'กรมเจ้าท่า' ระดมฟังความเห็น ถมทะเลแหลมฉบัง
การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการประมูลและมีผู้ยื่นซอง 2 ราย คือ 1.กิจการร่วมค้าจีพีซี 2.กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ประเมินว่าจะให้บริการได้ภายในปี 2568
นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าเตรียมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียของหน่วยงานอนุญาต โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 โดยกรมเจ้าท่า ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ถือเป็นการเปิดเวทีรับฟังความเห็นตามกฎหมาย เพราะกรมเจ้าท่าถือเป็นหน่วยงานที่จะต้องออกใบอนุญาตโครงการดังกล่าว จึงต้องเปิดรับฟังความเห็นเพื่อแนบข้อมูลเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาพร้อมกับรายละเอียดโครงการของ กทท.
“ประเด็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลที่คล้ายคลึงกับที่ปรึกษาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ได้เปิดรับฟังไปก่อนหน้านี้ เช่น ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผลกระทบจากการถมทะเลเพื่อสร้างโครงการดังกล่าว ซึ่งการเปิดเวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้ กรมเจ้าท่าจะดำเนินการสอบถามไปยังภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง”
รายงานข่าวจากกรมเจ้าท่า ระบุว่า โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บริเวณชายฝงทะเลภาคตะวันออก หางจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 120 กิโลเมตร และหางจากพัทยา 15 กิโลเมตร โดย กทท.ได้พิจารณาขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง โดยจะก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวก โครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังที่จะเชื่อมต่อภายนอกให้เพียงพอ
รวมทั้งให้มีความพร้อมรองรับกับการขยายตัวของปริมาณเรือ ซึ่งไม่ให้มีปัญหาความแออัดและก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวม และส่งผลกระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นอกจากนี้ การแข่งขันในธุรกิจท่าเรือและการขนส่งทางทะเลของโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยการพัฒนาขนาดเรือสินค้ามีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ลดต้นทุนการขนส่ง ในขณะที่ท่าเรือจะมุ่งใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการขนถ่ายสินค้าและตู้สินค้า และการให้บริการที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อดึงดูดให้เรือสินค้าขนาดใหญ่เลือกใช้เป็นจุดจอดเรือ
สายเดินเรือชั้นนำมีแนวโน้มใช้เรือแม่ขนาดใหญ่ระดับ Super Post-Panamax หรือใหญ่กว่านั้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการใช้เรือสินค้าขนาด Panamax วิ่งรวบรวมและลำเลียงตู้สินค้าลักษณะเรือ Feeder เพื่อขนส่งมาเรือแม่ขนาดใหญ่แทน ซึ่งการพัฒนาท่าเรือต้องคำนึงการออกแบบท่าเรือระหว่างประเทศที่รองรับความต้องการที่จะเกิดขึ้น
สำหรับองค์ประกอบของท่าเรือ แบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ท่าเรือและพื้นที่หลังท่า โดยพื้นที่ท่าเรือประกอบด้วยท่าเรือขนส่งตู้สินค้า 4 ท่า คือ E1 E2 F1 และ F2 ท่าเรือขนส่งรถยนต์ E0 ท่าเรือชายฝั่ง และท่าเรือบริการ
ส่วนพื้นที่หลังท่า (ที่ต้องถมทะเล) เป็นพื้นที่ติดท่าเรือและอยู่หลังท่าเรือ จะใช้เป็นพื้นที่กองตู้สินค้าติดกับท่าเรือขนส่งตู้สินค้าและท่าเรือชายฝั่ง พื้นที่จอดรถอยู่ติดกับท่าเรือขนส่งรถยนต์ พื้นที่ตั้งอาคารสำนักงาน พื้นที่สำหรับระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน ทางรถไฟ
นอกจากนี้ พื้นที่การพัฒนาในอนาคต ซึ่งการก่อสร้างโครงการจะดำเนินการในส่วนของการก่อสร้างพื้นที่หลังท่า (ถมทะเล) ท่าเรือชายฝั่งและท่าเรือบริการ อาคารสำนักงาน และระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งบ่อตะกอนสำหรับทิ้งตะกอนดินจากการขุดลอกร่องน้ำทั้งช่วงก่อสร้างและช่วงขุดลอกร่องน้ำ เพื่อดูแลรักษาในระยะดำเนินการท่าเรือทั้ง 3 ขั้น ส่วนการก่อสร้างท่าเรือและรูปแบบของท่าเรืออยู่ในความรับผิดชอบของผู้เช่าพื้นที่โครงการในอนาคต
องค์ประกอบของโครงสร้างเขื่อนกันคลื่นจะเป็นหินทั้งหมด ซึ่งลำเลียงจากพื้นที่ภายนอกท่าเรือแหลมฉบัง จากแหล่งวัสดุก่อสร้างบริเวณ อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยการขนหินใช้รถพ่วง 6 เพลา 22 ล้อ รับน้ำหนักไม่เกิน 50.5 ตัน คิดน้ำหนักหิน 1.5 ตัน
“เขื่อนล้อมพื้นที่ถม” เป็นโครงสร้างคันล้อมรอบพื้นที่ที่ต้องการถมทะเลเพื่อก่อสร้างท่าเรือ อีกทั้งยังใช้เป็นโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะตลิ่งจากคลื่น เพราะจากระดับน้ำบริเวณก่อสร้างท่าเรือมีความลึกแตกต่างกันค่อนข้างมาก มีความลึกตั้งแต่ -1.0 ถึง -14.0 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง
รวมทั้งการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เรือที่ใช้ขนวัสดุก่อสร้างจะเดินเรืออยู่เฉพาะบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ส่วนระยะดำเนินการ ร่องน้ำเดินเรือของท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1-2 และโครงการขั้นที่ 3 มีร่องน้ำเข้า-ออกท่าเรือแยกกันชัดเจนจึงไม่กระทบการเดินเรือในพื้นที่
กิจกรรมการก่อสร้างโครงการมีกิจกรรมหลัก คือ การขุดลอกและถมทะเล ในขั้นตอนการขุดลอกใช้เรือขุดแบบ Cutter Suction Dredger โดยใช้เรือขุดขนาดกำลังขุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ขนาดท่อดูดและท่อส่งทราย เท่ากับ 35.43 นิ้ว เป็นท่อเหล็กหุ้มด้วย Floating Pipe เพื่อให้ท่อลอยน้ำได้
สำหรับการถมทะเลต้องสร้างพื้นที่ปิดล้อมในบริเวณที่จะถมทะเลก่อน โดยพื้นที่ปิดล้อม คือ การสร้างเขื่อนล้อมพื้นที่ถม (Revetment) โครงสร้างของเขื่อนล้อมพื้นที่ถมส่วนหนึ่งใช้ทรายเป็นแกนกลาง แต่วัสดุที่ได้จากการขุดลอกด้วยเรือขุดแบบ Cutter Suction Dredger นั้น มีทั้งทรายและตะกอนดินผสมจึงนำมาสร้างเขื่อนล้อมพื้นที่ถมไม่ได้ทันที
ดังนั้น ต้องถูกส่งไปพื้นที่คัดแยกทรายออกจากตะกอนดินก่อน คือ พื้นที่ Stock Area โดยโครงการได้กำหนดให้มีพื้นที่ Stock Area ในบริเวณบ่อตะกอนเดิมของท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 หลังจากที่แยกทรายออกจากตะกอนดินแล้ว จะลำเลียงทรายไปทำชั้นแกนกลางของเขื่อนล้อมพื้นที่ถม จนกว่าจะสร้างเขื่อนล้อมพื้นที่ถมเสร็จ จึงหยุดการสูบส่งวัสดุที่ได้จากการขุดลอกไปยังพื้นที่ Stock Area โดยพื้นที่ Stock Area จะดำเนินการอยู่ในบริเวณเดิมไม่มีการเคลื่อนย้ายไปที่อื่น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ศักยภาพท่าเรือแหลมฉบัง
-'อธิรัฐ' ดันการท่าเรือฯ เดินหน้าประมูลแหลมฉบัง 3
-ชี้กลุ่มเอ็นพีซีไม่ผิด ชงนายกฯประมูลใหม่ท่าเรือแหลมฉบัง
-กัลฟ์-ปตท.ฉลุยแหลมฉบัง สหภาพกทท.จับตาสัญญา