“3กูรู” ถอดบทเรียน ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ “เปลี่ยน” ก่อนถูกดิสรัป
เจาะหลักสูตร Digital Transformation for CEO รับมือโลกดิจิทัลเปลี่ยนเร็ว “ฐากูร” ระบุตลาดเปลี่ยน องค์กรต้องปรับ เชื่อดาต้าเซอร์วิสรายได้อนาคต “สโรจ”เผยดาต้าเคลื่อนธุรกิจ แนะธุรกิจเร่งสปีดรอด ขณะ"กรณ์"ชี้ สังคมสูงวัย ตื่นตัวสิ่งแวดล้อม เทรนด์ดิสรัปโลก
เมื่อ “ดิจิทัล” กลายเป็นส่วนหนึ่งสิ่งต่างๆ รอบตัว แทรกซึมและเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน เพื่อไม่ให้ตกขบวนหรือถูก“ดิสรัป” ภาคธุรกิจ จำเป็นต้อง “ทรานส์ฟอร์ม” องค์กรให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้บริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนไป
วานนี้ (30 ต.ค.) หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC จัดหลักสูตร Digital Transformation for CEO เช่นเคยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้คร่ำหวอดในหลากแวดวงธุรกิจมา“ถอดบทเรียน”การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ฝ่ากระแสดิจิทัล ดีสรัปชัน
นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เสวนาในหัวข้อ Media Disruption : How to Media Business Nest Move Towards Case Study : มติชน ว่า เป็นองค์กรสื่อยักษ์ใหญ่อายุ 42 ปี ต้องเผชิญการถูกดิจิทัล “ดิสรัป” แต่ธุรกิจสื่อค่อนข้างที่จะเจอศึกหนักมาก
“ดิจิทัล”กระทบหนักธุรกิจสื่อ
นายฐากูร ยังเล่าว่า ทันทีที่เข้ามารับบทผู้นำองค์กรในตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” คือปีที่ 2537-2538 เพื่อเคลื่อนธุรกิจสื่อ กลับต้องประสบภาวะการบริหารงานที่ “ขาดทุน” ต่อเนื่อง 3 ปี โดยเฉพาะปีที่ 3 ขาดทุนหนักกว่า 1 และ 2 ปีรวมกันด้วยซ้ำ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในการอ่านหนังสือพิมพ์เปลี่ยนไป จากกระดาษไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งปีที่ผ่านมาคนไทยใช้เวลาอินเตอร์เน็ตเสพสื่อสังคมออนไลน์ติดท็อป 10 ของโลก และมีแนวโน้มใช้เวลาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกใช้มือถือในการหาข้อมูลแทนคอมพิวเตอร์มากขึ้น เฉลี่ย 2.9 กิกกะไบท์ (GB)ต่อเดือน แต่คนไทยเฉลี่ย 9 GB ต่อคนต่อเดือน สวนทางกับยอดขายหนังสือพิมพ์ทั่วโลกที่ลดลง โดยในเอเชียมีเพียง 3 ประเทศ ที่ยอดขายเพิ่ม ได้แก่ จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ตามการเติบโตชนชั้นกลาง
ในอดีตปี 2550 หนังสือพิมพ์ในไทยเคยมียอดขายรวมกันสูงสุดแตะ 2.2 ล้านเล่มต่อวัน แต่ปัจจุบันแตะ 1 ล้านเล่มถือว่ายากมาก ส่วนคนที่ยังอ่านหนังสือพิมพ์ล้วนอายุ 40 ปีขึ้นไป และเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการซื้อสื่อโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ด้วย
ตลาดเปลี่ยน-ธุรกิจต้องปรับ
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยปี 2557 บริษัทเริ่มปรับโครงสร้างองค์กรทยอยยกเลิกการผลิตสิ่งพิมพ์เอง ปิด 3 โรงพิมพ์ รวมถึงยุติธุรกิจสายส่ง จนต้องลดพนักงานจากทั้งเครือ 1,800 คน เหลือ 886 คน(ณ 30 ต.ค.2562) พร้อมโยกการผลิตและสายส่งไปยังบริษัทข้างนอกหรือเอาท์ซอร์สแทน
“เมื่อตลาดเปลี่ยน คุณไม่มีสิทธิ์ยืนบนภูเขา แล้วชูธงบอกว่าคุณทำของดี มีคุณภาพ แล้วลูกค้า ผู้อ่านต้องมาง้อ มาเอาใจ เพราะตลาดไม่ได้คิดอย่างนั้น ไม่สนใจ ดังนั้นเมื่อตลาดเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนตามตลาด แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ง่าย เพราะการการปฏิบัติเมื่อมีผู้ประสบเคราะห์กรรม คือพนักงานระดับล่าง การเปลี่ยนทำให้น้ำตาตกใน”
“ดาต้าเซอร์วิส”รายได้อนาคต
ปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจของมติชน ประกอบด้วย 1.ออนไลน์โดยทั้งเครือมีคอนเทนท์เสิร์ฟคนอ่านเฉลี่ย 800-1,000 ข่าวต่อวัน 2.หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ต่างๆ 3.การจัดอีเวนท์ ซึ่งจะเพิ่มจำนวนงานมากขึ้น 4.การอบรมสัมมนา จากเดิมจัดให้กับพนักงานในเครือ แต่ปัจจุบันเปิดรับคนภายนอกด้วย และ5.การบริการด้านข้อมูลหรือดาต้า เซอร์วิส เนื่องจากทั้งเครือมีฐานข้อมูลคนอ่านนับ 10 ล้านคน ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่า อนาคตจะนำไปต่อยอดสร้างรายได้จากการขายโฆษณามากขึ้น เชื่อว่าดาต้าเซอร์วิส จะสร้างรายได้ให้กับบริษัทในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล แต่ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคเกิดขึ้นตลอดเวลา ล่าสุดพบว่าเทรนด์การรับชมวิดีโอมาแรง เห็นได้จากการนำเสนอข่าวบางชิ้น มีคนอ่าน 2 หมื่นวิว เมื่อทำเป็นคลิปวิดีโอ สัมภาษณ์แบบเจาะลึก พบว่ายอดการรับชมทะลุ 2 ล้านวิว มากกว่าการอ่าน 100 เท่าตัว ทำให้บริษัทเตรียมลงทุนซื้อไอโฟน 11 โปร เพื่อให้พนักงานถ่ายคลิปในการนำเสนอข่าวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเดินหน้าปรับโครงสร้างพนักงาน โดยจะลดอายุคนทำงานให้เฉลี่ยต่ำกว่า 35 ปี จาก 37 ปี
“ฐากูร” ชี้ธุรกิจอย่าหยิ่งต้องง้อโลก
“ประสบการณ์ 30 ปี สอนเราว่าอย่าหยิ่ง โลกไม่ง้อคุณ มีแต่คุณต้องง้อโลก วันนี้เราต้องตามโลกให้ทัน ดูว่าพฤติกรรมผู้บริโภคทำอะไร แล้วเราต้องไปอยู่ตรงนั้น สื่อมีกี่แพลตฟอร์ม เราต้องทำคอนเทนท์ป้อนทุกสื่อ ส่วนนักข่าว ช่างภาพยุคนี้ต้องมีความหลากหลายหรือมัลติ เหล่านี้ถือเป็นบทเรียนส่วนหนึ่งของคนที่ตายไปแล้วและตะกายขึ้นมา ซึ่งการปรับตัวยังไม่เสร็จสิ้น ต้องทำต่อเนื่อง เพราะโลกธุรกิจยุคนี้เปลี่ยนเร็วและแรง”
“กรณ์”ชี้สังคมสูงวัยเทรนด์แรงดิสรัป
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย เสวนาในหัวข้อ Do or Die : How To Win With Trasformation กล่าวว่า การทรานส์ฟอร์มหรือเปลี่ยนแปลงมีหลายระดับ ได้แก่ ระดับประชาชน องค์กร และภาครัฐ หากสังเกตการเปลี่ยนแปลงจะพบว่าภาคประชาชนมีการตื่นตัวมากสุด ตามด้วยภาคธุรกิจปรับ เช่น เครือเนชั่น มีการทรานส์ฟอร์ม ให้ความสำคัญกับดาต้าเซอร์วิสมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐของไทยยังเผชิญอุปสรรคในการทรานส์ฟอร์มหลากหลายด้าน โดยเฉพาะสิ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายต่างๆดำเนินการได้ล่าช้ามักจะมาจากกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ
ทั้งนี้ อดีตการเปลี่ยนแปลงมักมองแค่การปรับองค์กรให้ทันสมัย ปรับกระบวนการทำงาน ผลิตแบบเดิมๆหรือรี-เอ็นจิเนียริ่ง แต่ต้องทำการสร้างใหม่หรือรีอินเวนท์ ไม่เช่นนั้นจะแข่งขันไม่ได้ในยุคนี้
สำหรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลกระทบต่อโลกและประเทศไทยในอนาคต เช่น 1.การตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีเกรต้า ธันเบิร์ก ที่ต่อต้านโลกร้อน ทำให้ประชากรประเทศสวีเดนรณรงค์ลดการเดินทางโดยเครื่องบิน ประเด็นดังกล่าวยังอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทย หากชาวสวีเดน 1 ล้านคนลดเดินทางมาไทยน้อยลง 2.ความท้าทายของลักษณะประชากรศาสตร์ ซึ่งอนาคตจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น ในไทย รัฐบาลมีการเตรียมงบประมาณ 15% ของจีดีพี เพื่อดูแลผู้สูงอายุ 10 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นข้าราชการราว 2 ล้านคน ที่ได้รับเงินบำนาญหลังเกษียณ 2 หมื่นบาทต่อคนต่อเดือน หรือราว 70% ของงบประมาณ ส่วนประชาชนสูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพ 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ในปี 2563 คาดว่าจะต้องใช้งบ 2.5 ล้านล้านบาท รัฐจะหาเงินรายได้มาดูแลอย่างไร 3.การทรานส์ฟอร์มของรัฐบาล แต่ยังดำเนินการยาก อย่างที่ผ่านมาการเลือกตั้งส.ส.ต้องมาจากประชาชน ส.ส.ทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี แต่ไทยยังมีส.ว.ทำหน้าที่เลือกนายกฯ สวนทางกับระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก เป็นต้น
ธุรกิจต้องเป็นปลาใหญ่ติดสปีด
นายสโรจ เลาหศิริ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด และผู้ร่วมก่อตั้ง แรบบิท’ส เทล ในเครือ ดิจิทัล กรุ๊ป กล่าวในหัวข้อ Media Disruption : How the Media Agency Must Move Towards Case study : Rabbit Tale ว่า 10 ปี ของการดำเนินธุรกิจดิจิทัลเอเยนซี บริษัทถูกดิจิทัลดิสรัปไม่แพ้กัน และต้องทรานส์ฟอร์มองค์กร 3 รอบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนจากผู้ให้บริการและพัฒนาเว็บไซต์ออนไลน์ ไปสู่บริการดิจิทัลเอเยนซีเต็มรูปแบบหรือดิจิทัล เอเยนซีฟูลเซอร์วิส แต่เมื่อยักษ์ใหญ่เอเยนซีทั่วโลกมองเห็นโอกาสธุรกิจเหมือนกัน จึงปรับตัวด้วยการขยายงานให้หลากหลาย มีพีอาร์ มีธุรกิจสื่อในมือ ทำงานตอบสนองความต้องการลูกค้าให้กว้างมากขึ้น ต่างจากคู่แข่งที่ทำงานในเชิงลึก
ล่าสุด เมื่อเทรนด์ดาต้าเป็นทุกสิ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจ และบริษัทดาต้า ที่ปรึกษายักษ์ใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น เอคเซนเชอร์ ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ ฯ เข้าซื้อกิจการที่เป็นเอเยนซี บริษัทจึงปรับตัวสู่การเป็นอีโคซิสเทมรองรับการแข่งขัน
“เมื่อดาต้า ดิสรัปทุกสิ่ง และพฤติกรรมผู้บริโภคมีการผลิตดาต้ามากขึ้นทุกวันเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 6 หน้า A4 ต่อคน และการโอนถ่ายดาต้าครึ่งโลกเกิดขึ้นบนเฟซบุ๊ค กูเกิล ยุคนี้ธุรกิจจึงต้องทำตัวเป็นปลาใหญ่ที่ติดสปีด เพราะการจัดการกับดาต้ามหาศาล จะถือเป็นโอกาสของยักษ์ใหญ่ให้กลับมาอีกครั้ง จากที่ผ่านมาปลาเร็วกินปลาช้า