สถานการณ์ที่ต้องชั่งน้ำหนักการตัดสินใจลงทุนมากพอดูกับผู้ถือหน่วยของ กองทุนรวม โครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF ที่จะเปิดให้สิทธิผู้ถือหน่วยเดิมเพิ่มทุนระหว่างวันที่ 7-13 พ.ย. นี้
ท่ามกลางกระแสข่าวที่สั่นคลอนราคาหุ้น บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ในฐานะเจ้าของสินทรัพย์ที่กองทุนจะเข้าไปซื้อลงทุนเพิ่มเติม และผู้ถือหน่วยรายใหญ่
รอบนี้กองทุนจะมีการเพิ่มทุนด้วยการขายหน่วยลงทุนให้ผู้ถือหน่วยเดิม จำนวน 2,500 ล้านหน่วย ในอัตราใช้สิทธิ 2.2 หน่วยเดิม ต่อ 1 หน่วยใหม่ ที่ราคาใช้สิทธิ 9 บาท เพื่อระดมทุน 22,500 ล้านบาท บวกกับเงินกู้จากสถาบันการเงิน 15,500 ล้านบาท คิดเป็นเม็ดเงินระดมทุน 38,000 ล้านบาท
ตามที่ระบุจะเป็นการนำไปใช้ในการซื้อทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเส้นใยแก้วนำแสง จำนวน 7 แสน คอร์กิโลเมตร จาก บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB มูลค่าไม่เกิน 38,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพแก่กองทุนฯ ในการรองรับความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่กำลังขยายตัว
นอกจากนี้ทางกองทุนยังประกาศจ่ายปันผลจูงใจให้นักลงทุน ด้วยการแจ้งปันผลด้วยการขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 14 พ.ย. ในอัตรา 0.23 บาท ต่อหน่วย จากผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2562 ซึ่งก่อนหน้านี้ในรอบ 6 เดือนแรกปี 2562 กองทุนได้ประกาศจ่ายเงินปันผล 0.47 บาทต่อหน่วย ไปแล้ว
โดยกองทุนได้คาดการณ์ว่าหลังจากเพิ่มทุนซื้อสินทรัพย์ใหม่เข้ามาแล้วเสร็จ ส่งผลเงินปันส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยในปี 2563 เพิ่มเป็น 1.0387 บาทต่อหน่วย จากเดิมประมาณ 0.9924 บาทต่อหน่วย อัตราการจ่ายปันผล (yield ) ของกองทุนขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงถึง 11.5 % (ที่ราคา 9 บาทต่อหน่วย) ที่สำคัญยังคาดการณ์หลังเพิ่มทุนแล้วเสร็จปีหน้าจะจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้น 0.05 บาท ต่อหน่วย มาอยู่ที่ 1.04 บาทต่อหน่วยอีกด้วย
หากตัดสินใจเข้าเพิ่มทุนสิ่งที่นักลงทุนต่างคาดหวังและยอมควักเงินเพิ่มเพื่อเพิ่มทุนในรอบนี้หนีไม่พ้นประเด็นการจ่ายปันผลถือว่าเป็นแรงจูงใจสำคัญ ซึ่งเปรียบเทียบกับช่วงที่ผ่านมายอมรับว่า JASIF สามารถจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ 18 ครั้ง และมีการลดทุน 3 ครั้งตั้งแต่จัดตั้งกองทุนปี 2558 รวมเป็นเงินปันผล 4.07 บาทต่อหน่วย
หากสิ่งที่กลายเป็นจุดที่ต้องคำนึงคือแนวโน้มในอนาคตว่าจะยังสามารถจ่ายปันผลได้ระดับดังกล่าวและต่อเนื่องมากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางข่าวลบที่เข้ามากระทบ JAS เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ผูกติดกับกองทุน
ความกังวลใจมีทั้งประเด็นด้านการแข่งขันในธุรกิจบรอดแบรด์ที่มากขึ้นในอนาคต ซึ่งมีคู่แข่งขันรายใหญ่ อย่าง เอไอเอส ลงสนามในธุรกิจนี้เต็มตัวในตลาดแมสมากขึ้นจากเดิมเน้นลูกค้าคอร์ปอเรท ซึ่งแน่นอนว่าเบอร์ 1 อย่างทรู ไม่ยอมอยู่เฉยแน่นอน และเบอร์ 2 ในตลาดอย่าง จัสมิน ต้องลงมาแข่งขันด้วยหรือไม่
นอกจากนี้แนวโน้มการเติบโตกำไรของ JAS ปี 2553 ตามการคาดการณ์เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลดลง โดย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า JAS ยังมีความเสี่ยงสำคัญที่อาจกระทบปัจจัยพื้นฐาน มีประเด็นคดีฟ้องร้องของเจ้าหนี้สถาบันการเงิน 4 ราย การแข่งขันรุนแรงของตลาดบรอดแบนด์ การประมาณการกำไรตั้งแต่ปี 2563 มี downside 10-12% (กระทบ TP ราว -0.70 บาท/หุ้น) และ สถานะการเงินระยะยาวอาจตรึงตัว กระทบการจ่ายเงินปันผล
ขณะเดียวกัน JAS ต้องเตรียมเงินสำหรับใช้สิทธิเพิ่มทุนเต็มเพดาน 33% ราว 14,355 ล้านบาท หลังเตรียมกู้เงิน Bridge loan กับสถาบันการเงินไว้แล้ว ซึ่งกรณีผู้ถือหน่วยอื่นไม่ใช้สิทธิ JAS สามารถใช้สิทธิเกินสัดส่วนที่ถือ 19% แต่ไม่เกิน 33%แม้ว่าผู้จัดการกองทุน JASIF ค่อนข้างเชื่อมั่นต่อความสำเร็จในการเพิ่มทุน อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำเก็งกำไรหุ้น JAS สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-บัวหลวงมั่นใจขายกองทุน 'jasif'เกลี้ยง
-กองทุนjasif ขายหน่วยไม่หมดแค่ข่าวลือ