4 นักธุรกิจดัง !! หลุดโผ 50 เศรษฐีไทย

4 นักธุรกิจดัง !! หลุดโผ 50 เศรษฐีไทย

เปิดพอร์ตหุ้น 4 นักธุรกิจ ! เจ้าของแบรนด์ธุรกิจ “DDD- BEAUTY-TKN-TFG” หลังเจอปัจจัยลบรุมเร้า รายได้ กำไร ราคาหุ้น ผันผวนหนัก กระทบมั่งคั่ง ตาม Capital Gain หลุดโผ 50 เศรษฐีเมืองไทยปีนี้ สะท้อนผ่านมาร์เก็ตแคป หลัก“หมื่นล้าน”เหลือแค่ “พันล้าน”

หลังเดือน มิ.ย.2561  สงครามการค้า” (Trade War) ระหว่างจีน–สหรัฐ เริ่มปะทุ !! ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกอาการน่าเป็นห่วง ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ทุบสถิติต่ำสุด อีกครั้ง ที่ระดับ 1,548.99 จุด (วันที่ 26 ธ.ค. 2561) ถือเป็นการทำสถิติต่ำสุดรอบ 1 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ค.2560

ต่อเนื่องมาในปี 2562 ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ยังไม่ค่อยดีเท่าไรนัก!! ประเมินจากดัชนี SET INDEX เคลื่อนไหว ผันผวนหนัก บางวันมูลค่าการซื้อขาย (Volume) ไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาทด้วยซ้ำ! บ่งชี้ผ่าน ไตรมาส 3 ปี 2562 ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวมาปิดระดับ 1,637.22 จุด ลดลงจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่อยู่ระดับ 1,730.34 จุด หรือลดลง 93.12 จุด คิดเป็นการลดลงกว่า 5.38% !! โดยยังคงเป็นผลจากปัจจัยลบหลักๆ จากสงครามการค้า

แน่นอนเมื่อ “ผลตอบแทน (Return) ตั้งแต่ปี 2561 ตลาดหุ้นทั่วโลกตกอยู่ในภาวะ “ติดลบ” ทุกตลาด โดยตลาดหุ้นไทย ติดลบ 11.24%” (25 ธ.ค.2561) และต่อเนื่องมา2562 ที่ตลาดหุ้นไทยยังไม่สามารถสร้างผลตอบแทน โดดเด่น เฉกเช่นในอดีต ทำให้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือ Market Cap ของ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) หดหาย ไปตามสถานการณ์ของตลาดหุ้นเช่นกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า ... ทำให้เศรษฐีหุ้นจนลง !! โดยเฉพาะเหล่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลัทรัพย์ ที่เคยมี  Market Cap ยืนเหนือระดับ หมื่นล้าน 

หนึ่งในนั้นต้องมี 4 บริษัท นั่นคือ บมจ.ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD , บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY , บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ด แอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN และ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป หรือ TFG

จากที่เคยสร้าง เศรษฐีหุ้น 4 ตระกูลดัง มาแล้ว !! สะท้อนผ่านการจัดอันดับ 50 เศรษฐีไทยปี 2561 ของ นิตยสารฟอร์บส ไทยแลนด์ ในแง่ของข้อมูลทางการเงินและการถือครองหุ้น อย่าง ดร.สราวุฒิ พรพัฒนารักษ์”  เจ้าของ หุ้น DDD” สัดส่วน 56.50% ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวภายใต้เครื่องหมายการค้า NAMU LIFE โดยมีชื่อกลุ่มผลิตภัณฑ์ว่า “SNAILWHITE” หมอสุวิน ไกรภูเบศ เจ้าของ หุ้น BEAUTY” สัดส่วน 15.10% ประกอบธุรกิจจำหน่ายปลีกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิว ภายใต้แบรนด์ “BEAUTY”

อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ เจ้าของ หุ้น TKN” สัดส่วน 22.69% ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสาหร่ายแปรรูปทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้า “เถ้าแก่น้อย” และ วินัย เตียวสมบูรณ์กิจ” เจ้าของ หุ้น TFG” สัดส่วน 20.18% ประกอบธุรกิจหลักเกี่ยวกับการผลิตไก่และจำหน่ายไก่สด แช่เย็นและแช่แข็งและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไก่ ผลิตและจำหน่ายสุกร และผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์

ทว่าในปี 2562 พบว่า 4 นักธุรกิจตระกูลดังดังกล่าว กลับหลุดออกจากโผจากการจัดอันดับ 50 เศรษฐีเมืองไทย 

เหตุผลใหญ่เกิดจากปัญหาธุรกิจที่ชะลอตัว จากผลกระทบในเรื่องของสงครามการค้า ทำให้กำลังซื้อหดหาย ส่งผลตรงถึงผลการดำเนินงานที่ปรับตัว ลดลง ทั้งในส่วนของ รายได้ กำไรสุทธิ และราคาหุ้น !!

ถือเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในแวดวงของนักธุรกิจตระกูลดัง เมื่อธุรกิจมีการเติบโตลดลง สิ่งที่บ่งชี้ตามนั่นคือ กำไรจากส่วนต่างของราคา” (Capital Gain) ที่ขยับร่วงลง ฉะนั้น จากเศรษฐี 50 อันดับแรกในปี 2561 บัดนี้...! พวกเขากลายมาเป็นอดีต 50 เศรษฐีเมืองไทย หลังรายชื่อ 4 นักธุรกิจตระกูลดังหลุดโผการจัดอันดับ 50 เศรษฐีเมืองไทยประจำปี 2562 ที่มีเงินในพอร์ตลดลงจากระดับ หมื่นล้าน เหลือแค่ระดับ พันล้าน” ประเมินจากการถือครองหุ้นของแต่ละคน

หากย้อนดูความมั่งคั่งที่ลดลงของ เศรษฐีหุ้นไทย” ที่หลุดโผ 50 อันดับแรกปีนี้ พบว่า ลดลงตามภาวะตลาดหุ้นไทยที่ผันผวนหนัก ซึ่ง 9 เดือนแรก 2562 ดัชนี SET INDEX มีผลตอบแทนไม่สวยงาม เนื่องจากมีปัจจัยลบหลากหลายเข้ารุมเร้ามาก และแทบไม่มีสตอรี่ใหม่กระตุ้นตลาดหุ้นฟื้นตัว “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” เปิดเส้นทาง ความร่ำรวยที่หดหาย ของ 4 หุ้นใหญ่นักธุรกิจดัง... !!

157157250380

“ครีม Snail White ทำให้ผิวคุณกระจ่างใสได้จริง” คำยืนยันจาก ดร.สราวุฒิ พรพัฒนารักษ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ ดู เดย์ ดรีม โดย สราวุฒิ ติดรายชื่อทำเนียบ 50 เศรษฐีไทยประจำปี 2561 ที่จัดโดย FORBES ในอันดับที่ 45 ด้วยทรัพย์สิน 2.16 หมื่นล้านบาท หลังพาบริษัทที่เปิดดำเนินการมานาน 8 ปี และเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนธ.ค. 2560 ทำให้บริษัทมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก 4.16 พันล้านบาท ราคาหุ้น DDD ทะยานขึ้น 82% นับตั้งแต่เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรก (IPO)

ทว่า จากการสำรวจข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่า ดู เดย์ ดรีม บัดนี้ได้กลายเป็นบริษัทที่มี มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ Market Cap ขยับ ลดลงมาเป็น 8,424.02 ล้านบาท (4 ต.ค.2562) จาก 27,966 ล้านบาท (29 ธ.ค.2560) ลดลง 69.87% คิดเป็น Market Cap หดหายไปกว่า 19,541.98 ล้านบาท !!

วันแรกราคาหุ้น DDD 99 บาท จากราคาไอพีโอ 53 บาท เพิ่มขึ้น 86.79% ภายในวันเดียว แต่ปัจจุบันพบว่าราคา หุ้น DDD อยู่ที่ 26.00 บาท (10 ต.ค.2562) โดยปี 2561 ถือว่าหุ้น DDD ขึ้นไปทำราคา จุดสูงสุด (นิวไฮ) 121 บาท ( 12 ก.พ.2561) ราคา จุดต่ำสุด 15.10 บาท (21 ม.ค.2562) ราคาเฉลี่ย 40.60 บาท

ราคาหุ้น DDD ที่ปรับตัวลดลงนั้น คงหนีไม่พ้นจากผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2560-ไตรมาส 2 ปี 2562) บริษัทมี กำไรสุทธิ 351.06 ล้านบาท 181.41 ล้านบาท และ 3.41 ล้านบาท ขณะที่ รายได้ 1,684.38 ล้านบาท 1,303.98 ล้านบาท และ 416.61 ล้านบาท ตามลำดับ

ทั้งนี้ รายได้และกำไรสุทธิที่ปรับตัวลดลงเนื่องจากปัญหากำลังซื้อของคนจีนที่หายไปมาก และปัญหาส่งออกในจีน บริษัทต้องมีการปรับบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้ตรงกับใบอนุญาตที่ได้รับจากองค์การอาหารและยาแห่งประเทศจีน ซึ่งทำให้การขายชะลอลง และตลาดในประเทศเองได้รับผลกระทบจากข่าวการกวาดล้างตลาดค้าส่งสินค้าบำรุงผิวที่ไม่ได้มาตรฐานเมื่อเดือนเม.ย.2561

อีกหนึ่งเศรษฐีที่มีกระแสข่าวตัดขายหุ้น BEAUTY ในรอบปีที่ผ่านมา นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเมื่อปี 2555 โดย หมอสุวิน” มีรายชื่อติดลิสต์เศรษฐีไทยครั้งแรกเมื่อปี 2561 ในอันดับที่ 40 ตามมูลค่า Market Cap ที่เคยพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 63,357.70 ล้านบาท แต่บัดนี้กลายมาเป็น Market Cap 6,735.39 ล้านบาท (4 ต.ค.2562) หดหายไปกว่า 56,622.31 ล้านบาท !!

จากธุรกิจเครื่องสำอางจากร้านใต้บันไดที่โบนันซ่าเล็กๆ ใช้เงินลงทุนแค่ 4 แสนบาทจนมาเป็นบริษัทที่มี Market Cap แตะ 63,357.70ล้านบาท (1ธ.ค.2560) และเป็นถือว่าเป็นหนึ่งในหุ้นฮอตฮิต ที่พูดถึงอย่างมากแต่ปัจจุบันกลายมาเป็นหุ้นที่เหลือMarket Cap แต่ระดับ 6,735.39 ล้านบาท

ขณะที่ปัจจุบันราคาหุ้น BEAUTY อยู่ที่ 2.22 บาท (10 ต.ค.2562) และในปีนี้ทำ จุดสูงสุด 23.70 บาท (30 เม.ย.2561) ราคาต่ำสุด 2.20 บาท (10 ต.ค.2562) ราคาเฉลี่ย 8.79 บาท

สำหรับราคาหุ้น BEAUTY ที่ปรับตัวลดลง หนึ่งในสาเหตุใหญ่นั้น หนีไม่พ้นเรื่องของผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2560-ไตรมาส 2 ปี 2562) ที่ปรับตัวลดลง มีกำไรสุทธิ 1,229.32 ล้านบาท 991.59 ล้านบาท และ16.32 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่รายได้ 3,735.37 ล้านบาท 3,501.24 ล้านบาท และ 1,080.34 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่เจ้าพ่อสาหร่ายแบนด์เถ้าแก่น้อย อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ด แอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN เคยเข้ามาติดทำเนียบคนรวยที่สุดของไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2560 หลัง Market Cap อยู่ที่ 38,640.00 ล้านบาท และเมื่อปี 2561 เขาอยู่ในอันดับที่ 50 ของลิสต์เศรษฐีไทย ตาม Market Cap อยู่ที่ 28,842.00 ล้านบาท แต่ขณะนี้กลายมาเป็น Market Cap เหลือแค่ระดับ 15,594 ล้านบาท (4 ต.ค.2562) หดหายไปกว่า 13,240 ล้านบาท !!

ขณะที่ในแง่ของราคาหุ้น TKN ปัจจุบันอยู่ที่ 11.80 บาท (10 ต.ค.2562) และทำ จุดสูงสุด 23.10 บาท (25 พ.ย.2561) ราคาต่ำสุด 6.70 บาท (21 ม.ค.2562) ราคาเฉลี่ย 12.00 บาท

สำหรับราคาหุ้น BEAUTY ที่ปรับตัวลดลง หนึ่งในสาเหตุใหญ่นั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องของผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2560-ไตรมาส 2 ปี 2562) ที่ปรับตัวลดลง ซึ่งมีกำไรสุทธิ 608.44 ล้านบาท 459.18 ล้านบาท และ 179.74 ล้านบาท  ตามลำดับ ขณะที่รายได้ 5,283.13 ล้านบาท 5,697.41 ล้านบาท และ 2,599.08 ล้านบาท ตามลำดับ

เนื่องจากปีที่ผ่านมารายได้ของบริษัทมีการเติบโตลดลง หลังตลาดในประเทศได้รับผลกระทบเมื่อนักท่องเที่ยวจีนลดลงในช่วงตั้งแต่เดือนส.ค.-พ.ย.ของปี 2561 ส่วนตลาดต่างประเทศมีปัญหาการผิดสัญญาของผู้แทนจำหน่ายรายหนึ่งในประเทศจีนซึ่งทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

วินัย เตียวสมบูรณ์กิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป หรือ TFG ผู้ก่อตั้ง “ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป”ตั้งแต่ปี 2530 ติดลิสต์เศรษฐีไทยครั้งแรกในปี 2560 ตามมูลค่า Market Cap 29,123.56 ล้านบาท และเมื่อปี 2561 เขาอยู่ในอันดับ 47 ด้วยมูลค่า Market Cap 15,544.45 ล้าบาท แต่บัดนี้กลายมาเป็น Market Cap อยู่ที่ระดับ 20,075.11 ล้านบาท (4 ต.ค.2562) ขยับขึ้น 4,530 ล้านบาท !! แต่ลดลงจาก Market Cap เคยขึ้นไปสูงระดับ 29,123.56 ล้านบาท

ขณะที่ในแง่ของราคาหุ้น TFG ปัจจุบันอยู่ที่ 3.64 บาท (10 ต.ค.2562) และทำ จุดสูงสุด 5.95 บาท (11 ม.ค.2561) ราคาต่ำสุด 2.96 บาท (20 มี.ค.2562) ราคาเฉลี่ย 4.23 บาท

สำหรับราคาหุ้น TFG ที่ปรับตัวลดลง หนึ่งในสาเหตุใหญ่นั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องของผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2560-ไตรมาส 2 ปี 2562) ที่ปรับตัวลดลง ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,516.04 ล้านบาท 645.46 ล้านบาท และ 722.66 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 25,913.12 ล้านบาท 28,411.35 ล้านบาท และ 14,118.61 ล้านบาท ตามลำดับ

แม้ปีที่ผ่านมามีรายได้ 2.84 หมื่นล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อนหน้า แต่กำไรสุทธิ 645 ล้านบาท ลดฮวบลงถึง 57% เนื่องจากตลาดในประเทศซึ่งเป็นตลาดหลักมีกำลังซื้ออ่อนลง โดยเฉพาะเนื้อไก่ที่ราคาขายตกลง ท่ามกลางการแข่งขันสูงจากคู่แข่ง

157157256072

ธุรกิจดังเร่งฟื้นกำไร

ปิยวัชร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน บมจ.ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD เล่าว่า ผลดำเนินงานไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อยู่ในภาวะขาดทุน หนึ่งในสาเหตุหลักมาจากผลกระทบนักท่องเที่ยวลดลง โดยเฉพาะคนจีน โดยบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการ ส่งออก หลักๆ มาจากประเทศ จีน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย คิดเป็น 96% ของรายได้รวมจากตลาดส่งออกของบริษัทในปี 2561

ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทได้ ปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยการขยายธุรกิจในตลาดประเทศฟิลิปปินส์เมื่อช่วงปลายปี 2561 ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ของสเนลไวท์ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าในประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้บริษัทคาดว่าปี 2562 จะมีรายได้จากประเทศฟิลิปปินส์มากกว่า 100 ล้านบาท !

พร้อมกันนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการขยายตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่ม อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา และกัมพูชา เพื่อเป็นการสนับสนุนแผนการขยายตลาดในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมผลการดำเนินงานในอนาคตให้มีการเติบโตอย่างมั่นคง

นอกจากนี้ ยังได้ปรับกลยุทธ์การขายใหม่เป็นการขายให้กับร้านค้าปลีกแทน และให้ร้านค้าส่งกระจายไปที่ร้านค้าอื่นๆต่อ ซึ่งเข้ามาช่วยทดแทนตัวแทนกระจายสินค้ารายเดิม โดยบริษัทตั้งเป้าขยายการขายให้กับร้านค้าส่งราว 40 ราย

สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY คาดว่าผลประกอบการจะกลับมาเติบโตอีกครั้งในครึ่งปีหลัง หลังจากโมเดลธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ขยายตลาดต่างประเทศอื่นนอกจากจีน 2. มุ่งสู่การเป็น Consumer Product 3. การเดินหน้า E-commerce 4. ทำการตลาดสินค้า 5. เฟ้นหา Product Champion ที่มียอดขาย 100 ล้านบาทขึ้นไป และ 6. ควบคุมการเปิดสาขามากขึ้น

เรามาถึงจุดต่ำแล้ว และจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังเป็นต้นไป และจะเห็นได้ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้โดยเฉพาะการกระจาย สินค้าไปต่างประเทศ รวมถึงการเปิดตลาดสินค้าประเภทสุขภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันยอดขายและมาร์จินอย่างมีนัยสำคัญ

โดยสัดส่วนรายได้แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60% ต่างประเทศ 40% โดยการปรับกลยุทธ์โครงสร้างการจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนรายได้โดยขยายธุรกิจช่องทาง Non Retail ในประเทศ เดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อรักษาอัตรากำไรสุทธิที่ดีต่อเนื่อง เนื่องจากช่องทางดังกล่าวมีต้นทุนดำเนินการที่ต่ำ และเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงลดการพึ่งพิงตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไปโดยขยายสัดส่วนการขายช่องทางต่างๆ เพิ่มขึ้น

อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN บอกว่า งัดกลยุทธ์ ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง (Idol Marketing) ด้วยการดึงศิลปิน ดารามาเป็นพรีเซนเตอร์นั้นมีมาช้านาน แต่ก็ใช่ว่าจะทำปังหรือดังได้ทุกแบรนด์ ซึ่ง “เถ้าแก่น้อย” สามารถอ่านกลุ่มผู้บริโภคในตลาดได้ขาด โดยไม่ได้มองเฉพาะแค่ผู้บริโภคชาวไทยหรือเอเชีย หากแต่มองผู้บริโภคในระดับตลาดโลก

สำหรับกลยุทธ์การตลาดของแบรนด์เถ้าแก่น้อยว่า 1 ในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเถ้าแก่น้อยคือกลุ่มวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ ซึ่งชอบความสนุก ชอบทำกิจกรรม ไปกันเป็นทีม เพราะฉะนั้นเราจึงเลือกกลยุทธ์ “Idol Marketing” มาคอยกระตุ้นและสร้างความคึกคักให้ตลาดสแน็คอยู่ตลอดเวลา โดยการใช้ กลยุทธ์ “Idol Marketing” ของแบรนด์เถ้าแก่น้อยจึงเป็นเสมือนสะพานเชื่อมให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายรู้สึกใกล้ชิดกับไอดอลที่ตัวเองชอบมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เดือนเม.ย 2562 บริษัทแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ รุกตลาดสแน็กปลาหมึก ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ ในชื่อ เถ้าแก่น้อย ทินเท็น ปลาหมึกไข่เค็มครั้งแรกในเมืองไทย ด้วยการพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรม และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต

เพชร นันทวิสัย รองประธานสายงานฟาร์มและพัฒนาคุณภาพ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป หรือ TFG บอกว่า กรณีที่โรคอหิวาต์หมู (ASF) ระบาด จะส่งผลให้ราคาขายสุกรลดลง แต่อย่างไรก็ตามเบื้องต้นยังไม่สามารถระบุระดับราคาที่ชัดเจนได้ จะต้องขึ้นอยู่กับการแพร่กระจายและความกังวลของเกษตร โดยยอมรับว่าการที่ราคาขายสุกรลดลงนั้น จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากสุกรอยู่ที่ 30% ของรายได้รวม ขณะเดียวกันคาดปริมาณขายสุกรในปี 2562 จะทำได้มากกว่างวดปี 2561 ที่มียอดขายประมาณ 90,000 ตัน

ส่วนราคาขายไก่ในประเทศยังคงทรงตัวได้ในระดับที่ดี โดยแนวโน้มธุรกิจไก่ขณะนี้ยังไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้น ซึ่งราคาขายเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2562 อยู่ประมาณ 39 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาหมูยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความกังวลของเกษตรกรรายย่อยต่อโรคอหิวาต์หมู

ก่อนหน้านี้ บริษัทได้เข้าลงทุนบริษัท ฟูด เบลสซิ่ง (1988) จำกัด (เอฟบีซี) ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซอส เครื่องปรุงรส และเครื่องดื่ม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยใช้เงินลงทุน 280 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการเข้าซื้อแล้วเสร็จ โดยคาดบริษัทดังกล่าวจะมีรายได้ประมาณ 400 ล้านบาท และคาดว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นกว่าปี 2561 ที่ทำได้ 7 ล้านบาท