ลุยต่อแหล่งพลังงาน“เจดีเอ”
ครม.อนุมัติ 4.7 ล้านดอลลาร์ หนุนดำเนินการพื้นที่ร่วมองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย พร้อมแผนการดำเนินการปี 63 โดยให้ใช้เงินจากปิโตรเลียมที่เป็นกำไรในไตรมาสสุดท้ายเป็นค่าใช้จ่าย พร้อมอนุมัติแผนการดำเนินงานในปี 2563 รักษากำลังการผลิต และทดลองหลุมผลิตในอนาคต
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ งบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปี 2563 ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย(Joint Development Area : JDA)ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดย ครม.อนุมัติงวงเงินในการดำเนินการปี 2563 ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซียวงเงิน 4,791,700 ดอลลาร์ หรือประมาณ 146 ล้านบาท เพื่อให้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินทุน โดยขอใช้เงินจากปิโตรเลียมที่เป็นกำไรในไตรมาสสุดท้ายและงบประมาณเหลือจ่ายของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานรายงานว่าการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวเป็นไปตามความตกลงว่าด้วยธรรมนูญและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ฉบับลงนามเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2533 และตามพรบ.องค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย พ.ศ. 2533 ซึ่งประเทศไทยและมาเลเซียได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นซึ่งเป็นพื้นที่ใต้ทะเลบริเวณไหล่ทวีประหว่างประเทศไทยและมาเลเซียในบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง (ประมาณ 260 กิโลเมตรจากจังหวัดสงขลา) ซึ่งทั้งสองประเทศต่างอ้างสิทธิ์เหลื่อมล้ำกัน มีเนื้อที่ประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร โดยแบ่งพื้นที่สำรวจเป็น 2 พื้นที่ คือ แปลง A-18 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางกิโลเมตร และแปลง B-17 และ C-19 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 4,250 ตารางกิโลเมตร และมีสำนักงานใหญ่ขององค์กรร่วมฯ อยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและผลประโยชน์ที่องค์กรร่วมฯ ได้รับจากกิจกรรมที่ดำเนินไปในพื้นที่พัฒนาร่วม รัฐบาลทั้งสองประเทศจะร่วมรับผิดชอบและแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับงบประมาณที่มีการจัดสรรในปี 2563 จำนวน 4,791,700 ดอลลาร์ มีรายละเอียดคือ 1.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 4.68 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 205,000 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4.6% ค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน 111,700 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.1% โดยรวมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นรวม 209,400 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4.6%
นอกจากนี้ในส่วนของแผนการดำเนินงานขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ในปี 2563 ประกอบไปด้วย การดำเนินการด้านการประเมินผล ด้านการพัฒนาปิโตรเลียม และด้านการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย 1.แปลงA18 ซึ่งมีการบริษัทผู้ดำเนินการคือบริษัท Caragali Hess Operating Company Sdh.Bhd.จะมีการดำเนินการเจาะหลุมผลิตปิโตรเลียมที่แท่นหลุมผลิตต่อเนื่องจากปี 2562 การดำเนินการขยายและขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว และการปรับปรุงท่อปิโตรเลียมและแท่นผลิต
2.แปลง B-17 และ C-19 และแปลงB17-01 Carigali – PTTEPI Operating Company Sdh.Bhd. จะมีการดำเนินการเจาะหลุมพัฒนาปิโตเลียม 8 หลุม การรักษาระดับการผลิตก๊าซ การดำเนินการขายและขนถ่ายก๊าซปิโตเลียมเหลว การดำเนินการบริหารจัดการแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม และศึกษาและปรับปรุงข้อมูลแหล่งปิโตรเลียมเพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจเจาะหลุมและประเมินผลสำรวจในอนาคต รวมทั้งการปรับปรุงแบบจำลองโครงสร้างการกักเก็บ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ไทย-มาเลเซีย หนุนจ้างงาน 5 หมื่นตำแหน่ง
-'พาณิชย์' เร่งแก้ปัญหาการค้าชายแดนไทย-มาเลย์
-อสังหาฯมาเลย์-ไทยส้มหล่นจากเหตุประท้วงฮ่องกง
-แบงก์ชาติมาเลย์เตือนความเสี่ยงศก.ขาลง