'พาณิชย์' งัด 7 มาตรการรับระงับ 'จีเอสพี'

'พาณิชย์' งัด 7 มาตรการรับระงับ 'จีเอสพี'

"พาณิชย์" เปิด 7 มาตรการรับมือระงับจีเอสพีสหรัฐ พร้อมแจงแผนถกสหรัฐหวังได้คืนสิทธิ ทั้งถกนอกรอบช่วงประชุมอาเซียนและกรอบความร่วมมือสองฝ่ายไทย-สหรัฐ

หลังนายดีโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศระงับการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือจีเอสพีแต่ไทย ซึ่งให้มานานตั้งแต่ปี 2519 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันแม้ก่อนหน้านี้จะมีการยกเลิกไปบ้างแล้วหลายรายการแต่ก็มีบางช่วงที่คืนสิทธิให้ ซึ่งการระงับการให้สิทธิในครั้งนี้ แม้จะดูเป็นเรื่องปกติมีหลักการและเหตุผลรองรับแต่เป็นการตัดสินใจประกาศในช่วงเวลาที่ไม่ปกติ

นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี)สินค้าไทยชั่วคราว มีผลในอีก6เดือนข้างหน้าว่ากระทรวงพาณิชย์ จะเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอคืนสิทธิโดยเร็วที่สุด ซึ่งไทยจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าแน่นอน 

คาดว่า จะหารือกับสหรัฐฯในระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิต ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพ.ย.นี้ เพราะสหรัฐฯจะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมอาเซียนในฐานะคู่เจรจาด้วย รวมทั้งจะเจรจาภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (ทิฟา) ด้วย

“หลังประชุมอาเซียนซัมมิต อาจพอมีเวทีคุยกันได้เบื้องต้น โดยสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แจ้งมาแล้วว่าจะให้เราจัดคณะไปคุยกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ก็ได้ หรือจะให้เขามาคุยที่ไทยก็ได้ ซึ่งการเจรจาจะทำความเข้าใจให้ดีที่สุด เพราะมีหลายมิติที่ต้องดู ไม่ใช่เรื่องการค้าอย่างเดียว แต่มีประเด็นแรงงานด้วย”

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าการให้สิทธิจีเอสพีเป็นการให้เพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนา ที่เข้าตามเงื่อนไขที่สหรัฐฯกำหนด และมีหลักในการทบทวนการให้สิทธิอยู่แล้ว เช่น ระดับการพัฒนาประเทศ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน 

ที่ผ่านมา สหรัฐฯมีทั้งตัดสิทธิและคืนสิทธิสินค้าให้ไทยมาอย่างต่อเนื่อง อย่างในปี 2561 ได้ตัดสิทธิสินค้าไทย และปี 2562 ก็เพิ่งจะคืนสิทธิให้ 7 รายการ ได้แก่ เลนส์แว่นตา, เห็ดทรัฟเฟิล, กล้วยไม้, ปลาดาบ, หนังดิบ, โกโก้และเครื่องดื่มช็อคโกแลต และเครื่องประกอบแรงดันไฟฟ้า 

สำหรับการตัดสิทธิสินค้าไทยครั้งนี้รวม 573 รายการนั้นไทยจะสูญเสียมูลค่าการได้รับสิทธิไปทั้งหมด40,000ล้านบาท เพราะต้องเสียภาษีนำเข้าอัตราปกติ (MFN Rate)เฉลี่ย4.5%คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน1,800ล้านบาท จากเดิมที่ไม่เสียภาษีเลย โดยกลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บอัตราภาษีสูงสุด คือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และเครื่องครัวเซรามิก ที่26%ส่วนสินค้าที่ถูกเรียกเก็บอัตราภาษีต่ำสุด คือ เคมีภัณฑ์ ที่0.1%

นายกีรติ กล่าวว่า การตัดจีเอสพีไทยครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ไทยประกาศห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด เพราะสหรัฐฯได้ส่งสัญญาณมาระยะหนึ่งแล้วว่าจะประกาศการตัดสิทธิไทยในช่วงปลายเดือนต.ค. หรือต้นเดือนพ.ย.นี้ 

ถกเอกชนรับมือมาก่อนแล้ว

ที่ผ่านมากรมหารือกับภาคเอกชนให้เตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยแนะนำให้หาตลาดใหม่รองรับ พร้อมกับต้องปรับกลยุทธ์ในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งเชื่อว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวได้ เพราะก่อนหน้านี้ ทั้งสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ก็ตัดสิทธิจีเอสพีไทยมาแล้ว และผู้ส่งออกไทยก็หาตลาดอื่นรองรับได้

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 62 ไทยใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกสินค้าไปสหรัฐ 3,234.38 ล้านดอลลาร์คิดเป็นการใช้สิทธิ 66.68%ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สหรัฐให้สิทธิไทย ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 61 มีมูลค่าการใช้สิทธิ 2,858.82 ล้านดอลลาร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตัดจีเอสพีครั้งนี้ เป็นเรื่องของสิทธิแรงงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมา ในช่วงที่ไทยแก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ยูเอสทีอาร์ได้พยายามกดดันให้ไทยแก้ไขกฎหมายตามประเด็นที่สหรัฐฯเรียกร้อง 7 ข้อ แต่ไทยดำเนินการตามได้ 5 ข้อ ส่วนที่ 2 ข้อ เช่น ขอให้แรงงานต่างด้าวในไทยตั้งสหภาพแรงงานนั้น ไทยไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะหากมีการประท้วง จะส่งผลกระทบต่อนายจ้าง และเศรษฐกิจของไทย โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงให้ยูเอสทีอาร์ทราบอย่างต่อเนื่องว่า ไทยดำเนินการไม่ได้ เพราะสหรัฐฯเองก็ยังดำเนินการไม่ได้เช่นกัน แล้วเหตุใดจึงกดดันไทยเพื่อแลกกับการให้จีเอสพี