เปิด 'เอ็มโอยู' 4 ฉบับ ไทยลงนามกับจีนวันนี้
ไทยลงนาม "เอ็มโอยู" กับจีนวันนี้ เปิดข้อมูล 4 ฉบับ ครอบคลุมวิทยาศาสตร์การทหาร นวัตกรรม ลุ่มน้ำโขง และ อีอีซี
วันนี้ (5พ.ย.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเปิดทำเนียบรัฐบาล ต้อนรับการมาเยือนของ นายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit)
โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีทั้งสองจะร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ด้านต่าง ๆ
ฉบับที่ 1 เป็นหนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ระหว่างกระทรวงกลาโหมกับคณะกรรมการบริหารงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะลงนามโดยกระทรวงกลาโหม (กห.) ที่มอบหมายให้ผู้อำนวยการศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหารเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยในร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ร่วมกับฝ่ายจีน
สาระสำคัญของหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและร่วมมือกันเสริมสร้าง ขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และขยายความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างกันภายใต้กรอบของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ของแต่ละประเทศ และพันธสัญญาที่ทั้งสองประเทศได้ทำร่วมกัน
โดยรูปแบบของความร่วมมือ เช่น ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศและข้อมูลทางเทคนิค และผลงานวิจัยพัฒนาการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่เทคนิค การจัดสัมมนา การประชุม และการฝึกอบรมร่วมกัน ประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดทำร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ จะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของทั้งสองฝ่าย ซึ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านการทหารที่จะนำไปสู่การยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศในอนาคต
ฉบับที่สอง เป็นบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการ และนวัตกรรม ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่รัฐบาลไทย มอบหมายให้ นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สาระสำคัญของเอ็มโอยูฉบับนี้ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมบนหลักของการต่างตอบแทนและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ข้อริเริ่มเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
โดยมีความร่วมมือ 11 สาขา ได้แก่ 1.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2.เทคโนโลยีการเกษตร 3.เทคโนโลยีชีวภาพและวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4.เทคโนโลยีพลังงาน 5.เทคโนโลยีวัสดุและการผลิต 6.เทคโนโลยียานยนต์และรถไฟความเร็วสูง 7.เทคโนโลยีการบินและอวกาศ 8.นโยบายด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม 9.การถ่ายทอดเทคโนโลยี 10.โครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่มีพรสวรรค์ และ 11. สาขาอื่น ๆ ซึ่งอาจเห็นพ้องร่วมกัน
รวมทั้งขอบเขตความร่วมมือครอบคลุม 5 รูปแบบ ได้แก่ 1.การวิจัยและพัฒนาร่วม 2. การแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ ผู้ชำนาญการ และนักวิจัย 3.การแลกเปลี่ยนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และประสบการณ์ความเป็นผู้ประกอบการ 4. การประชุมทางวิชาการ หลักสูตร การประชุมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนา การฝึกอบรม การฝึกงานวิจัยและการดูงานของกลุ่มเป้าหมายร่วมกัน และ 5.รูปแบบอื่น ๆ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตัดสินร่วมกัน
ฉบับที่ 3 เป็นบันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ที่ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ลงนาม มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการในการบริหารจัดการงบประมาณของโครงการอบรมการยกระดับการพัฒนานโยบายอุตสาหกรรมสำหรับประเทศในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Training on Enhancement of Industrial Policy Development for Lancang-Mekong Countries) ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงอุตสาหกรรมขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC Special Fund) ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation : MLC) จำนวนเงิน 450,000 หยวน หรือประมาณ 2 ล้านบาท
โดยโครงการฯ เป็นการอบรมเจ้าหน้าที่/ข้าราชการระดับกลางจากประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เนื้อหาการอบรมที่สำคัญ เช่น สถานะด้านอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สำคัญ แนวทางส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น และจะเป็นกลไกในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันของประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง
รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างหน่วยงานปฏิบัติอันจะเป็นประโยชน์ต่อการประสานงานด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันในอนาคต ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
ฉบับที่ 4 เป็นบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง ที่ให้ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี เป็นผู้ลงนามของฝ่ายไทย
มีสาระสำคัญเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน ได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับมณฑลกวางตุ้งและเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ความร่วมมือในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้านการวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม รวมทั้งด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์