"อภิสิทธิ์" จี้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวในยุค Disruption
"อภิสิทธิ์" จี้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวในยุค Disruption ด้าน "เอกชน" ยอมรับ จึงจำเป็นต้องรีบปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน
นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง จัดสัมนาทางวิชาการหัวข้อ "การปรับตัวของภาคธุรกิจในยุค Disruption" หวังติดอาวุธทางปัญญา สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ป้องกันผลกระทบขนานใหญ่ที่จะเกิดกับภาคอุตสาหกรรม พร้อมเสริมมุมมองทิศทางการค้า การลงทุน โดยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ล็อคเป้า "ระยอง" พื้นที่ EEC ซึ่งในงานนี้มีการจัดเสวนาและการปาฐากถาพิเศษจากอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐากถาพิเศษในหัวข้อ "การปรับตัวของภาคธุรกิจในยุค Disruption" เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด หรือ Disruption ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ทำให้การปรับตัวเพื่อรองรับ ก้าวทัน และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยที่สำคัญนอกเหนือจากเทคโนโลยี คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะทำให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงาน และคนไทยจะยากจนลง เนื่องจากเกิดการเหลื่อมล้ำในสังคม
ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี นายอภิสิทธิ์มองว่า เป็นเรื่องของพฤติกรรมของพวกเราทุกคน ทั้งในฐานะผู้บริโภค ผู้ผลิต รวมถึงมีผลกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วย
Disruption ยังกระทบกับแรงงานทุกกลุ่ม ทุกคน ที่ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีอย่าง AI หรือปัญญาประดิษฐ์อีกด้วย ประเด็นนี้ ดร.สุกัญญา วนิชจักรวงศ์ กรรมการ ผจก. บมจ.วันทูวัน คอนแทคส์ มองว่า การนำเอา AI มาให้แทนแรงงานคน เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ นั่นแสดงให้เห็นว่าตอนนี้ไม่มีเวลาเหลือแล้วที่จะปรับตัว ผู้บริหาร คนในองค์กร จึงจำเป็นต้องรีบปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน การพัฒนาศักยภาพแรงงานที่ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถทำแทนได้
สอดคล้องกับแนวคิดของดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ที่มองว่า disruption เกิดขึ้นมานานแล้ว เห็นได้จากการปฏิวัติภาคอุตสาหกรรมจนทำให้แรงงานตกงานในปี ค.ศ.1995 หรือแม้กระทั่งการพัฒนาของเครื่องจักรไอน้ำ จนมาถึงปัจจุบัน Disruption คือการหยุดของเก่า แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างของใหม่ขึ้นมาทดแทน และในอนาคตข้างหน้าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเราจะกลายเป็นเทคโนโลยีทั้งหมด
ดร.รัฐศาสตร์จึงมองว่า กลุ่มบุคคลที่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วที่สุด คือกลุ่มวัยรุ่นหรือเยาวชน ที่ต้องปรับตัว โดยการเพิ่มรายได้ หารายได้จากช่องทางดิจิทัล และการลดรายจ่าย ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ส่วนกลุ่มคนอื่น ๆ ก็ต้องปรับตัวไม่แพ้กัน ทุกกลุ่มทุกคน ต้อง Disrup ตัวเองโดยไม่ต้องให้มีใครมา Disrup รวมถึงการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและองค์กรด้วย
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กีรติวินทกร ผอ.สถาบันสหกิจศึกษาและพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไทย-เยอรมันที่มองว่าระบบการศึกษาที่เป็นกลไกสำคัญในการผลิตบุคลากรเพื่อพัฒนาประเทศ ที่ต้องมีศักยภาพที่ทันสมัย ตอบสนองภาคเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากในปัจจับุนนี้ การศึกษาอาจไม่เป็นต่อการประกอบอาชีพ แต่เป็นวิธีคิด การสร้างสรรค์ และการปรับตัว ที่การศึกษาตามไม่ทันสิ่งเหล่านี้ หากไม่มีการปรับตัว
ผู้อำนวยการสถาบันสหกิจศึกษาและพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไทย-เยอรมัน ยังบอกอีกว่า BIG data ข้อมูลของคน ของนักเรียน นักศึกษา ที่ถูกรวบรวมไว้ เพื่อคำนวณถึงความต้องการของนักเรียน นักศึกษามากขึ้นโดย AI และในอนาคตหลักสูตรในโรงเรียน หรือในมหาวิทยาลัย อาจไม่จำเป็นต้องแยกระหว่างสายศิลป์ หรือสายวิทย์ ไม่มีรายวิชาแล้ว การเรียนอาจไม่จำเป็นต้องเรียนที่มหาวิทยาลัย หรือสามารถเรียนที่ไหน เวลาใดก็ได้
ในงานนี้วิทยากรภาคเอกชนและภาคการศึกษาจึงเสนอให้ภาครัฐทำหน้าที่ประสานงานและเป็นที่ปรึกษาของสถานการณ์ Disruption เพื่อประสานงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนากลไกต่าง ๆ ก้าวข้ามผ่านยุค Disruption ไปด้วยกัน