'ณัฐวุฒิ' มองมติศาล รธน.เสียงแตก 7-2 ปม MOU44 สะท้อนฝ่ายขวาใช้ชาตินิยมมาสู้
'ณัฐวุฒิ' มองมติศาล รธน.ไม่รับคำร้องกล่าวหา 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ชี้ไม่มีเรื่องไหนเลยเถิด ถึงขั้นล้มล้างการปกครอง ตั้งข้อสังเกตมติเสียงแตก 7-2 ไม่รับปมเอื้อฮุนเซน สะท้อนชัด ภาพการเคลื่อนไหวฝ่ายขวา เลือกจับวาระ 'ชาตินิยม'
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2567 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีมติยกคำร้องกล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง 6 ข้อกล่าวหาพรรคเพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง หุ้นไทยพุ่งขึ้น หุ้นนักวิเคราะห์การเมืองดิ่งลง เป็นผลข้างเคียงและสีสันขณะเดียวกันก็มีบางแง่มุมสะท้อนภาพการเมืองไทย คนส่วนใหญ่จำไม่ได้ว่า 6 ข้อมีเรื่องอะไรบ้าง ฟังวิเคราะห์ก็แทบไม่ลงลึกเรื่องข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่ประเมินด้วยมิติการเมือง มองกันแต่เพียงเขาจะจัดการรัฐบาลเพื่อไทยและทักษิณยังไง น่าสนใจว่าหลายปีที่ผ่านมา บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญทำให้คนนึกถึงการเมืองก่อนกฎหมายหรือไม่
นายณัฐวุฒิ ระบุว่า การรับเรื่อง คำวินิจฉัย ผลที่เกิดจากการวินิจฉัย มักถูกนำไปจับคู่กับคำว่านิติสงคราม มากกว่านิติธรรม ไล่เรียงทั้ง 6 ข้อ ซึ่งมีอดีตนายกฯทักษิณเป็นผู้ถูกร้องที่ 1 พรรคเพื่อไทยเป็นผู้ถูกร้องที่ 2
1.กรณีชั้น 14
2.คบคิดผู้นำกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเล
3.สั่งเพื่อไทยให้แก้รัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน
4.เรียกพรรคร่วมเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าให้โหวตคุณชัยเกษม
5.สั่งเพื่อไทยขับพลังประชารัฐจากรัฐบาล
6.สั่งเพื่อไทยให้นำนโยบายที่พูดไว้ไปปฏิบัติ
ถ้าพิจารณาด้วยเหตุผล จะเห็นว่า ทั้ง 6 เรื่องไม่มีเรื่องไหนจะเลยเถิดถึงขั้นล้มล้างการปกครอง แต่ที่ติดตามกันเป็นวาระสำคัญ เพราะการเมืองไทยยังมีคนคาดหวังอำนาจ และบทบาทขององค์กรอิสระ กำหนดชะตากรรมรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้ในรัฐบาลแบบปัจจุบัน พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ยังคงสถานะเปราะบาง เมื่อมีเรื่องอยู่ในมือองค์กรอิสระ ตามสถานการณ์ 3 ก๊กที่ผมเคยตั้งข้อสังเกตุไว้ โอกาสหน้าจะขยายภาพนี้ให้เห็นชัดขึ้น
ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ มติของตุลาการทั้ง 9 ท่าน
ประเด็นที่ 1 และ ประเด็นที่ 3-6 มีมติยกคำร้องเป็นเอกฉันท์ มีเพียงประเด็นที่ 2 เรื่องสั่งให้ รัฐบาลเพื่อไทยเอื้อประโยชน์ให้กัมพูชา หาประโยชน์ในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทย ซึ่งตุลาการมีมติ 7 ต่อ 2 ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา หมายความว่า มี 2 ท่านเห็นว่า มีหลักฐานเพียงพอว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 เป็นการล้มล้างการปกครอง ต้องรับเรื่องไว้วินิจฉัย
ส่วนตัวตนและเชื่อว่าคนอีกจำนวนมาก ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ไม่เสียดินแดนเกาะกูด ไม่ขายชาติ และที่สำคัญคือ รัฐบาลปัจจุบันของทั้ง 2 ประเทศยังไม่ได้คุยอะไรกันเลยจนขณะนี้ แต่มีตุลาการท่านคิดอีกแบบ
"เมื่อต้นสัปดาห์ผมนั่งคุยในวงพี่ๆน้องๆ มีคนเล่าให้ฟังว่า เจอผู้พิพากษาคนหนึ่งพูดอย่างจริงจังว่าห่วงจะเสียดินแดน อีกคนบอกเจอหมอ คุณหมอก็ว่าห่วงเรื่องนี้เหมือนกันเป็นภาพสะท้อนว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาสุด เลือกจับวาระชาตินิยม ปกป้องดินแดน เพราะรู้ว่าเรื่องนี้กระทบหัวใจทั้งประชาชนทั่วไป และคนที่มีสถานะเข้มแข็งในสังคม" นายณัฐวุฒิ ระบุ
นายณัฐวุฒิ ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย รัฐบาลเจอกับพลังขวาสุดด้วยข้อกล่าวหาเรื่องค่านิยมหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เช่น ปฏิญญาฟินแลนด์ ทำบุญวัดพระแก้ว เขาพระวิหาร ผังล้มเจ้า ฯลฯ จนเกิดความเคลื่อนไหวมวลชน เปิดทางให้อำนาจนอกระบบ นี่เป็นข้อยืนยันว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยยังคงวนรอบเรื่องเดิมๆ
"ผมเคารพความเห็นต่าง ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ แต่อยากให้ทรัพยากรปิโตรเลียมมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาทถูกนำมาใช้ และเชื่อว่าสามารถทำได้ผ่านการเจรจาของรัฐบาลทั้งคู่ ผมเชื่อว่าสัมพันธภาพอันดียิ่งระหว่างผู้นำ 2 ประเทศ เป็นคุณต่อเรื่องนี้ ถ้าจะมียุคไหนที่หาข้อสรุปร่วมกันได้ก็ต้องเป็นยุครัฐบาลนี้ แต่ต้องดำเนินการด้วยความรัดกุม โปร่งใส สร้างความเข้าใจกับสังคมทุกระยะ ภายใต้ความจริงที่รัฐบาลต้องเข้าใจว่า มีคนพร้อมจะไม่เข้าใจอยู่จำนวนหนึ่งแน่ๆ" นายณัฐวุฒิ ระบุ