‘พีทีจี-โกลบอลกรีน’ อัพไซด์พุ่ง รัฐหนุน B10 ดันยอดขายกระฉูด
การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นหนึ่งในภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล และเป็นที่มาของโครงการประกันราคาสินค้าเกษตร 5 ประเภท ได้แก่ ข้าว, ปาล์มน้ำมัน, ยางพารา, มันสำปะหลัง และ ข้าวโพด โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ประเดิมจ่ายเงิน
ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการตรวจสอบทั้งหมด 260,000 ครัวเรือน โดย ธกส. จะจ่ายเงินประกันรายได้ปาล์มทุก 45 วัน หรือ ทั้งหมด 8 ครั้ง ตลอดรอบการผลิตปี 2562/2563 ส่วนข้าวเป็นสินค้าต่อมาที่จะเริ่มจ่ายเงินส่วนต่างในวันที่ 15 ต.ค. นี้ ขณะที่ยางพาราจะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติเพื่อเคาะมาตรการวันนี้ (4 ต.ค.) สำหรับสินค้าเกษตรอีก 2 ชนิด ได้แก่ มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะทยอยดำเนินการต่อไป
“ปาล์มน้ำมัน” ถือเป็นสินค้าแรกที่ได้จ่ายเงินส่วนต่างไปแล้ว หลังที่ผ่านมาต้องเผชิญกับปัญหาราคาตกต่ำอย่างหนัก เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตล้นตลาด ซึ่งนอกจากการประกันราคาปาล์มน้ำมันแล้ว ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ดำเนินการควบคู่กันไป ทั้งการขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) รับซื้อปาล์มน้ำมันเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า การส่งออกปาล์มน้ำมันไปยังประเทศอินเดีย
รวมทั้งส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลเพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ส่วนเกินในท้องตลาด และรักษาระดับราคา CPO ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบให้ขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10% ในทุกลิตร) ให้ต่ำกว่า B7 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7% ในทุกลิตร) จากเดิม 1 บาทต่อลิตร เป็น 2 บาทต่อลิตร
และลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมัน B20 ให้ต่ำกว่าน้ำมัน B7 จากเดิม 5 บาทต่อลิตร เป็น 3 บาทต่อลิตร เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยผลักดันการใช้ B10 เพิ่มจากปัจจุบันอยู่ที่ 10,000 ลิตรต่อวัน เป็น 37 ล้านลิตรต่อวัน ภายในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 57 ล้านลิตรต่อวัน ในต้นปี 2563
พร้อมกันนี้เห็นชอบให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 แทนน้ำมันดีเซล B7 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นั้นหมายความว่าเมื่อเปลี่ยนมาใช้ B10 เป็นน้ำมันมาตรฐาน ทำให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซล (B100) ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญของน้ำมันดีเซล B10 เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เรียกว่ามาตรการที่ออกมาช่วยเหลือทั้งเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่จะมีการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในท้องตลาด มาผลิตเป็นไบโอดีเซล (B100) โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตไบโอดีเซลสำหรับผลิต B10 อยู่ทั้งหมดประมาณ 9 ราย กำลังการผลิตรวม 6.9 ล้านลิตรต่อวัน เช่น บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP, บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG, บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA
สแกนดูแล้วคนที่จะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ มี บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ซึ่งไบโอดีเซลถือเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท โดยผู้บริหารแสดงความมั่นใจว่ายอดขายไบโอดีเซลปีนี้จะเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 4 แสนตัน หรือ เพิ่มขึ้นราวๆ 10% จากปีก่อน
อีกหนึ่งบริษัท คือ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ซึ่งมีโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ สามารถผลิตไบโอดีเซลเกรดพรีเมียมได้ถึง 500,000 ลิตรต่อวัน และน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคอีก 200,000 ลิตรต่อวัน ปัจจุบันโครงการได้เดินเครื่องแล้วกว่า 80% และคาดว่าจะเดินเครื่องเต็ม 100% ภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเฟส 2 เพิ่มเป็น 1 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2564-2565
ด้านบล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า หลังภาครัฐกำหนดให้น้ำมัน B10 เป็นน้ำมันมาตรฐานแทน B7 ในปี 2563 จะทำให้มีความต้องการ B100 เพิ่มขึ้นอีกราว 2.2 ล้านลิตรต่อวัน หรือ เพิ่มขึ้นอีก 28% โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการเพียงแค่ 2 ราย ที่สามารถผลิตได้ตามคุณภาพของ B10 คือ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG และ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ส่วนที่เหลือจะต้องปรับสเปกให้ได้ตามมาตรฐาน ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานน้ำมัน B10 ในครั้งนี้ ถือเป็นอัพไซด์ส่วนเพิ่มต่อประมาณการของทั้ง 2 บริษัท