สายการบินทรุดขาดทุนหนัก รัฐหนุนท่องเที่ยวรอบใหม่
ภาคการท่องเที่ยวถือว่าเป็นธุรกิจที่รัฐเข้าไปช่วยเหลือด้วยการออกมาตรการมาหนุนกำลังซื้อในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประชาชนมีเงินแต่ไม่ต้องการออกไปจับจ่ายใช้สอยเพราะต้องการใช้ในยามจำเป็นเท่านั้นภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
สะท้อนได้จากผลประกอบการจากหลายบริษัทที่ประกาศออกมาในไตรมาส 3 ปี 2562 กระทบหนักสุดคือหุ้นสายการบิน นอกจากปัจจัยภายนอกแล้วยังมีการแข่งขันหั่นราคาตั๋วเพื่อดึงลูกค้ากันเอง บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เบอร์ 1 ในกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำ ขาดทุน 416.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.33 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนและรอบ 9 เดือน พลิกขาดทุน 401.90 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนกำหนด 339.86 ล้านบาท หรือเปลี่ยนแปลงถึง 218 %
บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เผชิญขาดทุนมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ 693 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 735 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน และรอบ 9 เดือนพลิกขาดทุน 189.57 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนกำไร 627 ล้านบาท หรือเปลี่ยนแปลง 130.23 %
ธุรกิจให้บริการสนามบินที่ไร้คู่แข่งบมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) เผชิญกำไรไตรมาส 3 ลดลงอยู่ที่ 5,883 ล้านบาท ลดลง 8.63 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ตัวเลขดังกล่าวมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีอัตราการเติบโตลดลงอย่างชัดเจนในปีนี้ โดยเฉพาะคนจีนที่หายไปและยังไม่ฟื้นกลับมาเท่ากับตัวเลขในปี 2560 จึงกลายเป็นปัจจัยลบซ้ำเติมภาคท่องเที่ยว จนทำให้ภาครัฐต้องมีการปรับเป้าหมายตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ลดลง เป็น 38.27 ล้านคนจากเป้าหมาย 41 ล้านคน
ด้วยมาตรการที่เข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่กลางปีทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาดีขึ้น จากการต่ออายุมาตรการยกเว้นออกวีซ่าขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ Visa on Arrival (VOA) กับ 21 ประเทศ รวมประเทศจีนและไต้หวันขยายออกไปถึงปีเดือน เม.ย. ปี 2563 จากเดิมสิ้นสุดเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศกลับยังไม่ดีขึ้น กลายเป็นคนไทยหันไปท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องและยังแข็งค่ากว่าประเทศอื่นในเอเชียด้วยกัน ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจบสิ้นปีตัวเลขนักท่องเที่ยวไทยไปต่างประเทศแตะ 10.55-10.75 ล้านคน สูงสุดในรอบ 6 ปี เพิ่มขึ้น 5.4-7.4 % จากปี 2561
ดังนั้นทำให้ภาครัฐต้องออกแรงใช้มาตรการอื่นมากระตุ้นนอกเหนือจากลดหย่อนภาษีที่ประกาศไปแล้วในช่วงต้นปีด้วยการใช้ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับท่องเที่ยวเมืองหลักไม่เกิน 15,000 บาท เมืองรองไม่เกิน 20,000 บาท และลดหย่อนสำหรับซื้อสินค้าโอท๊อปไม่เกิน 15,000 บาท
ช่วงปลายปียังมีมาตรการยาแรง ‘ชิมช้อปใช้’ ที่ได้ผลจากการแจกเงินให้ไปท่องเที่ยวนอกภูมิลำเนา ผ่านการลงทะเบียนรับเงิน 1,000 บาท และสามารถนำค่าใช้จ่ายจริงจากการท่องเที่ยวมาขอคืนเงินได้ 15% ของค่าใช้จ่ายไม่เกินวงเงิน 30,000 บาทจนทำสถิติยอดจองครบรายวันแบบถล่มทลาย
จนมาถึงเฟส 2 กับ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย รอบแรกวันที่ 11 และ 12 พ.ย. หมดภายในเวลา 4 นาทีและ 2 นาที โดยรอบต่อไปจะเปิดให้ลงทะเบียน 11 และ12 ธ.ค.นี้ ซึ่งจำกัดจำนวนผู้ลงทะเบียนเพียงวันละ 10,000 คนและใช้เดินทางภายใน 31 ธ.ค. 2562 นี้
ต่อด้วยชิมช้อปใช้เฟส 3 ที่ครม. พึ่งเคาะอนุมัติเห็นชอบเปิดให้ผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิได้ลงทะเบียนอีก 2 ล้านราย ซึ่งเพิ่มเติมจากมาตรการใน เฟส 1 และ 2 ที่มีอยู่ 13 ล้านราย โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนรอบใหม่ในวันที่ 14 พ.ย.62 วันละ 1 ล้านราย แบ่งเป็น 2 รอบคือ 06.00 น. และ 18.00 น. เช่นเดิม
สำหรับมาตรการเฟส 3 ถึงจะไม่มีการแจกเงิน 1,000 บาท แต่จะได้รับเงินคืน 15% สำหรับเงินที่ใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท และได้รับเงินคืนอีก 20% สำหรับเงินใช้จ่ายมากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ขยายระยะเวลาถึง 31 ม.ค.2563 รองรับเทศกาลตรุษจีน
นอกจากนี้ ยังปรับเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินได้ทุกจังหวัด รวมถึงจังหวัดที่ผู้รับสิทธิพักอาศัยอยู่ และให้รวมค่าใช้จ่ายที่เป็นแพ็คเกจท่องเที่ยว ที่พัก ค่าเดินทาง ตั๋วเครื่องบินในประเทศ และภาคบริการที่เกี่ยวข้อง มาร่วมโครงการเพื่อรับเงินชดเชยคืนได้ จากเดิมที่มาตรการไม่เปิดให้รวมรายจ่ายจากแพ็คเกจท่องเที่ยวได้
มาตรการดังกล่าวเข้ามาช่วยลดผลกระทบได้ในระยะสั้น แต่ปัจจัยหลักคงยังหนีไม่พ้นภาวะเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทที่ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ยังกำหนดทิศทางของหลายธุรกิจรวมทั้งการท่องเที่ยว