'Contactless card' บัตรชำระเงินแบบไร้สัมผัส ตอกย้ำโลกไร้เงินสด

'Contactless card' บัตรชำระเงินแบบไร้สัมผัส ตอกย้ำโลกไร้เงินสด

เมื่อทั่วโลกก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เหล่าสถาบันการเงินต่างๆ ก็ออกผลิตภัณฑ์ทั้งบัตรเดบิตและเครดิต เพื่อให้ผู้ใช้รูดซื้อสินค้าได้อย่างง่ายดาย แต่วันนี้หลายประเทศเกิดบัตร Contactless ขึ้นมาใหม่ ที่ล้ำกว่าเดิมเพียงแต่แตะเท่านั้น

เรียกเสียงฮือฮาสำหรับแฟนๆ วง BLACKPINK หรือที่เรียกว่าชาว Blink ได้อย่างมาก เมื่อธนาคารเจ้าหนึ่งได้ออกบัตรเดบิต หรือ ATM แบบชิปการ์ด Contactless ลาย Blackpink ออกมา สาวกตัวจริงคงไม่พลาดไปถอยออกมาชื่นชมสักใบ

แต่หลายคนอาจเกิดคำถามว่าบัตรแบบ Contactless เป็นอย่างไร ต่างจากทั่วไปยังไง ตามเราไปทำความรู้จักกัน

อันดับแรก คือ ต้องบอกก่อนว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยใช้บัตรแบบ Contactless โดยก่อนหน้านี้คงเคยได้ยินเรื่องบัตรแมงมุมกันมาบ้าง ที่มาสเตอร์การ์ดจับมือกับธนาคารกรุงไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ออก "บัตรแมงมุม" เพื่อจ่ายเงินสำหรับเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดินด้วยการแตะบัตรเพียงอย่างเดียว เหมือนในต่างประเทศอย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฯลฯ ที่ใช้กันแพร่หลาย

157295458668

เช่นเดียวกับสถาบันการเงินอื่นๆ ก็ออกบัตรในรูปแบบเดียวกันด้วย ทั้งธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารซีไอเอ็มบี ธนาคารทหารไทย เป็นต้น

บัตรคอนแทคเลส (Contactless card) เป็นบัตรชำระเงินแบบไร้สัมผัส เป็นได้ทั้งบัตรเดบิตหรือเครดิต โดยสามารถใช้จ่ายได้ไม่ต่างจากเงินสด แค่นำบัตรไปแตะใกล้เครื่องอ่านบัตรที่เรียกว่า EDC สังเกตได้จากสัญลักษณ์ Contactless ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก (คล้ายๆ สัญลักษณ์ Wifi)

157295325588

ทั้งนี้ระยะห่างระหว่างบัตรกับเครื่องมักจะอยู่ไม่เกิน 5 เซนติเมตร หรือ 2 นิ้ว เมื่อเราแตะบัตรแล้ว ให้ค้างไว้ประมาณ 1-2 วินาที พอมีสัญญาณเสียงดัง ก็แสดงว่าเครื่องได้อ่านบัตรเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งบัตรของบางธนาคารอาจต้องผูกกับแอพพลิเคชั่นของธนาคารนั้น เมื่อจ่ายเงินปุ๊บจะมีการแจ้งเตือนให้รู้ทันที ถ้าบัตรหายก็สามารถล็อกผ่านแอพฯได้เลย

รูปแบบนี้นับเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย ที่เราไม่ต้องยื่นบัตรให้พนักงานนำไปรูดหรือสอดเข้าไปในเครื่องเหมือนเมื่อก่อน ทำให้ไม่ต้องกลัวหาย หรือถูกนำไปปลอมแปลง เพราะบัตรจะอยู่กับตัวเราตลอด

157295499514

ที่สำคัญ คือ จากคำว่า Contactless หรือ "ไร้สัมผัส" นั่นแปลว่า เพียงแค่บัตรอยู่ในระยะที่ใกล้พอ เราไม่จำเป็นต้องควักบัตรออกมาจากกระเป๋าด้วยซ้ำ เก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ก็ยังจ่ายเงินได้ หรือบางค่ายอาจกำหนดให้ยังต้องใส่ Pin อยู่ แต่ก็จะเป็นรหัสแบบใช้ครั้งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้บัตรก็สามารถผูกกับบัญชีธนาคารของเราได้ด้วย และมีการแจ้งยอดรายเดือนที่ใช้จ่ายไป นับว่าปลอดภัยว่าการเดินถือเงินสดไปใช้จ่ายอีก

ถือว่าสะดวกทีเดียว เพราะปกติเวลาไปซื้อของ ต้องเตรียมเงินปลีกไปทั้งแบงก์และเหรียญ ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก โดยเฉพาะช่วงที่เราต้องรีบหรือต้องการความรวดเร็ว อย่างในปั๊มน้ำมัน ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด หรือร้านสะดวกซื้อ

ส่วนข้อกังวลเรื่องความเออเร่อร์ เช่น เอาบัตรไปแตะซ้ำหรือแตะนานไปแล้วจะเกิดเหตุการณ์จ่ายซ้ำสองครั้งหรือไม่นั้น ก็ต้องบอกว่า สบายใจได้ เพราะระบบการจ่ายเงินแบบไร้สัมผัสนี้ เครื่องรับฉลาดพอที่จะรู้ว่า นั่นคือการจ่ายเงินครั้งเดียว หรือถ้าจะไปจับจ่ายในร้านค้าหรือบริการที่ไม่รองรับ Contactless เจ้าบัตรที่เรามีอยู่ก็ยังสามารถทำหน้าที่ "บัตร" สำหรับรูดที่เครื่องชำระเงินอย่างเดิมได้อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบัตรคอนแทคเลสยังไม่ครอบคลุมร้านค้าและระบบขนส่งสาธารณะในประเทศไทยมากเท่าไรนัก แต่ก็เห็นแนวโน้มที่ดีจากทั้งฝั่งผู้ให้บริการด้านการเงิน รวมถึงฝั่งร้านค้าหรือผู้ให้บริการต่างๆ ที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะยังไงๆ เทรนด์โลกของการจับจ่ายก็เบนเข็มมาสู่ "สังคมไร้เงินสด" อยู่ดี