‘เดอะมอลล์’ ชูโปรแรงสู้ไฮซีซัน ดูด 'นักช้อป' รับมือบาทแข็ง
เดอะมอลล์ ชี้อานิสงส์ “ชิมช้อปใช้” กระตุ้นบรรยากาศใช้จ่ายโค้งสุดท้าย โหมโปรโมชั่น-ลุยอีเวนท์ถี่ 60 งานต่อเนื่อง สู้ศึกไฮซีซัน ดันยอดเข้าเป้า 5.8 หมื่นล้าน รับมือปัจจัยลบ“บาทแข็ง” นักช้อปไทย-เทศ แห่ใช้จ่ายต่างประเทศ แนะรัฐเร่งมาตรการหนุนท่องเที่ยวไทย
ทิศทางธุรกิจค้าปลีกโค้งสุดท้าย เดือน พ.ย.-ธ.ค. นี้ เริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตจากปัจจัยบวกต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภาครัฐ หนุนบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย “คึกคัก” ส่งผลให้มีการกระจายของเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจตื่นตัวในการจัดกิจกรรม โปรโมชั่นส่งเสริมการขาย รองรับการออกมาจับจ่ายซื้อสินค้า ของขวัญ ของฝาก รวมถึงบริการต่างๆ ของลูกค้าในช่วงไฮซีซัน
นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ดิ เอ็มโพเรี่ยม ดิ เอ็มควอเทียร์ และพารากอน ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ กล่าวว่า อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านแคมเปญ “ชิมช้อปใช้” เฟส 1-2 มีผลเชิงจิตวิทยาต่อการจับจ่ายของประชาชนเป็นไปอย่างคึกคักทั้งในภาพรวมตลาดค้าปลีกและเดอะมอลล์ ซึ่งหากสามารถขยายผลต่อเนื่อง ชิมช้อปใช้ เฟส 3 รวมทั้งมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ในช่วงปลายปี เชื่อว่าจะเป็นแรงส่งที่ดีในตลาดค้าปลีกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ซึ่งดึงดูดนักช้อปชาวไทยใช้จ่ายต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปลี่ยนจุดหมายปลายทางจากไทยไปยังประเทศอื่นที่สามารถจับจ่ายได้อย่างคุ้มค่าทั้งการเดินทางท่องเที่ยวและชอปปิง
“รัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าและทบทวนมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการชอปปิงอย่างแท้จริง”
ต่อยอด-เสริมแกร่งท่องเที่ยวไทย
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องสร้างความแข็งแกร่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งหากท่องเที่ยวไทยดีจะส่งผลต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ มีการเติบโตที่ดีด้วยเช่นกัน โดยหลังโกลเด้นวีค พบว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในเชิงจำนวนพบว่าปรับตัวดีขึ้น แต่การใช้จ่ายยังอยู่ในอัตราต่ำ หรือน้อยลงกว่าเดิม ส่วนหนึ่งจากปัญหาเงินบาทแข็งค่าทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นลูกค้าหลักของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าใจกลางเมือง เปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปยังประเทศอื่น ขณะที่ทัวริสต์จีนที่ยังท่องเที่ยวไทยขณะนี้จัดเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อไม่สูงนัก
“ภาคเอกชนต้องใช้โปรโมชั่นแรงเพื่อชดเชยในอัตราแลกเปลี่ยนให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายมากขึ้น รวมทั้งสกัดลูกค้าชาวไทยที่นิยมเดินทางในช่วงปลายปีและจับจ่ายในต่างประเทศมากขึ้น”
รัฐจำเป็นต้องเร่งทบทวนโครงสร้างภาษี หรือมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง รองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่าย ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ก่อนจะเสียตลาดให้เพื่อนบ้าน
ทุ่ม 350 ล้านลุยไฮซีซัน
อย่างไรก็ดี ในช่วงไฮซีซันนี้ เดอะมอลล์เตรียมงบประมาณกว่า 350 ล้านบาททำการตลาดเชิงรุกเพื่อกระตุ้นยอดขายส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ภายใต้แคมเปญ “The Mall Group Joy of Giving” ซึ่งจะมีโปรโมชั่นส่วนลด รางวัลพิเศษ และกิจกรรม หรือบิ๊กอีเวนท์ 50-60 งานระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค. เพื่อสร้างบรรยากาศและประสบการณ์ในการชอปปิงรูปแบบใหม่ ดึงดูดลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้เข้ามาใช้บริการ
โดยแนวทางขับเคลื่อนการตลาดของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ไตรมาส 4 ต่อเนื่องปี 2563 มุ่งสร้างห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในเครือเดอะมอลล์ ให้เป็นสถานที่ที่ตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า ด้วย 7 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย “Digitization” ใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในการทำการตลาดแบบครบวงจร ทั้งออฟไลน์และออนไลน์แบบไร้รอยต่อ (ออมนิแชนแนล) เพื่อเข้าถึงความต้องการของฐานลูกค้าหลัก เอ็มการ์ด กว่า 4 ล้านราย และเอสซีบี เอ็ม วีซ่า กว่า 6 แสนคน ผ่านเครื่องมือเอ็มการ์ด แอพพลิเคชั่น หรือ ไลน์ แอพพลิเคชั่น ซึ่งจะมีอี-คูปอง ให้สิทธิพิเศษกับลูกค้า
กลยุทธ์ “Data Analytics” ถูกนำมาใช้ทำแคมเปญต่างๆ จากการวิเคราะห์บิ๊กดาต้า เพื่อสร้างแคมเปญที่ตรงใจลูกค้ามากที่สุด กลยุทธ์การเข้าถึง “Customer Journey” ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทุกวันตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป
นอกจากนี้ ยังต้องสร้างประสบการณ์การชอปปิงแบบไร้รอยต่อผสานการชอปปิงของศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า รวมถึงการตกแต่งบรรยากาศและการจัดอีเวนท์เพื่อสร้างสีสันและสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้าเพื่อให้ใช้เวลา (Time Spent) อยู่ภายในศูนย์เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันราว 90 นาทีตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 100 นาทีในปีหน้า
ชู“นวัตกรรม”เกาะเทรนด์โลก
กลยุทธ์ “Innovation“ จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจเดอะมอลล์กรุ๊ปในปีหน้าผ่านการคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ให้ก้าวทันเทรนด์โลกและไลฟ์สไตล์ของลูกค้า รวมถึงกลยุทธ์ ”Cross Category Spending/Cross Action ของ Category“ หรือการจัดกลุ่มสินค้าและบริการภายในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าให้มีความหลากหลายในรูปแบบ กลยุทธ์ ”Collaboration” ผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีกลุ่มลูกค้าเหมือนกัน ในการทำแคมเปญและกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งขยายฐานกลุ่มลูกค้ามากขึ้น การร่วมกับพันธมิตรแบรนด์สินค้า ร้านค้าทั้งในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า พันธมิตรทางสถาบันการเงินเพื่อมอบข้อเสนอพิเศษที่คุ้มค่าให้กับลูกค้า รวมถึงการร่วมกับกลุ่มศิลปินในการสร้างสรรค์สินค้าคอลเลคชั่นพิเศษที่เอ็กซ์คลูซีฟ สุดท้ายกลยุทธ์ “CSR/Eco/Community” ที่จะให้ความสำคัญมากขึ้นผ่านโครงการสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน การเลิกใช้ถุงพลาสติกต่างๆ
ปีนี้เดอะมอลล์กรุ๊ปมั่นใจว่าจะผลักดันยอดขายเติบโตตามเป้าหมาย 58,000 ล้านบาท โดยแคมเปญครั้งนี้จะสร้างยอดขายกว่า 16,800 ล้านบาท เติบโต 25% เทียบช่วงเวลาปกติ