หุ้นโรงพยาบาลเตรียมเฮ ไฮซีซั่น- ยกเว้นวีซ่า หนุนท้ายปี
เรียกได้ว่าประเทศไทยเผชิญปัญหาสุขภาพอย่างหนักในช่วงนี้ก็ว่าได้ จนทำให้ธุรกิจที่ประชาชนต้องเข้าใช้บริการแบบภาคบังคับอย่างธุรกิจโรงพยาบาล จึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นไปโดยปริยาย
ตั้งแต่เหตุการณ์พี่น้องภาคอีสานโดนอิทธิพลพายุโพดุลและคาจิกิ ทำให้เกิดอุทกภัยในหลายจังหวัด นานเกือบเดือนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบ ซึ่งตามมาด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่มากับน้ำท่วม
ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงของอากาศเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาวจึงทำให้เกิดโรคได้ง่าย จึงทำให้ในช่วงนี้ทุกปีแทบจะกลายเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจโรงพยาบาล เพราะประชาชนเดินเข้าออกรักษาพยาบาลเป็นว่าเล่น
สถานการณ์อากาศยังย่ำแย่ลงไปอีกเมื่อสัปดาห์นี้ไทยกลับมาเผชิญปัญหาจากฝุ่นพิษเกินค่ามาตรการ PM 2.5 ไมโครกรัมอีกครั้งหลังเกิดปัญหาดังกล่าวจนคนไทยตื่นตัวปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 จากค่ามาตรฐานไม่ควรสูงเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ปรากฎพบว่าหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงสัปดาห์นี้กลับพบเกินมาตรฐานติดอันดับ 2 ของ โลก พุ่งไปสูงถึง 175 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ด้วยปัจจัยสภาพอากาศแล้วแทบจะกลายเป็นปัจจัยหนุนธุรกิจโรงพยาบาลอย่างชัดเจน ซึ่งจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สาขาการแพทย์ประชาชนใช้บริการสถานพยาบาลมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปีจนทำให้ทั้งปี 2560 มีจำนวนผู้ใช้บริการ 61.64 ล้านคน
ล่าสุดภาครัฐยังกระตุ้นที่เพิ่มปัจจัยบวกหลังคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบายMedical Hub) ให้สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เข้าประเทศไทยเพื่อรับการรักษาพยาบาลได้โดยไม่ต้องมีวีซ่าระยะเวลา 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตามรวมไม่เกิน 4 ราย ซึ่งจะมีการเสนอเข้าครม.เพื่อพิจารณา
เมื่อรวมกับ 2 ประเทศที่เพิ่มเข้ามาจะทำให้ชาวต่างชาติไม่ต้องขอวีซาเพื่อรักษาพยาบาล 14 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นอร์เวย์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และแคนาดา
ที่สำคัญยังมีการเพิ่มประเภทขอวีซ่าแบบใหม่เป็นประเภทรักษาพยาบาล (Medical Visa) Non - MTชนิดใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Multiple Entry)คราวละไม่เกิน 1 ปี เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยที่เข้ามารักษาพยาบาลในไทย
ปัจจุบันตัวเลขชาต่างชาติมาใช้บริการรักษาพยาบาลในไทยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2560 มีจำนวน 4.23 ล้านราย ส่วนใหญ่ 95.6 % เป็นผู้ป่วยนอก และ 4.4 % เป็นผู้ป่วยใน ซึ่ง 3 อันดับแรกที่เข้ามาใช้บริการมากที่สุดคือ อันดับ 1 .เมียนมาร์ อันดับ 2. จีน และ อันดับ 3.กัมพูชา
อย่างไรก็ตามด้วยไทยมียังมีปัญหาการเข้าถึงสถานพยาบาลจึงเป็นการเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าถึงผู้ป่วยต่างชาติได้มากกว่า ในราคารักษาพยาบาลของไทยถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย
จากข้อมูลรายบริษัทที่ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลพบว่ามี 2 รายใหญ่ในตลาดที่ได้รับประโยชน์เต็มคือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS มีจำนวนโรงพยาบาลมากถึง 45 โรง อาทิ รพ.กรุงเทพ ,รพ.บำรุงราษฎร์ ,รพ.เปาโล ,รพ.พญาไท ,รพ. สมิติเวช และรพ. บีเอ็นเอช เป็นต้น ทำให้มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย 8,015 เตียง มีสัดส่วนผู้ป่วยคนไทย 70 % และต่างชาติ 30 % ของรายได้
ขณะที่ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ซึ่ง BDMS เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ 24.92 % โรงพยาบาลขนาดใหญ่ 580 เตียง มีสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติมากถึง 64.4 % ที่เหลือผู้ป่วยคนไทย 35.6 % ของรายได้
เฉพาะแต่ BDMS ถือเป็นรายใหญ่ในธุรกิจกินส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนไปแล้ว 55 % ของรายได้รวมทั้งกลุ่ม ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรก 2562 ที่ผ่านมารายได้จากกลุ่มลูกค้าต่างชาติเติบโต 8 %โดยเฉพาะลูกค้าตะวันออกกลางกลับมาเพิ่มขึ้น จึงมองได้ว่า BDMS เป็นหุ้นชูโรงรับมาตรการนี้แน่นอน