วยมาดำเนินการ ครั้งแรกได้ 350 บาท ซึ่งใช้หมดไปกับค่าน้ำมันรถเพื่อตัดไม้ไผ่มาทำกระชังปู เลี้ยงและเพาะลูกปู
ทั้งนี้กฎของธนาคารปูที่หัวไทรมีอยู่ว่า เมื่อจับปูไข่ได้จะต้องนำมาอนุบาลเพาะฟัก จนลูกปูแข็งแรงพร้อมที่จะคืนสู่ธรรมชาติ ทางธนาคารจะนำไปปล่อยสู่ธรรมชาติในจุดที่คิดว่าจะทำให้ลูกปูมีอัตรารอด ซึ่งปู 1 ตัวจะวางไข่ได้ครั้งและ 2 แสนฟอง ในจำนวนนี้ตั้งเป้าอัตรารอดไว้เพียง 100 ตัวเท่านั้นซึ่งต่ำกว่าธรรมชาติมาก โดยธนาคารจะนำปูไปปล่อยทุกวันเพื่อให้ครบ 350 ตัวต่อเดือนเป็นอย่างต่ำ
การดำเนินการดังกล่าว ได้ผล อีก 3-4 เดือนต่อมา จะพบลูกปูตัวเล็กๆ เดินตามชายหาด รวมทั้งเป็นที่สนใจต่อสาธารณะ ทำให้ชุมชนมีกำลังใจ ธนาคารปู และสัตว์น้ำเริ่มเห็นภาพมากขึ้นในระยะเวลา เพียง 1 ปี
จากนั้นรัฐบาลจึงเข้ามาสนับสนุนในช่วง 2-3 ปีหลัง และเริ่มเห็นผลทางด้านเศรษฐกิจเมื่อดำเนินงานไปแล้ว 3-5 ปี ปูม้าในอ่าวหัวไทรเริ่มกลับเข้ามา และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบอย่างที่ผ่านมาชาวบ้านเริ่มกำหนดเครื่องมือที่เหมาะสม ชุมชนอื่นๆเริ่มคล้อยตามจนถึงปัจจุบันการอนุรักษ์ปูได้รับความเห็นชอบทั้งอำเภอ แล้ว
“ช่วงวิกฤตินั้น ชาวบ้านขาดทั้งรายได้ และเกิดการทะเลาะเบาะแว้งเพราะต้องออกไปจับปูบริเวณอื่นที่ไม่ใช่เขตหน้าบ้านตนเอง และบริเวณเหล่านั้นก็มีปัญหาเช่นกัน เหตุการณ์ทั้งหมดทำให้ทุกคนหันมาตระหนักว่าต้องเริ่มฟื้นฟู ทำให้สังคมได้เห็นว่าที่ผ่านมาทะเลโดนทำร้าย ต้องทำเพื่อตอบแทนเพราะทะเลเป็นที่ที่หล่อเลี้ยงมวลมนุษย์”
ปัจจุบัน จ.นครศรีธรรมราช กลายเป็นแหล่งทำรายได้ด้านสัตว์น้ำต้นๆของประเทศ จากที่ปูไม่เคยล้นตลาด แต่ 2 ปีที่ผ่านมาราคาปูเริ่มปรับตัวลดลง จาก ขนาด 7 ตัวต่อกก. ราคา 280 บาท เหลือ 170 บาท แต่ชาวบ้านอยู่ได้ เพราะที่หายไปคือการขาดทุนกำไรเท่านั้น โดยมีทำรายได้เฉลี่ย 2,500 บาทต่อรายต่อวัน และกล่าวได้ว่า ที่ ต.เกาะเพชร นี้ไม่มีเครื่องมือผิดกฎหมาย หรือไอยูยู อยู่เลย 100 % รวมทั้งได้กำหนดระเบียบห้ามจับสัตว์น้ำในระยะ 4 กิโลเมตรจากฝั่งด้วย เพื่อใช้เป็นเขตอนุรักษ์พ่อ แม่พันธุ์ แต่ทั้งนี้ไม่ได้ปิดกั้นเรือประมงของชุมชนอื่นเข้ามาจับ
ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ออกแบบการนำพลังงานหมุนเวียนทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์และจากพลังงานลมมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี Internet of Things (IoTs) เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าให้แก่การทำกิจกรรมอนุรักษ์ เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองและต่อยอดได้
“สิ่งที่อยากได้ตอนนี้คือการสนับสนุนด้านการแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าให้มากขึ้นจากปัจจุบันที่การจำหน่ายปูจะมีพ่อค้ามารับถึงที่ อีกยังมีสัตว์น้ำชนิดอื่นที่สามารถจับได้และคิดว่าน่าจะเป็นอีกช่องทางที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุน และต่อยอดธนาคารหมึกด้วยเพราะขณะนี้เริ่มหายากแล้ว “