ร้องผู้ตรวจฯชงศาล รธน.-ศาล ปค.ชี้ขาด ปม MOU44 หวั่นซ้ำรอย 'เขาพระวิหาร'

ร้องผู้ตรวจฯชงศาล รธน.-ศาล ปค.ชี้ขาด ปม MOU44 หวั่นซ้ำรอย 'เขาพระวิหาร'

หวั่นซ้ำรอยเขาพระวิหาร! 'สนธิญา' ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาล รธน.-ศาลปกครองชี้ขาด ให้รัฐบาลเลิก 'MOU44' ป้องกันเสียดินแดน 'เกาะกูด'

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2567 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสนธิญา สวัสดี ยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง กรณีกล่าวหา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีการกระทำตามบันทึกข้อตกลงทำความเข้าใจพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างรัฐบาลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของราชอาณาจักรไทยกับรัฐมนตรีอาวุโสแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "MOU44"

นายสนธิญา กล่าวว่า เรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 ในทันที เพราะประเทศไทยมีสนธิสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส 1907 กำหนดให้เกาะกูดเป็นแผ่นดินของสยาม และเรามีอนุสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยเขตแดนในทะเลซึ่งประเทศกัมพูชาไม่ได้อยู่เป็นสมาชิกเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเลนั้น จึงเกิดคำถามว่าวันนี้เราตกลงกับใครอยู่ ซึ่งการไปเซ็น MOU หรืออะไรก็ตามระหว่างประเทศที่ถือเป็นสัญญาฉบับหนึ่ง ต้องไปดูรัฐธรรมนูญ 2544 มาตรา 1 เขียนไว้ชัดเจนว่าประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวแบ่งแยกไม่ได้ มาตรา 6 บัญญัติว่าการที่กฎหมายหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จะบังคับใช้มิได้ แต่รัฐบาลทักษิณในขณะนั้นก็ได้ดำเนินการไปแล้วโดยไม่รู้ว่าใช้กฎหมายอะไร

ร้องผู้ตรวจฯชงศาล รธน.-ศาล ปค.ชี้ขาด ปม MOU44 หวั่นซ้ำรอย \'เขาพระวิหาร\'

นายสนธิญา กล่าวว่า แต่เมื่อมาถึงรัฐบาลนี้จะตั้งคณะกรรมการเพื่อที่จะเจรจากับกัมพูชาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งก็อาจจะจริงว่าไม่เกี่ยวกับเกาะกูด แต่มีคำถามว่าได้มีการยกเลิกเส้นแดงที่กัมพูชามีการขีดคร่อมเกาะกูดแล้วหรือยัง หากยังไม่ยกเลิกก็จะถือว่ายังมีปัญหาเส้นแดงที่ขีดทับเกาะกูดอยู่ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 1 ก็บัญญัติเหมือนรัฐธรรมนูญ 2544 ที่ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบ่งแยกไม่ได้

นายสนธิญา กล่าวอีกว่า จึงถามกลับไปที่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ว่ากรณีที่จะเจรจากับกัมพูชา ใช้กฎหมายอะไร รัฐธรรมนูญมี 2 มาตราที่อ้างพระราชอำนาจในการที่ให้บุคคลไปเซ็นเกี่ยวกับอาณาเขตของแผ่นดินรัฐบาลได้ดูครบถ้วนแล้วหรือไม่ในการทำแบบนี้ ตนไม่เห็นด้วยจึงมายื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นการใช้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมทั้งให้ส่งศาลปกครองในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไปทำบันทึกข้อตกลงที่มีการแบ่งแยกเกาะกูด ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 1 และมาตรา 5 และมาตรา 1 และมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 2544 แต่หากครบกำหนดเวลาแล้วผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ดำเนินการ ตนก็จะยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง

ร้องผู้ตรวจฯชงศาล รธน.-ศาล ปค.ชี้ขาด ปม MOU44 หวั่นซ้ำรอย \'เขาพระวิหาร\'

"ผมถือว่ากระบวนการนี้ทั้งรัฐบาลของนายทักษิณ และรัฐบาลแพทองธาร ไม่ได้ปฏิบัติเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ปฏิบัติไปตาม MOU ที่ได้มีบันทึกการตกลงกันระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศสชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทยและไม่ได้เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยแผ่นดินหรืออาณาเขตทางทะเล ดังนั้นมี 3 สัญญาทั้งภายในของเราเองและระดับสากล แต่รัฐบาลนี้ยังไม่ได้ทำอย่างหนึ่งอย่างใดเลย กลับจะเจรจาอย่างเดียวเลยทั้งที่กระทำผิดรัฐธรรมนูญอยู่ ซึ่งผมบอกรัฐบาลนี้หลายครั้งแล้วว่าอย่าดื้อเรื่อง MOU เพราะมันเกี่ยวข้องกับเรื่องอาณาเขตราชอาณาจักรไทยเราจะไม่ยอมสูญเสียแผ่นดินส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศไทยไปอีกแล้ว" นายสนธิญา กล่าว

นายสนธิญา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเรื่องนี้มีการทำกันเป็นขบวนการแล้ว เพราะกัมพูชามีประชาชนจัดชุมนุมประท้วงร้องให้รัฐบาลฟ้องศาลโลก กรณีที่เขาลากเส้นแดงในแผนที่ ว่าทำไมประเทศไทยจึงไม่ขอยกเลิกเขาไปตั้งแต่ปี 2544 สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ จนมาถึง น.ส.แพทองธาร ดังนั้นไม่ต้องเจรจาอะไรทั้งสิ้นแล้ว ตอนนี้ต้องยกเลิกทันที ยืนยันว่าเราไม่ยอมรับเส้นสีแดงต้อง เพราะมันแบ่งครึ่งเกาะกูด ไม่เช่นนั้นเราจะเสียดินแดนเหมือนเขาพระวิหาร