เร่งอุตสาหกรรมชีวภาพเฟส 2 ลงทุน 'ฉะเชิงเทรา' 6.2 หมื่นล้าน
สศอ.เร่งผลักดันแผนอุตสาหกรรมชีวภาพเฟส 2 รอผังเมืองใหม่ เพิ่มพื้นที่ลงทุนใหม่ “ฉะเชิงเทรา” 6.2 หมื่นล้าน
การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยใช้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่นำร่องการลงทุน ซึ่งขณะนี้เริ่มขยายการลงทุนไปภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แนวทางการพัฒนาดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจประเทศและต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะเน้นไปที่การวางรากฐาน Bio-Circular-Green Economy ที่เป็นแนวโน้มการพัฒนาในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้มีการนำผลผลิตเกษตรมาใช้ให้เกิดมูลค่าสูงสุด
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย (2561-2570) เมื่อเดือน ก.ค.2561 ได้กำหนดให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์
การผลักดันที่ผ่านมาส่งผลให้ภาคเอกชนได้เข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพตามแผนครอบคลุม 8 พื้นที่ ตามที่ภาครัฐให้การสนับสนุน และล่าสุดมีเม็ดเงินลงทุนรวม 193,260 ล้านบาท โดยในระยะแรก 5 พื้นที่ มีเงินลงทุน 95,770 ล้านบาท และในระยะที่ 2 ได้เพิ่มอีก 3 พื้นที่ มีเงินลงทุน 97,490 ล้านบาท
ระยะแรกได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 5 พื้นที่ ได้แก่ 1.อีอีซี ครอบคลุม จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี และในจังหวัดนอกอีอีซี คือ จ.กำแพงเพชร จ.นครสวรรค์ และ จ.ขอนแก่น ส่วนในระยะที่ 2 ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ลพบุรี และ จ.อุบลราชธานี
สำหรับการลงทุนเศรษฐกิจชีวภาพในอีอีซี จ.ระยอง มีเม็ดเงินลงทุนไปแล้ว 5,740 ล้านบาท มี 2 โครงการ ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำยาล้างไต และโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ ซึ่งได้เริ่มลงทุนและดำเนินการผลิตแล้ว ส่วน จ.ชลบุรี มีเงินลงทุน 4,000 ล้านบาท มีโครงการ Palm Biocomplex แบ่งเป็น 2 เฟส ได้แก่ เฟส 1.โรงหีบน้ำมันปาล์มและโรงงานผลิตเมทิลเอสเทอร์จากน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ซึ่งได้ลงทุนและเปิดดำเนินการผลิตแล้ว และเฟส 2 โรงงานผลิตไบโอดีเซล กลีเซอรีน Surfactants และวิตามินอี
การลงทุนในเฟส 2 จ.ฉะเชิงเทรา กำหนดวงเงินลงทุน 62,500 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศเขตผังเมืองใหม่เพื่อขอประกาศเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมี 2 โครงการ คือ
1.ไบโอฮับเอเชีย ใช้เงินลงทุน 50,000 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างโรงงานผลิต Bio Energy, Bio Refinery, ยา เครื่องสำอาง และ Food & Feed for future
2.นิคมอุตสาหกรรมบลูโอลิโอเทค ซิตี้ ใช้เงินลงทุน 12,500 ล้านบาท ผลิตไบโอดีเซล กลีเซอรีน Bio-Hydrogenated Diesel (BHD) และ Bio-PCM (Phase Change Material) หรือสารเปลี่ยนสถานะใช้ในวัสดุก่อสร้าง
ส่วนการลงทุนนอกอีอีซี ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการลงทุนใน จ.กำแพงเพชร มีเงินลงทุน 10,000 ล้านบาท มี 5 โครงการ ได้แก่ โรงงานผลิต Dried yeast, Yeast extract, Furfural, เบต้ากลูแคนสำหรับอาหารและอาหารสัตว์
รวมทั้งการลงทุนที่ จ.นครสวรรค์ มีเงินลงทุน 41,000 ล้านบาท ครอบคลุมโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (เอ็นบีซี) แบ่งเป็น 2 เฟส ในเฟส 1 ได้ปรับพื้นที่และก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล กำลังการผลิตวันละ 6 แสนลิตร และโรงงานไฟฟ้าจากชีวมวล กำลังการผลิต 85 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ส่วนเฟส 2 จะผลิตเคมีชีวภาพ เช่น กรดอะมิโน, สารสกัดยีสต์, สารให้ความหวาน, อาหารฟังค์ชั่นนอล, วิตามินอี, เบต้ากลูแคน และพลาสติกชีวภาพ มีแผนดำเนินงานในปี 2565
การลงทุนในพื้นที่ จ.ขอนแก่น มีเงินลงทุน 35,030 ล้านบาท ได้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมไบโออีโคโนมี ประกอบด้วย 8 โครงการ เช่น โรงงานผลิต Yeast probiotics, เอนไซม์น้ำ, เอนไซม์ไฟเตส, Dried yeast, เบต้ากลูแคน, กรดแลคติก, สารให้ความหวาน และแป้งทนการย่อย
นอกจากนี้ การลงทุนใหม่กำหนดแผนในพื้นที่ จ.ลพบุรี มีเงินลงทุน 32,000 ล้านบาท โดยมีโครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ เพื่อผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย, เชื้อเพลิงชีวมวล, ปุ๋ยชีวภาพ, กรดแลกติก,ยีสต์ และเอนไซม์
ในขณะที่ จ.อุบลราชธานี มีเงินลงทุน 2,990 ล้านบาท โดยจะตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับสีผังเมืองของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งจะตั้งโรงงานผลิตอาหารทางการแพทย์ และชีวเคมีอินทรีย์ เช่น Organic maltodextrin, Organic sweetener, Organic Amino Acid, Organic Soluble Fiber สารสกัดจากพืช ผักและสมุนไพรอินทรีย์
รวมทั้งเพื่อให้อุตสาหกรรมชีวภาพของไทยมีความเข้มแข็ง และเป็นไปตามเป้าหมายที่จะยกระดับประเทศไทยให้เป็นไบโอฮับของอาเซียนภายในปี 2570 รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมใน 4 ด้าน ได้แก่
1.มาตรการขจัดอุปสรรคการลงทุน และสร้างปัจจัยสนับสนุน โดยการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย
ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้แล้วเสร็จจะเปิดทางให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นสินค้าชีวภาพต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว จากเดิมที่กำหนดให้นำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียว ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ออกประกาศเรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2562 และกรมโยธาธิการและผังเมืองก็ได้เร่งปรับปรุงผังเมืองรวม เพื่อเปิดให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมชีวภาพได้ง่ายขึ้น
2.มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ ครม.ได้ออกมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผลักดันมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพิ่มเติมในปี 2561 4 ฉบับ และในปี 2562 อีก 6 ฉบับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ
3.มาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ โดยกำหนดพื้นที่ส่งเสริมใน 8 จังหวัด
4.มาตรการสร้างเครือข่าย Center of Bio Excellence (CoBE) โดยเชื่อมโยงเครือข่ายด้านงานวิจัยชีวภาพ กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ พัฒนาศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะอุตสาหกรรมชีวภาพ