เจาะ! ธรรมนูญครอบครัว 'จิราธิวัฒน์' เคลื่อนธุรกิจแสนล้าน
"ธรรมนูญครอบครัว" กฎเหล็ก!! บ้างก็ว่าเป็นความลับของตระกูล ทว่าเสียงเรียกร้อง "อยากรู้" มีมาก "จิราธิวัฒน์" ตระกูลค้าปลีกไทย เบอร์ 1 ผู้มั่งคั่ง..!! ยอมเผยแนวปฏิบัติ Do VS Do not เหล่าทายาท 5 เจนกว่า 200 ชีวิต เคลื่อนธุรกิจ 4 แสนล้านโตยั่งยืน
“ครอบครัว” คำสั้นๆ แต่เต็มไปด้วยความหมายลึกซึ้ง การเป็นคนในครอบครัว นอกจากสืบเชื้อสาย หรือสายเลือดเดียวกันแล้ว บุคคลภายนอกที่เป็น “คู่สมรส” จะถูกนับรวมเป็นคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน
ทว่า การรักษาความรักความกลมเกลียวของคนในครอบครัวให้อยู่ยงคงกระพัน เป็นเรื่องยาก ยิ่งหากมีเรื่อง “ธุรกิจ” ซึ่งเต็มไปด้วยผลประโยชน์ การถือหุ้น ผลตอบแทน เรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง จะกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนและทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีความ “เปราะบาง” หากมีประเด็นที่ไม่ลงรอยกันเมื่อไหร่ ความร้านฉาน ความขัดแย้ง ย่อมเกิดขึ้นโดยง่าย
ตัวอย่างในประเทศไทยมี “ธุรกิจครอบครัว” จำนวนไม่น้อย ที่ทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงสมบัติ ผลประโยชน์กันจน กระทั่งนำไปสู่การทำร้ายร่างกาย หรืออาจจบลงด้วยโศกนาฏกรรม และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาภายในครอบครัว ทำให้ตระกูลที่มั่งคั่งมีธุรกิจใหญ่โตต้องร่าง “ธรรมนูญครอบครัว” หรือ Family Constitution ขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางในการยึดถือปฏิบัติสำหรับครอบครัว
“จิราธิวัฒน์” หนึ่งในตระกูลใหญ่ของเมืองไทย ผู้บุกเบิกธุรกิจ “ค้าปลีก” มาเป็นเวลา 72 ปี จนกลายเป็น “ผู้นำ” ค้าปลีกในไทย
โดยในปี 2562 นิตยสารฟอร์บสจัดอันดับมหาเศรษฐีของเมืองไทย ตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่ง “เซ็นทรัลกรุ๊ป” ครองความมั่งคั่งเป็นอันดับ 2 มีมูลค่าทรัพย์สินมากถึง 6.7 แสนล้านบาท!!
สัปดาห์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ The Cloud จัดกิจกรรม “ทายาทรุ่นสอง” เชิญวิทยากรและทายาทธุรกิจชั้นนำมาถ่ายทอดบทเรียนวิชาต่างๆ หนึ่งในไฮไลต์ที่น่าสนใจ ต้องยกให้ “วิชาเขียนร่างธรรมนูญครอบครัว” โดยมี สุกุลยา เอื้อวัฒนะสกุล จากเซ็นทรัล กรุ๊ป ซึ่งเป็น Executive Vice President-Group Treasury มาฉายภาพธรรมนูญครอบครัวจิราธิวัฒน์
**กว่าจะเป็นยักษ์ค้าปลีก
เธอเปิดประโยคเล่าความเป็นมาของธุรกิจครอบครัวจิราธิวัฒน์อย่างย่อ ในแต่ละยุคเพื่อให้เห็นวิวัฒนาการ การเติบโตของธุรกิจ
โดยระบุว่าตัวเองมีมารดาเป็นลูกคนที่ 5 จากทั้งหมด 26 คน ของ “เตียง จิราธิวัฒน์” ผู้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัวจิราธิวัฒน์รุ่นแรก ขณะที่กิจการครอบครัวเริ่มจากการเปิดร้านค้าในย่านบางขุนเทียน แล้วย้ายมายังเจริญกรุง ซึ่งขณะนั้น “เตียง” และบุตรชายคนโต “สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์”(ลุงของสุกุลยา)ได้สืบทอดธุรกิจร่วมกับน้องๆ 25 คน เริ่มทำกิจการซื้อมาขายไป(เทรดดิ้ง) โดยเฉพาะนิตยสาร หนังสือต่างๆ จนกิจการเติบใหญ่ จากนั้นย้ายกิจการมาเปิดร้านที่เยาวราช แต่การแข่งขันสูง ทำให้ค้าขายไม่ประสบความสำเร็จนัก จึงหนีคู่แข่งไปเปิดห้างวังบูรพา นำสินค้าต่างประเทศทั้งสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า ความงามมาจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า เช่น แบรนด์ลังโคม เอสเต้ ลอเดอร์ ฯ ในราคาตายตัว(Fix Price)
ถัดมาจึงเปิดกิจการที่ย่านราชประสงค์ เพราะมองว่า ทำเลที่ตั้งใกล้กับสถานทูตต่างๆ สินค้าที่จำหน่ายน่าจะตรงกับกลุ่มเป้าหมาย แล้วมีการพัฒนาเป็นเซ็นทรัลเวิลด์ (ยุคนั้นคือเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์) มีการเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรก รวมถึงเปิดเซ็นทรัล ชิดลม และเซ็นทรัลลาดพร้าว เกิดโรงแรม และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ “เซ็นทรัลพัฒนา” หรือซีพีเอ็น เป็นต้น
“ลุงสัมฤทธิ์เป็นคนเก่งมาก ทำธุรกิจเฉียบขาด ทำให้กิจการเกิดขึ้นและเติบโต” เธอเผย
ส่วนยุคลุง “วันชัย จิราธิวัฒน์” เข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวในยุคที่กิจการตั้งตัวได้ และเติบโตหลายด้าน เป็นยุคแห่งการ “ขยายกิจการ” ไปทั่วไทย ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ทั้งค้าปลีก โรงแรม ซึ่งมองว่า ธุรกิจโรงแรมต้องใช้เงินลงทุนสูง จึงผลักดันให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และยังแตกร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่จำหน่ายสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ซูเปอร์สปอร์ต ไทวัสดุ ฯ เพราะหากรอให้มีการลงทุนเปิดศูนย์การค้าต่างๆ กิจการอาจเติบโตไม่ทันการณ์
นอกจากนี้ วันชัย ยังขยายอาณาจักรครอบครัวจิราธิวัฒน์ไปยังต่างประเทศ ซื้อห้างลา รีนาเชนเต 12 สาขาในอิตาลี เพื่อกระจายความเสี่ยงและเลี่ยงปัจจัยลบรุมเร้าในประเทศไม่ว่าจะเป็นการเมือง น้ำท่วม
“ตอนนั้นการไปซื้อกิจการไม่ซื้อกิจการที่ดี แต่ต้องซื้อกิจการที่สามารถทำให้มีรายได้และกำไรกลับมา หรือเทิร์นอะราวด์ ขณะที่การไปลงทุนในประเทศอิตาลีถือเป็นการขยับขยายธุรกิจที่ดี เพราะทำให้กลุ่มเซ็นทรัลสร้างปรากฏการณ์อยู่ในเวทีค้าปลีกระดับโลก”
การขยายกิจการยังมีเรื่อยๆ ไปเดนมาร์ก (ซื้อห้างอิลลุม) ขายบิ๊กซีในประเทศไทย เพื่อไปซื้อกิจการบิ๊กซีในเวียดนาม ยุคปัจจุบันเมื่ออยู่คนเดียวไม่ได้ จึงจับมือพันธมิตรกับอย่าง ดุสิตธานี ผุดมิกซ์ยูสหมื่นล้าน (บริเวณโรงแรมดุสิตธานี สีลม) จับมือเจดี ดอทคอม ลุยค้าปลีกออนไลน์ การเงิน และซื้อหุ้นแกร๊บในประเทศไทย นี่คือภาพธุรกิจครอบครัวจิราธิวัฒน์
**แยก“ธุรกิจ” - “ครอบครัว” รักษามั่งคั่ง
เธอยังเล่าว่า จุดเปลี่ยนสำคัญ เกิดในยุคของ “วันชัย” แม้ตอนนั้นตระกูลจิราธิวัฒน์ จะบริหารธุรกิจแบบ “กงสี” เมื่อ “ทายาท” ต้องการสินค้าและบริการใด เช่น รองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้า ฯ สามารถนำเอกสารไปดำเนินการที่หน้าร้านและหยิบมาใช้ได้เลย สวัสดิการต่างๆ เช่น งานศพ งานแต่งงาน การศึกษา กงสียังออกค่าใช้จ่ายให้ แต่เมื่อธุรกิจเผชิญ “วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540" อาจกระเทือนความมั่งคั่งของธุรกิจครอบครัว วันชัยจึงเห็นควร “แยก” ธุรกิจ และ ครอบครัว ออกจากกันให้ชัดเจน
“จากนั้นจึงกลายเป็นการปรับโครงสร้างให้ถูกต้อง เปลี่ยนจากธุรกิจแบบกงสีมาสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น” สุกุลยา เล่าและขยายความว่า
“ธุรกิจครอบครัวต่างจากการเป็นครอบครัวปกติ ซึ่งไม่มีเงื่อนไขความรัก ธุรกิจจะต้องนิยามว่าใครเป็นใคร เช่น ใครเป็นสมาชิกครอบครัว สมาชิกโดยสายเลือด หรือคู่สมรส และเรามีการประเมินผลตลอดเวลา ที่ยากคือ การแบ่งปันทรัพย์สิน ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์ที่อาศัยร่วมกัน ซึ่งครอบครัวปกติจะไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้”
ดังนั้น ตระกูลจึงดึง “วิโรจน์ ภู่ตระกูล” ซีอีโอคนแรกของลีเวอร์ บราเธอร์ (ประเทศไทย) หรือยูนิลีเวอร์ มาช่วยจัดทำ “สภาครอบครัว” และ “ร่างธรรมนูญครอบครัว” ให้ตั้งแต่ปี 2541 ใช้เวลา 4 ปี หรือปี 2545 จึงแล้วเสร็จ
คอนเซปต์ของการปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัว เพื่อทำให้สมาชิกภายในครอบครัวอยู่กันอย่างมีความสุข การแยกธุรกิจออกจากครอบครัวเพื่อให้มีความชัดเจน การแบ่งปันผลประโยชน์ ตลอดจนการพัฒนาธุรกิจอยู่ภายใต้ความเป็นมืออาชีพ รักษาธุรกิจครอบครัวให้เติบโตยั่งยืน การบริหารงานมีความยืดหยุ่น ตัดสินใจรวดเร็ว มีการสั่งงาน เคารพซึ่งกันและกัน นำความเป็นมืออาชีพมาสู่การทำงาน การพัฒนาและส่งเสริมทายาทหรือสมาชิกครอบครัวที่เป็นเจเนอเรชั่นใหม่ให้มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการสูงสุด ตลอดจนยกระดับให้มีความตั้งใจทำงานกับธุรกิจครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ธรรมนูญครอบครัว “จิราธิวัฒน์” มีไว้ให้กับทายาทและคู่สมรส 5 รุ่น (เจเนอเรชั่น) รวม 232 ชีวิต (ข้อมูล ณ 20 ก.ย.2562 จำนวนสมาชิกครอบครัวเปลี่ยนแปลงตามการสมรสและมีบุตร) ยึดถือปฏิบัติ โดยเจเนอเรชั่นที่ 1 มีเพียง 1 คน เจน 2 มี 38 คน แบ่งเป็น จิราธิวัฒน์ 23 คน คู่สมรส 15 คน เจน 3 มี 90 คน แบ่งเป็นจิราธิวัฒน์ 57 คน คู่สมรส 33 คน เจน 4 มี 86 คน แบ่งเป็นจิราธิวัฒน์ 76 คน คู่สมรส 10 คน เจน 5 มี 17 คน แบ่งเป็นจิราธิวัฒน์ 17 คน
ในจำนวนนี้ มีคนที่ทำงานให้กับธุรกิจครอบครัวทั้งสิ้น 57 คน โดยคนที่ไม่ได้ทำงานส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้อาวุโส
“ที่นี่(ธุรกิจครอบครัวจิราธิวัฒน์)ไม่ให้เขยและสะใภ้ทำงาน เพราะเชื่อว่าการเลี้ยงดูมาไม่เหมือนกัน อาจมีอิทธิพลต่อการบอกกล่าวคนในครอบครัวให้ทำหรือไม่ให้ทำอะไร” เนื่องจากป้องกันไม่ให้เกิดการยุแหย่ให้เกิดความแตกแยกภายในครอบครัวนั่นเอง
**โครงสร้างปกครอง “จิราธิวัฒน์”
สำหรับโครงสร้างการปกครองของตระกูลจิราธิวัฒน์ ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้ 1.ครอบครัว มีสภาครอบครัว(Family counsil) ดูแล และ “สุทธิชัย จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น เป็น Head ในส่วนนี้มีผู้ใหญ่ในครอบครัว 14 คน มาจากสมาชิกทุกกลุ่มนั่งเป็นบอร์ดในสภาโดยผู้ชายจะมีจำนวนมากกว่าผู้หญิง
หน้าที่ของสภาครอบครัว จะดูแลเรื่องพื้นฐานของสมาชิกครอบครัวจิราธิวัฒน์ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการต่างๆ ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล การจัดงานแต่งงาน งานศพ ฯ โดยปัจจุบันมีการตัดค่าเล่าเรียนออกไป เนื่องจากมองว่าสมาชิกครอบครัวมีฐานะ รายได้ดีขึ้น อีกทั้งบางครอบครัวเรียนโรงเรียนอินเตอร์ เรียนต่างประเทศ เรียนโรงเรียนในไทย ทำให้ค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน แต่ยังคง “ทุนเรียนดี” ไว้ให้กับสมาชิก ส่วนค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ให้ทั้งหมด แต่มีเพดานกำหนดไว้ จ่ายเพียงห้องเดี่ยวเท่านั้น เพราะบางครอบครัวรักษาตัวในห้องสวีท ส่วนต่างดังกล่าวต้องจ่ายเอง มีรายละเอียดแม้กระทั่งการดัดฟัน ศัลยกรรมฯ ที่สภาไม่จ่าย เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความกลมเกลียวสานสัมพันธ์ภายในครอบครัว ทำให้จิราธิวัฒน์ ต้องมารวมตัวกันใน 2 วันสำคัญ คือ วันตรุษจีน โดยสมาชิกครอบครัวทั้งสายเลือดจิราธิวัฒน์ เขย-สะใภ้ ต้องมาเจอกันร่วม 300 ชีวิต ที่“บ้านศาลาแดง”หรือเรียกกันว่าบ้านตายาย และอีกงานคือคริสต์มาส จะมีการรับประทานอาหาร ทายาทเด็กๆ มาแสดงพรสวรรค์ เล่นเกมงานวัด ชักเย่อ เป็นต้น
“ตรุษจีนมาเจอกันมีการแจกแตะเอียสนุกสนานเป็นการExerciseเขยและสะใภ้ที่มาใหม่ได้อย่างดีและทุกคนต้องจำสมาชิกในครอบครัวให้ได้ทั้งหมด”
นอกจากนี้ ครอบครัวจิราธิวัฒน์ยังนำการบริหารจัดการ(MIM)มาใช้เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของครอบครัว ทิศทางของธุรกิจ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบด้านให้ทุกคนได้รับ ซึ่งกิจกรรมนี้“ทศ” (ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด) เป็นเจ้าภาพ และกิจกรรมจะเกิดขึ้น 2 ครั้ง คือเจอในกรุงเทพฯ และไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกัน
“บางคนไม่ทำงาน อาจรู้เรื่องธุรกิจครอบครัวจากข่าว ทำให้ครอบครัวมี Meeting ปีละ 2 ครั้ง เพื่อรายงานสถานการณ์ธุรกิจให้ทราบ” เธอย้ำ
2.Ownership มี CG Board หรือมาจากเซ็นทรัล กรุ๊ป ดูแลรวมถึงคนนอกจำนวนรวม 8-19 คน ซึ่งบอร์ดนี้คนนอกที่รู้จักเป็นอย่างดีคือ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล”อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) นั่งอยู่ด้วยนั่นเอง
หน้าที่ของบอร์ดจะตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุน มูลค่าเกินกว่า 3,000 ล้านบาท รวมถึงรายงานผลการดำเนินงานของธุรกิจครอบครัว การจ่ายเงินปันผลด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของบทบาทนี้คือการคำนึงถึงผลประโยชน์ครอบครัวเป็นที่ตั้ง เช่น สมาชิกครอบครัวรายหนึ่งถือหุ้นในธุรกิจค้าปลีก 10% ธุรกิจโรงแรม 10% และการพัฒนาอสังหาฯ (ซีพีเอ็น) 10% ไม่ได้หมายความว่าทำงานจะคำนึงถึงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมากกว่า
“สมมติว่าเอ๋ (สุกุลยา) ถือหุ้น 10% ในธุรกิจโรงแรม แต่เอ๋ ทำงานรีเทล ไม่ได้หมายความว่า เอ๋จะทำเพื่อธุรกิจโรงแรมมากกว่า แต่เราต้องคิดเพื่อส่วนรวม ทุกวันนี้น้องชายเอ๋ดูแลซีพีเอ็น เราก็จะบอกว่าทำไมเธอคิดค่าเช่าแพง น้องชายก็จะบอกว่าทำไมเธอจ่ายค่าเช่าฉันถูก การถือหุ้นต่างกันยิ่งทำให้ทะเลาะกัน”
สุดท้าย 3.ธุรกิจ มีกรรมการบริหาร(Executive committee:Ex-com)และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเซ็นทรัล กรุ๊ป โดย“ทศ" เป็น Head และมี “ปริญญ์ จิราธิวัฒน์” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กุมการเงิน สำหรับหน้าที่ของกรรมการบริหารนี้คือจะตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนมูลค่าต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท โดยต้องแจ้ง CG Board ด้วย แต่ไม่ต้องตัดสินใจ
“ทั้ง 3 ส่วนนี้เกี่ยวข้อง และแยกกันได้ ทุกคนมีอำนาจตัดสินใจ เพื่อศักยภาพของธุรกิจ และไม่ให้เกิดข้อขัดแย้ง”
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 โครงการจะมีการประชุมกันเป็นระยะ โดย Ex-com ประชุมทุกสัปดาห์ CG Board ประชุมทุกเดือน และสภาครอบครัวประชุมทุกไตรมาส
สุกุลยา ยังฝากข้อคิดเกี่ยวกับธรรมนูญครอบครัวจิราธิวัฒน์ไว้ โดย“เตียง”เน้นขยายครอบครัวใหญ่ อยู่ กิน นอน คิด ร่วมกัน ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า
ส่วน“สัมฤทธิ์”เน้นการมีคุณธรรม จริยธรรม และรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีความเสียสละ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้า พนักงาน หน่วยงานราชการ และผู้ถือหุ้น มีผู้บริหารมืออาชีพทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมงาน ขยายกิจการในประเทศและต่อเนื่องไปยังต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังให้หลีกเลี่ยง 10 สิ่งพึงรังเกียจ ได้แก่ การสูบบุหรี่, พูดมากไร้สาระ, ไม่ตรงต่อเวลา, โลภ ,เอาแต่ได้, อวดเก่ง แต่ไม่เก่งจริง, เอาเปรียบผู้อื่น, เกียจคร้าน, โกง ปากกับใจไม่ตรงกัน, ไม่ยอมฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และดื้อรั้น แต่มีสติปัญญาน้อย
สำหรับธรรมนูญครอบครัวจิราธิวัฒน์ ยังจัดทำรายงานเนื้อหาทั้งหมดลงบนเว็บไซต์ส่วนตัวของตระกูล เพื่อให้ทายาททุกคนได้อ่าน เพราะต้องยอมรับว่ามีเรื่องทำได้ และบางเรื่องเป็น“ข้อห้าม”เด็ดขาด หากสมาชิกครอบครัว “ฝ่าฝืน” จะโดนอัปเปหิออกจากตระกูลและไม่ให้ใช้นามสกุลจิราธิวัฒน์ด้วย
จากการสืบค้นข้อมูลการถูกอัปเปหิออกจากการเป็นสมาชิกครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทำธุรกิจขึ้นมา “แข่ง” กับเซ็นทรัล กรุ๊ป สภาฯมีการกล่าวตักเตือน และทำทัณฑ์บนมากกว่า 3 ครั้ง แต่ผู้ฝืนกฎไม่ยอมรับความผิด และยังทำต่อ ก็จะโดนเชือด! เพื่อคงความศักสิทธิ์ให้ธรรมนูญครอบครัว ส่วนคนที่ทำผิดมักเป็น “คู่สมรส” ที่เข้ามาอยู่ในครอบครัวจิราธิวัฒน์ใหม่ๆ ซึ่งยังไม่เข้าใจกฎกติกามารยาทการอยู่ร่วมกัน