เหล่าขุนพลไทยเบฟ ดาหน้าชำแหละแผนโต รับวิชั่น 2025
เป็นประจำทุกปีที่ “ไทยเบฟเวอเรจ” จะแถลงข่าวใหญ่ อัพเดทสถานการณ์ธุรกิจ นอกจากแม่ทัพอย่าง "ฐาปน สิริวัฒนภักดี" จะลงมาชี้แจงด้วยตนเองแล้ว พลาดไม่ได้กับเหล่า"ขุนพล"ในแต่ละธุรกิจที่จะมาแจกแจงแผนธุรกิจแสนล้าน เขย่าตลาดเครื่องดื่มโลกกันคึกคัก
ฐาปน เปิดฉากย้ำวิสัยทัศน์ 2020 ที่ทำให้บริษัทเติบโตก้าวกระโดด เป็นฐานที่แกร่งต่อยอดวิสัยทัศน์ 2025 ที่จะมี 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ ปลดล็อกคุณค่าทางธุรกิจ เบ่งอาณาจักรให้ใหญ่ ยุทธศาสตร์การสร้างสิ่งใหม่รับเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยน และเพิ่มจุดแข็งด้านแบรนด์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อผงาดเป็นบิ๊กคอร์เปอเรทเครื่องดื่มระดับโลก
เมื่อแม่ทัพใหญ่วาดวิสัยทัศน์ไว้เช่นนี้ ขุนพลในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ก็ต้อง “รับไม้ต่อ” นโยบายไปปฏิบัติให้บรรลุ “เป้าหมาย” !!
**เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เจอโจทย์หิน!
“สุรา” เป็นธุรกิจทำ “กำไร” ให้ไทยเบฟมากสุด 9 เดือนแรก โกยกำไรสัดส่วน 85.2% ขณะที่สินค้าของบริษัทยังเป็น Local Champion ที่คู่แข่งยากจะต่อกร
ประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มบริหารช่องทางการจำหน่าย บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เล่าว่า การบุกตลาดสุราจะให้ความสำคัญกับประเทศไทย และเมียนมา เพราะเป็นตลาดใหญ่และครองส่วนแบ่งการตลาดสูงมาก อย่างไทยเกินกว่า 90% ส่วนเมียนมา แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป ทำยอดขายทะลุ 10 ล้านลัง
"ไทยเและเมียนมาเป็น Core Market เรามีศักยภาพในการขายสูง ส่วนประเทศอื่นในอาเซียนมองโอกาสบวกในการขยายตลาดมากกว่า เพราะอย่างเวียดนามเป็นตลาดเบียร์มากกว่า เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์เกิน 15% โฆษณา ทำโปรโมชั่นไม่ได้ และ 1 ปีที่ทำตลาดสุรา ยากกว่าที่คาดไว้ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจากดื่มเบียร์มาเป็นสุราไม่ง่าย เพราะตลาดเครื่องดื่มเวียดนาม 85% เป็นเบียร์ และ 15% เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น”
แผนธุรกิจสุราในเวียดนามวางไว้ ก่อนไทยเบฟซื้อซาเบโก้ (ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น) เมื่อเจออุปสรรค จึงปรับแผนธุรกิจ รวมทีมงาน และจะใช้โรงงานสุราของซาเบโก้มาผนึกกำลัง สร้างการเติบโต ส่วนตลาดอื่น เช่น เกาหลี ซึ่งส่ง “รวงข้าวซิลเวอร์” บุกตลาดแต่ยังเป็น Niche Market เฉพาะในบาร์ หลายอย่างผิดแผน เพราะเดินช้ากว่าที่คาด ทำให้ยอดขายไม่เติบโต ด้านตลาดในไทยปีหน้า จะดันให้บริษัทเป็นผู้ผลิตวอดก้ารายใหญ่สุด หลังทำตลาดมาเพียง 1 ปี
ขณะที่ธุรกิจ “เบียร์” ของไทยเบฟแม้จะเป็น “เบอร์ 1” ในอาเซียน มีส่วนแบ่งตลาด 26% (ไทยเบฟ 9% ซาเบโก้ 17% ณ ปี 2561) แต่ในไทยยังเป็น “มวยรอง” ค่าย “สิงห์” ทว่า โฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ยังมุ่งมั่นทำให้เบียร์ช้างก้าวเป็นผู้นำตลาดให้ได้ โดย 9 เดือนที่ผ่านมา ตลาดเบียร์ในไทยถือว่ากลับมาเติบโต 7% ดีกว่าหลายปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ไทยเบฟ ยังเปิดเกมรบรุกตลาดเบียร์ในเมียนมา หลังลงทุน 70 ล้านดอลลาร์ผ่านบริษัทลูก อีเมอรัลด์ บริวเวอรี(Emerald Brewery) และมีทีมงานแกร่งจากองค์กร 168 ปี
ด้านเบนเน็ตต์ เนียว กรรมการผู้อำนวยการ ซาเบโก้ เจ้าของแบรนด์เบียร์ไซ่ง่อน และ 333 เบียร์เบอร์ 1 ในเวียดนาม ได้ปรับโลโก้แบรนด์ และแพ็คเกจจิ้งสินค้าใหม่ ขึ้นราคาสินค้า ยกเครื่องซัพพลายเชนเพื่อกระจายสินค้าให้มากขึ้น จนทำให้ที่ผ่านมายอดขายเชิงปริมาณโต 7.6% มูลค่า 8.5% กำไรโต 15.3% บริษัทยังสร้างโรงงานแห่งที่ 26 เพื่อผลิตสินค้าเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาด้วย
เบียร์ยังมองโอกาสเจาะตลาดอาเซียนบวก 3 บวก 6 บวก 9 ด้วยการส่งออกไปยังประเทศกลุ่มเป้าหมาย สร้างการเติบโตในอนาคต
**เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปีหน้าต้องกำไร!!
ส่วนอนาคต “ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์”หรือ Non-Alcohol Beverage คือความหวังและอาจทำรายได้แซงธุรกิจน้ำเมา ทว่า ที่ผ่านมาผลการดำเนินงานกลับ “ฉุด” กำไรบริษัท เนื่องจากมีการใช้งบในการสร้างแบรนด์มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวโออิชิ น้ำอัดลมเอส ฮันเดสพลัส เป็นต้น และแบรนด์ส่วนใหญ่ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาด “รอง” คู่แข่งจึงเป็นโจทย์ใหญ่ให้ผู้บริหาร
ลี เม็ง ตัท ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ กรรมการผู้อำนวยการ ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เฟรเชอร์ แอนด์ นีฟ ลิมิเต็ด (เอฟแอนด์เอ็น) กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจ NAB 5 ปีที่ผ่านมา “ติดลบ” ตลอด เพราะเป็นช่วงของการลงทุนในการสร้างแบรนด์ใหม่ในตลาด โดยปี 2560 บริษัทมียอดขาย 12,433 ล้านบาท ติดลบ 1,130 ล้านบาท ปี 2562 ยอดขาย 12,855 ล้านบาท ติดลบ 649 ล้านบาท ซึ่งเป็นการติดลบลดลง แต่ปี 2563 บริษัทคาดว่าจะกลับทำ “กำไร” ได้
ส่วนแผน 5 ปีข้างหน้า ตามวิสัยทัศน์ในปี 2025 จะมุ่งสร้างรายได้สัดส่วนเพิ่มขึ้น ผ่านกลยุทธ์การขยายผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มผล “กำไร” (SKU)จากสินค้าพรีเมียม เพิ่มช่องทางการจำหน่ายในกลุ่มค้าปลีกดั้งเดิมหรือ ร้านโชห่วย ร้านอาหาร เพื่อทำ “กำไร”และบริหารจัดการกลุ่มธุรกิจให้ต้นทุนต่ำลง เพื่อมี “กำไร”
นอกจากนี้ กลุ่ม NAฺB ของไทยเบฟจะขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆมากขึ้น จากเดิมฐานทัพสำคัญอยู่ในสิงคโปร์ มาเลเซียและไทย ที่แม้จะเป็นเบอร์1 แต่ภาพรวมมี “อัตราการเติบโตต่ำ” จึงต้องเพิ่มการเติบโตโดยการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ที่กำลังเติบโต ประกอบด้วย เวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมา ที่มีโอกาสเพิ่มยอดขายได้มากกว่า 10% รวมไปถึงตลาดอื่นๆ อาทิ ลาว กัมพูชา บรูไน และฟิลิปปินส์ เป็นตลาดที่จะรุกเข้าไปเพิ่มยอดขายได้เช่นเดียวกัน
“การพัฒนาขยายตลาดใหม่ ไม่มีแผนในการเข้าไปลงทุนตั้งโรงงาน แต่จะเริ่มจากการกระจายสินค้าฝ่ายตัวแทนกระจายสินค้า โดยการวางแผนทำตลาดร่วมกันกับพันธมิตรในตลาด เมื่อยอดขายเติบโตจนเป็นที่น่าพอใจและคุ้มค่ากับการขยายโรงงานจึงมีการขยายธุรกิจ”
**ผนึกกลยุทธ์ดันอาหารโต
“อาหาร” เป็นเสาหลักใหม่ที่ไทยเบฟรุกหนักมาก มีร้านและแบรนด์ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ทุกกลุ่มเป้าหมาย การโตจากนี้ยังเห็นภาพ “ซีนเนอร์ยี” โกลบอลแบรนด์ ที่ซื้อมาเพื่อโต “ทางลัด” เช่น “เคเอฟซี” รวมถึงผนึกพลังของอสังหาริมทรัพย์ในเครือไม่ว่าจะเป็นห้างค้าปลีก อาคารสำนักงานฯ เปิดสาขาใหม่ ทำให้บริษัทมีกำไรอื้อ! จากการสปีดเปิดสาขา ส่วน “สตาร์บัคส์”แผนงานยังอุบเป็นความลับให้พันธมิตร “แม็กซิม กรุ๊ป” และเอฟแอนด์เอ็นลุยตลาด
นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจอาหารยังถือว่ามีอัตราการเติบโตต่อเนื่องผ่าน 5 กลยุทธ์ผลักดันให้เป็นผู้นำอาหาร ประกอบด้วย การขยายสาขาต่อเนื่องเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด ซึ่งในปี 2562 มีการขยายสาขา 620 แห่ง ประกอบด้วย โออิชิ 266 สาขา ฟู้ดออฟเอเชีย 49 สาขา และร้านอาหารบริการด่วน (QSR-Quick Service Restaurant) 305 สาขา จากปี 2561 ที่มีการขยาย 561 สาขา 2.มีการทำตลาดและสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำการเป็นผู้นำนวัตกรรมอาหาร สร้างความแปลกใหม่และตื่นเต้น โดยการพัฒนาสินค้า เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ขยายไปยังร้านสะดวกซื้อ อาทิ สินค้าพร้อมรับประทาน (Ready to eat) ตลอดจน สร้างการรับรู้แบรนด์ 3.ให้ความคุ้มค่ากับผู้บริโภค (Value for money) 4.การให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล และ 5.มุ่งเน้นการพัฒนาด้านต่างๆ ในองค์กร
“กลุ่มสินค้าอาหารเติบโตได้ในตัวเองอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็มีการผนึกกำลังภายในกลุ่มธุรกิจ เช่น การนำร้านอาหารในกลุ่มธุรกิจไปเปิดในสามย่านมิตรทาวน์ เป็นต้น”