ไม่เคยคิดหักซีพี 'อนุทิน' มั่นใจ 15 ต.ค.เซ็นไฮสปีด
"อนุทิน" ยันไม่เคยคิดหัก "กลุ่มซีพี" เซ็นไฮสปีด 3 สนามบิน ยันยึดผลประโยชน์ชาติ มั่นใจ 15 ต.ค. เอกชนมาลงนามแน่นอน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลงานกระทรวงคมนาคม และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดำเนินการให้บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) มาเซ็นรับงานโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ถือเป็นการทำเพื่อชาติ ไม่ได้ไปหักกับกลุ่มซีพีตามที่มีการสื่อความกันแต่อย่างใด และการที่รัฐบาลออกจดหมายเรียกกลุ่มซีพีมาเซ็นสัญญา ก็เท่ากับทางนั้นรับทราบ
นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้ารถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังคาราคาซังกันอยู่ จะทำให้ลดทอนความเชื่อมั่นนักลงทุนที่จะมาลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้โครงการทั้งหมดจะเกิดปัญหาทันที ดังนั้นจำเป็นต้องทำ ขณะที่โครงการอื่นที่เกี่ยวกับอีอีซีภาครัฐจะเดินหน้าเต็มที่
"มีการสื่อสารกันว่าผมหักกับกลุ่มซีพี แต่ความเป็นจริง และไม่ได้เป็นเป็นเช่นนั้น ขอให้เข้าใจว่าในฐานะรองนายกรัฐ มนตรีที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ มันจำเป็นต้องทำงาน หากอยู่เฉยๆ จะจ้างทำไม และกลุ่มซีพี ก็ชนะการประมูลมาจะครบปีแล้ว จำเป็นต้องเดินหน้ากันเสียที เมื่อทางเอกชนเสนอราคาต่ำสุดถูกกว่าคู่แข่งประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ก็ต้องยอมรับว่าภาครัฐเองยังตะลึงกับราคานี้ และพอใจมาก แน่นอนว่าพร้อมจะช่วยเหลือฝ่ายเอกชน แต่ก็ขอให้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้” นายอนุทิน กล่าว
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2561 การรถไฟแห่งประเทศไทย ประกาศให้กลุ่มซีพี เป็นผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน เพราะเสนอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจำนวน 117,227 ล้านบาท น้อยกว่ากลุ่มบีเอสอาร์ที่เสนอ 169,934 ล้านบาท ราว 52,707 ล้านบาท โดยการรถไฟฯจะยืนกรอบราคาที่ซีพีเสนอมาถึงวันที่ 7 พ.ย.นี้เท่านั้น หากไม่มีการเซ็นสัญญาซีพีจะถูกริบเงินประกัน 2 พันล้านบาท และกลุ่มซีพี อาจจะถูกขึ้นบัญชีดำในฐานะผู้ทิ้งงาน
นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนกรณีที่กลุ่มซีพี ต้องการให้รัฐส่งมอบพื้นที่ครบ 100% จึงจะลงนามสัญญาก่อสร้างนั้น ตามสัญญากำหนดเรื่องการส่งมอบพื้นที่ไว้แค่ 50% และตอนนี้รัฐก็ทำได้ตามสัญญา ถ้าจะขอเพิ่มไปกว่านี้ การรถไฟฯ ที่ดูแลรับผิดชอบต้องไม่ยอมแน่นอน
ส่วนที่มีการบอกว่ากลุ่มซีพีกำลังหาแหล่งทุนนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ทราบ เป็นเรื่องของฝ่ายเอกชน แต่ส่วนตัวมองว่าผู้ชนะการประมูล แค่ต้องการเงื่อนไขที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพ ฝ่ายเอกชนทำโครงการนี้ได้แน่นอน และขอยืนยันว่าภาครัฐจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามทีโออาร์
"คิดว่าวันที่ 15 ตุลาคม กลุ่มซีพี มาลงนามสัญญาก่อสร้างแน่นอน เพราะถ้าหากไม่มา จะต้องโดนแบล็กลิสต์จากรัฐ เป็นการเสียชื่อบริษัท ยิ่งกว่านั้น หมายถึงว่านอกจากซีพีแล้ว กลุ่มบริษัทที่ร่วมทุนทั้งหมด ทั้งบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ บริษัทไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บริษัทช.การช่าง และ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก็จะได้รับผลกระทบในการประมูลงานรัฐในอนาคตด้วย เรียกว่าผลเสียมหาศาลจริงๆ" นายอนุทิน กล่าว