ทุน 'ฮ่องกง' หนีวิกฤติ แห่เข้าลงทุนไทย

ทุน 'ฮ่องกง' หนีวิกฤติ แห่เข้าลงทุนไทย

“บีโอไอ” จัดแผนโรดโชว์จีน-ฮ่องกง 10 ครั้ง “สมคิด” นำทีมบุกกวางตุ้ง-ฮ่องกง ถก 8 บริษัทฮ่องกงชั้นนำ ผู้ประกอบการนิคมฯ ชี้สถานการณ์ขัดแย้งเร่งตัดสินใจมาไทย

  • อ่านข่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับซีรีส์ข่าว "วิกฤติฮ่องกง" ที่นี่

ปมร้าว 'ม็อบฮ่องกง' สะเทือนเศรษฐกิจโลก

เช็คสถานะ 'ฮับการเงิน' ฮ่องกง ยุคขัดแย้งขั้นวิกฤติ

สัญญาณฮ่องกงช้อปคอนโดไทยเพิ่ม 'เซฟตี้โซน' กรณีฉุกเฉิน

การย้ายฐานการผลิตจากจีนและฮ่องกงเริ่มมีสัญญาณชัดเจนตั้งแต่สงครามการค้าที่เริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ทำให้คำขอรับส่งเสริมการลงทุนจากจีนและฮ่องกงปีที่แล้ว 168 โครงการ มูลค่าการลงทุน 68,903 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ยื่นคำขอมาแล้ว 113 โครงการ มูลค่าการลงทุน 31,893 ล้านบาท 

ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายดึงการลงทุนบริษัทต่างประเทศที่มีแผนย้ายมาอาเซียนด้วยการออกแพ็คเก็จไทยแลนด์ พลัส ซึ่งให้สิทธิเท่าการลงทุนใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งมีแผนโรดโชว์ชักจูงการลงทุนร่วมกันหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า การย้ายฐานการผลิตจากจีนและฮ่องกงในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉพาะช่วงครึ่งแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 170% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และอยู่ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายทั้งผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนพลาสติก เครื่องจักรและอุปกรณ์ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์

นอกจากนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนของบีโอไอในจีนทั้ง 3 แห่ง คือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ว่ามีนักลงทุนความสนใจมาหารือข้อมูลการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น40% แสดงถึงแนวโน้มความสนใจของนักลงทุนจีนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

รวมทั้ง มีบริษัทของชาติอื่นในจีนก็สนใจการย้ายฐานการผลิตมาไทยเช่นกัน เช่นไต้หวัน เกาหลีใต้ ซึ่งตั้งฐานการผลิตในจีนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐและได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ

157175341735

  • เตรียมแผนโรดโชว์ดึงลงทุน

นายนฤตม์ กล่าวว่า บีโอไอได้เตรียมแผนโรดโชว์บุกดึงการลงทุนจากจีนและฮ่องกงอีกกว่า 10 ครั้งในช่วง 1 ปีข้างหน้านี้ ทั้งระดับที่นำโดยรองนายกรัฐมนตรีและระดับสำนักงาน ซึ่งจะชูจุดขายที่ไทยที่อยู่ศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่ม CLMVT ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตสูง ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่ง และพื้นที่รองรับการลงทุน โดยเฉพาะอีอีซีและการมีฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนที่สมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาค 

รวมทั้งอยู่ในจุดที่เชื่อมโยงนโยบาย Belt and Road (BRI) ของจีน รวมทั้งเชื่อมโยงพื้นที่ที่เศรษฐกิจเติบโตสูง Greater Bay Area (GBA) ซึ่งครอบคลุมมณฑลกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า

ขณะที่อุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่ได้รับผลจากสงครามการค้าโดยตรง เช่น กิจการดิจิทัลและเทคโนโลยีชีวภาพ เริ่มมาลงทุนในไทยมากขึ้น เพราะเห็นโอกาสการลงทุนในไทย เช่น ศักยภาพของไทย และนโยบาย Belt and Road รวมทั้งต้นทุนการผลิตในจีนที่เพิ่มสูงขึ้น

  • มั่นใจแพ็คเก็จไทยแลนด์พลัส

นายนฤตม์ กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนการย้ายฐานจากจีนและฮ่องกงส่วนหนึ่งมาจากนโยบายสิทธิประโยชน์จูงใจ โดยบีโอไอเห็นว่าช่วงที่มีการย้ายฐานการผลิตจากสงครามการค้าเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการดึงการลงทุนอีกครั้งของไทย ซึ่งบีโอไอได้เสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ หรือ มาตรการไทยแลนด์พลัส

โดยกำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่เกิน 1,000 ล้านบาท พร้อมทั้งเร่งแก้ไขอุปสรรคที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน เช่น การสร้างความพร้อมของกำลังแรงงานด้วยการ Upskill และ Reskill แรงงานในระบบเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต การเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนเป็นรายประเทศ 

  • “สมคิด” นำทัพบุกจีน-ฮ่องกง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายสมคิด จตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเยือนมณฑลกวางตุ้งและฮ่องกง พร้อมบีโอไอและ สกพอ. ในวันที่ 20–25 ต.ค.นี้ เพื่อเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยในฐานะศูนย์กลางอาเซียนกับพื้นที่ GBA ของจีน โดย สกพอ.จะลงนามร่างบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง เพื่อพัฒนาอีอีซีร่วมกับมณฑลกวางตุ้งและพื้นที่ GBA ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

นอกจากนี้ นายสมคิด จะหารือความร่วมมือเศรษฐกิจกับนายหลี่ ซี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลกวางตุ้ง และนางแครี่ แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

รวมทั้ง หารือกับองค์กรธุรกิจในพื้นที่ GBA ได้แก่ สภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) ซึ่งมีสำนักงานที่กรุงเทพฯ และสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (Federation of Hong Kong Industries) และหารือบริษัทฮ่องกง 8 แห่ง คือ บริษัท Hairma (Nantong) Technology ,บริษัท Midea Group ,บริษัท Quantum Hi–Tech (China) Biological ,บริษัท Primax บริษัท Tymphany 

บริษัท King Wai Group ,บริษัท China Merchant Group ,บริษัท Advance Fiber Resources (Zhuhai) Ltd ,บริษัท Shenzhen Forms Syntron Information และเยี่ยมชมบริษัท Huawei Ox Horn Campus ในเมืองตงกว่าน