“ศุภจี" รุกเพิ่มพอร์ตรายได้ดุสิตธานี สู้แรงกดดันท่องเที่ยวโลก!
นับตั้งแต่รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2559 “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ได้เข้ามายกเครื่องปรับกลยุทธ์และโครงสร้างรายได้ของดุสิตธานีขนานใหญ่ผ่าน 3 เป้าหมายหลัก
เป้าหมายแรกคือ “การสร้างสมดุล” ทั้งเรื่องรายได้ระหว่างในและต่างประเทศ กับรายได้ที่เกิดจากการลงทุนและรับบริหารโรงแรม เพราะเดิมกลุ่มดุสิตธานีไม่ค่อยได้ลงทุนมากนัก เน้นรายได้รับบริหารโรงแรมมากเกินไป จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องลงทุนเพื่อสร้างการเติบโต!
กลายเป็นที่มาของโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานหรือมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ใจกลางกรุงนาม “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่ารวม 3.67 หมื่นล้านบาทภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น โดยเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ปัจจุบันได้รับใบอนุญาตการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว อยู่ระหว่างการจัดเตรียมพื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่ ด้วยการรื้อถอนอาคารเก่าคู่ขนานกับการเจาะเสาเข็มขึ้นอาคารใหม่
“การพัฒนาทั้ง 4 อาคารในดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จะทยอยแล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยอาคารแรกคือโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โฉมใหม่ กำหนดเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 27 ก.พ. 2566 เหตุผลคือตรงกับฤกษ์เปิดประตูต้อนรับลูกค้าเป็นวันแรกเมื่อปี 2513 หรือ 50 ปีมาแล้ว” ศุภจี ฉายไทม์ไลน์ของบิ๊กโปรเจค
โดยระหว่างที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯต้องยุติให้บริการชั่วคราวเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ตั้งธุรกิจเพิ่ม 5 โครงการเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป พร้อมเก็บพนักงานและรักษาแบรนด์กับเอกลักษณ์ของโรงแรมนี้เอาไว้จนกว่าจะถึงวันเปิดเผยโฉมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหารและบริการโดดเด่นของโรงแรมฯที่บ้านดุสิตธานี ในซอยศาลาแดง, เปิดตัวโรงแรมดุสิต สวีท ราชดำริ กรุงเทพฯ, ดุสิต ออน ดีมานด์ บริการแม่บ้านและงานอื่นๆ แก่ลูกค้าโรงแรม 5 ดาว, บริการจัดเลี้ยงและอีเวนท์นอกสถานที่ และบริการวางระบบกับรับบริหารโรงแรมใหม่โดยพรี-โอเพนนิ่ง ทีม
ส่วนอาคารเรสซิเดนส์ทั้ง 2 แบรนด์ในโปรเจคมิกซ์ยูสนี้ รวมกว่า 300 ยูนิต มี “ดุสิต เรสซิเดนเซส” เน้นตลาดลักชัวรี เริ่มต้นที่ 120 ตารางเมตร และ “ดุสิต พาร์คไซด์” เน้นตลาดไลฟ์สไตล์ เริ่มต้นที่ 60 ตารางเมตร จะเป็นที่พักอาศัยแบบเช่าสิทธิ์ระยะยาว (ลีสโฮลด์) สูงสุด 60 ปี ปัจจุบันได้รับฟีดแบ็คที่ดีจากลูกค้าคนไทย สนใจซื้อเรสซิเดนส์แล้วกว่า 62 ราย พร้อมวางเงินจองบางส่วนไว้แล้ว
“ยอมรับว่ากังวลเล็กน้อยเรื่องภาพรวมซัพพลายคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯปัจจุบันที่กำลังล้นตลาด แต่มั่นใจว่าเรสซิเดนส์ทั้ง 2 แบรนด์ของโปรเจคนี้จะมีผลตอบรับดี เพราะโซนถนนพระราม 4 ยังมีซัพพลายไม่มากเมื่อเทียบกับถนนสุขุมวิท และคาดว่ากิจกรรมทางธุรกิจจะเคลื่อนมาที่ถนนพระราม 4 มากขึ้น”
นอกจากนี้ทั้ง 2 แบรนด์ยังมีจุดขายโดดเด่น ทั้งเรื่องโลเกชั่น ทัศนียภาพของสวนลุมพินี และบุคลิกของเรสซิเดนส์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างเซลแกลอรี่ คาดว่าจะเปิดขายอย่างเป็นทางการไตรมาส 1-2 ปี 2563 ส่วนราคาขายอาจเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ตลาด จากเคยประเมินไว้เมื่อ 2 ปีก่อนที่ 2.8 แสนบาทต่อตารางเมตร
สำหรับเป้าหมายที่ 2 คือ “การขยายธุรกิจ” เตรียมปักธงเปิดโรงแรมใหม่ทั้งลงทุนเองและรับบริหารอีก 60 แห่งในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ ทำให้ในปี 2566 กลุ่มดุสิตธานีจะมีโรงแรมรวม 94 แห่ง คิดเป็นจำนวนกว่า 2 หมื่นห้องพัก กระจายใน 25 ประเทศ เพิ่มจากปัจจุบันที่มี 34 แห่ง คิดเป็น 8.5 พันห้องพัก ใน 13 ประเทศ เฉลี่ยเปิดโรงแรมใหม่ปีละ 10-12 แห่ง
โดยหนึ่งในแบรนด์ที่กำลังผลักดันคือ “อาศัย” (ASAI) เป็นโรงแรมแนวไลฟ์สไตล์ เตรียมเปิดให้บริการ 5 แห่ง แบ่งเป็น 2 แห่งแรกในประเทศที่ลงทุนเอง คือที่เยาวราชและสาทรในปี 2563 ส่วนอีก 3 แห่งในต่างประเทศจะเปิดในปี 2564 ได้แก่ ฟิลิปปินส์และเมียนมาที่รับบริหาร ขณะที่อีกแห่งจะลงทุนเอง 100% คือที่ย่านอากิฮาบาระ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการซื้อกิจการโรงแรมในอังกฤษและจุดหมายอื่นๆ ของยุโรป
ตบท้ายด้วยกลยุทธ์ “การกระจายความเสี่ยง” ไปยังธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจอาหารที่เปิดตัวไปเมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว ควบคู่กับธุรกิจการศึกษา ไปจนถึงความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจอสังหาฯ เช่น “ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้” ที่ได้ร่วมทุนเปิดตัว เดอะ แฮมป์ตัน ศรีราชา บาย ออริจิ้น แอนด์ ดุสิต คอนโดฯระดับไฮเอนด์ มูลค่าโครงการ 1,400 ล้านบาท ในพื้นที่ EEC และน่าจะมีโปรเจคในอนาคตร่วมกับ “อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” ซึ่งถือหุ้นดุสิตฯอยู่ 5%
“จากการเดินกลยทธ์ดังกล่าว คาดว่าจบปีนี้ รายได้ของกลุ่มดุสิตธานีจะยังเติบโต 10-15% เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ว่าสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมและฮอสพิทาลิตี้จะเจอแรงกดดันจากหลายปัจจัยทั่วโลกต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563”
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว “ศุภจี” ระบุว่า อยากให้รัฐบาลร่วมมือกับเอกชนในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) สร้าง “แอทแทรคชั่น” หรือแหล่งท่องเที่ยวระดับไอคอนของประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เหมือนอย่างที่หลายๆ ประเทศมีธีมปาร์คชื่อดัง เช่น ยูนิเวอร์แซลในสิงคโปร์และญี่ปุ่น หรือดิสนีย์แลนด์ในญี่ปุ่น แม้เป็นโครงการที่ใช้เงินมหาศาล แต่พิสูจน์แล้วว่าสามารถดึงนักท่องเที่ยวได้อย่างถาวร จึงอยากให้รัฐช่วยสนับสนุนเอกชนเพื่อ “เพิ่มพลัง” ในการลงทุน!