หุ้น 'สตาร์' นักลงทุนVI 'อินเตอร์ ฟาร์มา'

หุ้น 'สตาร์' นักลงทุนVI 'อินเตอร์ ฟาร์มา'

เหตุใด 'อินเตอร์ ฟาร์มา' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ เข้าซื้อขาย 5 พ.ย.นี้ ราคา 7 บาท ถึงขึ้นแท่น 'ขวัญใจ' ของเหล่า 'นักลงทุนวีไอ' เจ้าของตัวจริง 'ดร.ทรงวุฒิ ศักดิ์ชลาธร' ชูจุดเด่นเป็นธุรกิจเทรนด์ของโลกยุคใหม่ หลังพฤติกรรมผู้บริโภครักสุขภาพมากขึ้น !

เวลานี้ หุ้น อินเตอร์ ฟาร์มา หรือ IP ผู้ประกอบธุรกิจด้านการพัฒนา คิดค้น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพและนวัตกรรมความงานสำหรับคน และผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์กลายเป็น 'จุดรวมพล' ของ 'นักลงทุนเน้นคุณค่า หรือ วีไอ' อ้างอิงตามสัดส่วนการถือหุ้น IP ที่บริษัทนำเสนอผ่าน 'หนังสื่อชี้ชวนการลงทุน' (ไฟลิ่ง) 

พบรายชื่อ 'แพท-ภาววิทย์ กลิ่นประทุม' นักลงทุนอิสระ เข้าถือหุ้น 6,976,600 หุ้น  คิดเป็น 3.39% 'หยง-ธำรงชัย เอกอมรวงศ์' เทรดเดอร์มืออาชีพ เข้าถือหุ้น 5,977,200 หุ้น  คิดเป็น 2.90% 'คเชนทร์ เบญจกุล' นักลงทุนหุ้นอาชีพ เข้าถือหุ้น 3,200,000 หุ้น คิดเป็น 1.55% และ 'ชูรัชฎ์ ชาครกุล' ลูกชายของ 'ไชยยันต์ ชาครกุล' ผู้ก่อตั้ง บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ หรือ LALIN เข้าถือหุ้น 500,000 หุ้น คิดเป็น 0.24% (ตัวเลข ณ หลังเสนอขายหุ้น IPO)  

'อินเตอร์ ฟาร์มา' เป็นธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์ของโลก ที่ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคมุ่งดูแลสุขภาพเชิงป้องกันโรค...! มากขึ้น ฉะนั้น จึงเป็น “โอกาส” ของบริษัทในการสร้างการเติบโต สอดคล้องกับความต้องการ (ดีมานด์) การจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพื่อดูแลสุขภาพมากขึ้น สะท้อนผ่านตลาดเสริมอาหารและวิตามินในไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2562-2566) เติบโตเฉลี่ย 9.1% ต่อปี   

ด้วย 'ปัจจัยบวก' ดังกล่าว กำลังส่งผลดีต่อหุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 46 ล้านหุ้น คิดเป็น 22.33% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ราคาหุ้นละ 7 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท ได้เงินระดมทุน 304.48 ล้านบาท

โดยผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ผลิตภัณฑ์สุขภาพและนวัตกรรมความงามสำหรับคน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์รักษาสุขภาพและชะลอวัย (Wellness and Anti-Aging Products) 2.ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมความงาม (Aesthetic Innovation Products) 3.ผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับสัตว์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลและส่งเสริมสุขภาพของสัตว์เลี้ยง (Companion Animal Health Products) และ 4.ผลิตภัณฑ์สำหรับปศุสัตว์ (Livestock Products) 

'ดร.ทรงวุฒิ ศักดิ์ชลาธร' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา หรือ IP และผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 51.12% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้น IPO) บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า รู้จักกันมานานแล้ว ซึ่ง 'ภาววิทย์-ธำรงชัย-คเชนทร์' เข้าถือหุ้น IP ตั้งแต่ปี 2560 ครานั้น 'ภาววิทย์' เคยพูดว่า 'ผมยังไม่มีแนวคิดขายหุ้น IP ตั้งใจจะถือหุ้นลงทุนในระยะยาว ประกอบกับธุรกิจ IP ก็ยังอยู่ในเทรนด์ของโลกที่มีการเติบโต รวมทั้งที่ผ่านมาบริษัทมีการจ่ายเงินปันผลทุกปี' ซึ่งตั้งแต่เข้ามาถือหุ้นเขาไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานเลย 

นอกจากนี้ ในวันที่โรดโชว์มีนักลงทุนวีไอเข้ามาฟังผมพูดเต็มห้องกว่า 40 คน (ถามกันหนักมากต้องต่อเวลาออกไปร่วมชั่วโมง) ซึ่งวันนั้นผมจึงได้รู้ว่ามีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามานั่งฟังในห้องด้วย 'ส่วนตัวเราชอบนะนักลงทุนวีไอแท้ เพราะพฤติกรรมการลงทุนจะเป็นแบบเป็นเจ้าของกิจการนั้นจริง นั้นแสดงว่าเขาสนใจในธุรกิจของเราจริงๆ และพร้อมที่จะเติบโตไปกับบริษัท เขาไม่ได้มองแค่ราคาหุ้น !'

ตอกย้ำด้วยว่าหุ้น IP เป็นแหล่งรวมพลของนักลงทุน สะท้อนจากหลังเข้าซื้อขายในตลาดหุ้น จะมีนักลงทุน 2 ราย คือ 'พิริยรัชต์ ภัทรกิตต์เกษม' และ 'ทวีรัช ปรุงพัฒนสกุล' โดยผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจงจะซื้อหุ้นเดิมของบริษัทจากผู้ถือหุ้นเดิมบางส่วนซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ได้ถูกห้ามขายตามระยะเวลาที่กำหนด (Silent Period) ในวันแรกที่หุ้นของบริษัทเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot) ในราคาหุ้นละ 7 บาท ซึ่งภายหลังการซื้อขายหุ้นระหว่างกันแล้ว ผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจงทั้ง 2 ราย จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 2-3 ของบริษัท   

'หลังบริษัทเข้าระดมทุนแล้วจะมีนักลงทุนวีไอรายใหญ่เข้ามาถือหุ้นเราเพิ่มอีก 3-4 ราย ซึ่งจะเป็นการซื้อหุ้นต่อจากผู้ถือหุ้นเดิม คาดว่าหุ้นผมน่าจะเป็นรวมดาววีไอเพราะว่าเราอยู่ในธุรกิจเทรนด์ของโลก' 

ซีอีโอ IP บอกต่อว่า การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้แน่นอนว่าบริษัทต้องมีเงินลงทุนเพื่อไปขยายธุรกิจ สะท้อนผ่านเงินระดมทุนเสนอขาย IPO จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนการดำเนินจำนวน289.48 ล้านบาท และ จำนวน 15 ล้านบาท เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น โดยแบ่งเป็นการชำระคืนเงินกู้ยืมกรรมการของบริษัทจำนวน 9 ล้านบาท การชำระคืนเงินกู้ยืมบุคคลอื่นของบริษัทย่อยจำนวน 6 ล้านบาท หากพิจารณาการเติบโตขององค์กรแห่งนี้พบว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2559-2561) มีกำไรสุทธิ 20.07 ล้านบาท 18.91 ล้านบาท และ 29.06 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวม 125.27 ล้านบาท 247.69 ล้านบาท และ 316.93 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่ามีการเติบโตทุกปี ! 

ทว่า หลังจากบริษัทมีเงินระดมทุนแล้ว เชื่อว่าบริษัทจะมีการเติบโตอย่าง 'โดดเด่น' ได้ในอนาคต ด้วย 'จุดเด่น' มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจโดยคิคค้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมีคุณภาพสูงที่แตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น เงินลงทุนทำให้ขีดความสามารถขยายช่องทางขายออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนาและเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งเพื่อสร้างตราสินค้า 'INTERPHARMA' ให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในวงกว้างเพื่อสร้างการเติบโตแบบ 'ก้าวกระโดด' หลังจากได้รับการยอมรับอย่างมากในวงการแพทย์และเภสัชกรรมในช่องทางจำหน่ายผ่านโรงพยาบาล คลีนิกชั้นนำ และศูนย์สุขภาพชะลอวัย ทั้งในคนและสัตว์ ซึ่งตรงนั้นผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นเบอร์ 1   

ทว่าเมื่อปี 2561 บริษัทขยายฐานลูกค้าใหม่เข้ามาใน 'กลุ่มลูกค้าทั่วไป' ด้วยการขยายช่องทางการจำหน่ายเข้าไปใน 'ร้านค้าปลีกสมัยใหม่' (โมเดิร์นเทรด) และช่องทางออนไลน์ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้จะนำสินค้าของบริษัทและบริษัทย่อยไปจำหน่ายหรือให้บริการต่อแก่ลูกค้าของตนที่เป็นผู้บริโภคสุดท้าย (End-Users) ซึ่งถือว่าเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มยอดขายของบริษัทให้มีการเติบโตอีกมากในระยะยาว   

'จากความสำเร็จของการขยายช่องทางจำหน่ายเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงโดยตรงไปยังร้านขายยาและร้านค้าปลีกสมัยใหม่'

อีกทั้งบริษัทกำลังขยายตลาด 'ต่างประเทศ' เช่น เกาหลี จีน ญี่ปุ่น และอื่นๆ สะท้อนผ่านล่าสุดได้รับการรับรอง และวางจำหน่ายแล้วที่ประเทศเกาหลี และผลิตภัณฑ์สำหรับปศุสัตว์ ที่ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อย ได้แก่ MaxiGut Powder , MaxiMune Solution และ OCLAY ที่ลดการใช้ยาปฎิชีวนะบนพื้นฐานแนวคิดอาหารปลอดภัย (Food Safety) ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้เลี้ยงสุนัขและแมว กลุ่มธุรกิจผลิตอาหารสัตว์และฟาร์มปศุสัตว์ 

สำหรับเป้าหมายธุรกิจภายใน 5 ปีข้างหน้า (2563-2567) จะก้าวสู่ผู้นำการคิดค้นและนำเสนอผลิตภัณฑ์สุขภาพที่แตกต่าง ด้วยประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพื่อการป้องกันและรักษาโรค การมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น และชะลอวัย ภายใต้การขับเคลื่อนธุรกิจที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ด้วยแนวคิด 'VALUE YOUR LIFE' ที่เชื่อว่าคุณค่าของชีวิตคือ สุขภาพที่ดีและการมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีสมดุลในระบบร่างกาย โดยใส่ใจในทุกรายละเอียดขั้นตอน ตั้งแต่ การคิดค้นและนำเสนอผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพดีเยี่ยม

'เรามีเป้าหมายเป็นบริษัทชั้นนำในการนำเสนอผลิตภัณฑ์สุขภาพที่แตกต่าง เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงเพื่อดูแลสุขภาพและชะลอวัยจากภายในสู่ภายนอก ดังนั้น การสร้างการเรียนรู้ในผลิตภัณฑ์ของบริษัทจึงเป็นสิ่งที่บริษัทต้องเร่งดำเนินการ'

'จุดแข็ง' ของธุรกิจ ข้อแรก เป็นผู้นำในการเสนอผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ดี  ชะลอวัย และความงาม รวมทั้งมีแบรนด์สินค้าที่เข้มแข็งภายใต้ชื่อ INTERPHARMA ที่มีการคิดค้น พัฒนา และนำเสนอผลิภัณฑ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน ข้อสอง มีการค้นคว้า และพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่หลากหลาย มีมาตรฐานระดับนานาชาติ และมีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในตลาด ข้อสาม ผลิตภัณฑ์ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และได้รับการยอมรับในวงการแพทย์และเภสัชกรรมใช้ในโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ ,คลินิก  และศูนย์สุขภาพที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง

ข้อสี่ มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่กลุ่มคนรักสุขภาพ ทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพและนวัตกรรมความงาม และผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ ข้อห้า มีช่องทางการจัดจำหน่ายในประเทศที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย ข้อหก ผู้บริหารมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจมาเป็นเวลานาน รวมทั้งมีทีมงานเภสัชกรและสัตวแพทย์ที่มีความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ต่างๆ ข้อเจ็ด มีระบบการบริหารคลังสินค้า การจัดส่ง การกระจายสินค้า และการรับชำระเงินค่าสินค้าที่ดี จากการเป็นพันธมิตรกับบริษัทผู้นำด้าน Logistic การจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย และข้อแปด บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม และคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท 

สำหรับ 'ความเสี่ยง' ในการประกอบธุรกิจ ประกอบด้วย ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสความนิยมของผู้บริโภค และการคาดการณ์อุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ที่คลาดเคลื่อน ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของรายได้จากผลิตภัณฑ์หลัก ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงผู้รับจ้างผลิตภายนอก ความเสี่ยงจากการสูญเสียการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงผู้กระจายสินค้ารายใหญ่ ความเสี่ยงจากการบริหารสินค้าคงเหลือ ความเสี่ยงจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่ปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงจากการแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม

ท้ายสุด 'ดร.ทรงวุฒิ' ทิ้งท้ายไว้ว่า หลังมีเงินระดมทุนการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายเข้าสู่ร้านโมเดิร์นเทรด และช่องทางออนไลน์ จะทำได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งกลุ่มลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายและสามารถจดจำเครื่องหมายการค้า INTERPHARMA เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาวให้แก่บริษัท พร้อมรุกขยายตลาดไปต่างประเทศควบคู่กันไปด้วย