'คิกออฟ' วันสต็อปเซอร์วิส ลดเวลาขอใบอนุญาตธุรกิจ50%
สกพอ.จับมือหน่วยงานภาครัฐคลอดอีอีซี – โอเอสเอส แพลตฟอร์มกลางขออนุญาตดำเนินธุรกิจในพื้นที่อีอีซี “คณิศ” ชี้ช่วยลดขั้นตอนขออนุญาตลงได้จาก 158 วันเหลือ 78 วัน
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้จัดพิธีเปิดให้บริการระบบให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC One Stop Service : EEC – OSS เพื่อเป็นระบบที่ให้บริการขออนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยได้มาตรฐาน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่าตามกฎหมายอีอีซีได้มีการกำหนดให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ เอกชน และนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีให้ได้รับความสะดวกในการเข้ามาลงทุนในพื้นที่
ดังนั้น สกพอ.จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตการดำเนินธุรกิจและการลงทุนในอีอีซีโดยในระยะแรกเป็นการร่วมมือระหว่าง 6 หน่วยงานที่เป็นเจ้าของกฎหมายจำนวน 8 ฉบับ ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมที่ดิน และสำนักงานการตรวจคนเข้าเมือง
ทั้งนี้ในการพัฒนาระบบ EEC – OSS ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) โดยออกแบบระบบที่สอดคล้องกับระบบการบูรณาการศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) ซึ่งมีพื้นฐานการให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลของภาคธุรกิจอยู่แล้วทำให้การขออนุญาตการประกอบกิจการในพื้นที่อีอีซีจากขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์
รวมถึงการขอเปิดกิจการในพื้นที่อีอีซีสามารถลดระยะเวลาลงจาก 158 วัน เหลือ 78 วัน ลดจำนวนเอกสารที่ต้องยื่นให้กับภาครัฐพิจารณาจาก 60 รายการเหลือ 42 รายการ และลดหน่วยงานที่เอกชนจะต้องเดินทางไปติดต่อจากเดิมต้องเดินทางไปหลายหน่วยงานเหลือเพียงการขออนุญาตผ่านระบบ EEC – OSS เท่านั้น
“การลดขั้นตอนและระยะเวลารวมทั้งเอกสารที่เอกชนต้องใช้ในการขออนุญาตของภาครัฐให้เหลือน้อยลงถือว่าเป็นการช่วยให้ภาคเอกชนลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ระบบนี้ยังมีความโปร่งใสเนื่องจากลดการที่ผู้ขออนุญาตจะต้องเดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่ ”นาย คณิศกล่าว
นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการเสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกสายงานพัฒนาพื้นที่ชุมชน กล่าวว่า ระบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC-OSS ได้มีการปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ลด ละ เลิก เอกสารและขั้นตอนต่างๆที่ไม่จำเป็น และยุบรวมใบอนุญาตที่คล้ายคลึงกัน โดยสามารถลดการใช้เอกสารที่ซ้ำซ้อนและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเอกสารประกอบการพิจารณาจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้
ลดเวลาดำเนินการกว่าครึ่ง
โดยประสิทธิภาพของระบบนี้สามารถลดระยะเวลาได้กว่าครึ่งหนึ่ง และเป็นระบบขออนุญาต ออนไลน์ที่สามารถยื่นคำร้องได้ทุกที่ทุกเวลาที่มีสัญญาเครือข่าวอินเตอร์เน็ตให้บริการ สามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้บริการให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วและมีความโปร่งใสในการให้บริการ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจอย่างเท่าเทียม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาการให้บริการของ สกพอ.และในอนาคตจะมีการพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการและนักลงทุนที่จะลงทุนในพื้นที่อีอีซี
“สำหรับการใช้บริการผู้ประกอบการสามารถใช้บริการผ่านช่องทาง www.eec.or.th/eec-oss หรือสามารถเข้าใช้งานผ่านระบบ EEC-OSS โดยตรง”
นายปริญญ์ บุญดีสกุลโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟรอนทิส จำกัดและที่ปรึกษาอีอีซีกล่าวว่าในการออกแบบระบบ EEC-OSS มาจากแนวคิดที่ว่าอีอีซีเป็นโครงการขนาดใหญ่และต้องการเงินลงทุนและการดึงดูดการลงทุนในวงเงินที่สูงมากคือประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท และพบว่าขั้นตอนที่เงินลงทุนจะเข้ามาลงทุนจำนวนมากล่าช้าอยู่ที่ขั้นตอนการขออนุมัติอนุญาตซึ่งหากมระบบที่สามารถเร่งรัดการขอใบอนุญาตให้รวดเร็วมากขึ้นก็จะทำให้เกิดการลงทุนที่รวดเร็วมากขึ้น
ดึงเทคโนโลยีร่วมใช้งานบริการ
ทั้งนี้ระบบ EEC – OSS ได้ออกแบบโดยแก้ปัญหาจุดอ่อนของระบบ One – stop service ของภาครัฐแบบเดิมที่มักมีปัญหาในการเอาคนมานั่งรวมกันในจุดเดียวแต่ใม่เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานซึ่งทำให้การให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจที่ผ่านมาไม่ได้ผลอย่างแท้จริง แต่ระบบ EEC-OSS ได้มีการออกแบบใหม่ให้แก้ปัญหาส่วนนี้ โดยให้ความสำคัญกับการทำงาน 4 ด้าน คือ
1.ใช้เทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการทำงานของภาครัฐให้มีความรวดเร็วมากขึ้น
2.ปรับกระบวนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ
3.ส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบเทคโนโลยีทดแทนการใช้งานระบบแบบเดิม
4.เชื่อมโยงการทำงานของระบบที่พัฒนาขึ้นมาเชื่อมโยงกับระบบเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น
เล็งเพิ่มบริการให้มากขึ้น
นางอารีพันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร.กล่าวว่า ก.พ.ร.มีหน้าที่ในการพัฒนาและปฏิรูประบบการให้บริการงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ สร้างความสะดวกในการติดต่องานราชการให้ได้มากที่สุด โดยในส่วนของการพัฒนาระบบให้บริการของภาคธุรกิจ ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการในระบบ Biz Portal ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาให้สามารถขอใบนอุญาตจากภาครัฐได้มากขึ้น
รวมทั้งต้องพยายามให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ภาครัฐให้บริการแทนช่องทางเดิมเพราะในการนับคะแนนเพื่อจัดอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ (doing business) ธนาคารโลกจะให้คะแนนก็ต่อเมื่อบริการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นๆ มีประชาชนใช้บริการเกิน 50%
ด้านนางไอรดา เหลืองวิไล รักษาการแทนผู้อำนวยการ สพร.กล่าวว่าแนวคิดในการออกแบบ EEC-OSS เป็นการออกแบบโดยยึดตามกฎหมาย และ พรบ.อีอีซี ขณะเดียวกันก็กำซึ่งเริ่มจากในส่วนของการกำหนดยูสเซอร์ และพาสเวิร์ด เพื่อลงทะเบียนใช้ระบบ ซึ่งมีการวางระบบความปลอดภัยตามมาตรฐาน ISO 27100 ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ในระดับสูงซึ่งได้รับความยอดรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานระบบได้ด้วย