'ดร.สถิตย์' ชูบันได4ขั้น สร้าง ’สังคมการออม' รับมือสังคมผู้สูงอายุ
"สว.สถิตย์" ชูบันได 4 ขั้น สร้าง "สังคมการออม" เพื่อรับมือ "สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์"
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวอภิปรายในการประชุมวุฒิสภาในประเด็นรายงานประจำปี 2561 ของกองทุนการออมแห่งชาติ โดยเริ่มต้นกล่าวถึงเป้าหมายของประเทศคำนึงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยที่ได้รับรู้กันอยู่คือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP (Gross Domestic Product) อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ GNP (Gross National Happiness) ซึ่งจะต้องทำให้ประชาชนในทุกช่วงวัยมีความสุข รวมทั้งผู้สูงวัย ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสังคมสูงวัยและกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ใน 2-3 ปีข้างหน้า จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือด้วยการสร้าง “สังคมการออม” เพื่อเป็นหลักประกันพื้นฐานการดำรงชีพของผู้สูงวัย
ดร.สถิตย์ กล่าวต่อว่า ระบบการออมของประเทศไทยมี 3 กองทุนใหญ่ ได้แก่ กองทุนประกันสังคม ถือเป็นกองทุนใหญ่สุด ดูแลลูกจ้าง พนักงาน ของทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะมีจำนวนสมาชิกกว่า 16.4 ล้านคน กองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ดูแลเฉพาะข้าราชการ มีจำนวนสมาชิก 1 ล้านคน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ถือเป็นกองทุนสำคัญ ดูแลคนที่ตกหล่นจากกองทุนประกันสังคมและ กบข. เช่น ผู้ที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ ลูกจ้างรายวัน เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย ณ เดือนกันยายน 2562 มีจำนวน 2.2 ล้านคน
นอกจากนี้ ดร.สถิตย์ ยังเสนอบันได 4 ขั้น ให้ กอช. นำไปปรับใช้เพื่อสร้างสังคมการออมไว้รับมือกับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้านี้
บันไดขั้นที่ 1 กอช. ต้องเร่งสร้างความตื่นตัวกับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย และสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นที่ต้องมีการออมเพื่อวัยเกษียณ ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป แตะ 20% ขอประชากร) ในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้านี้ และจากข้อมูลผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลังพบว่ากว่าร้อยละ 90 ของผู้มีรายได้น้อยที่มีอายุเกิน 60 ปี มีเงินฝากไม่ถึง 5,000 บาท ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในชีวิตอย่างมาก
บันไดขั้นที่ 2 กอช. ต้องเดินหน้า “ปิดช่องว่างการออม” ให้กับกลุ่มคนที่ยังไม่มีหลักประกันให้มากขึ้น :: หากดูจำนวนสมาชิก กอช. จึงถือว่าเติบโตเร็ว และต้องรักษาการเติบโต ด้วยการเพิ่มยอดสมาชิกให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีผู้ที่ตกหล่นจากระบบการออมต่าง ๆ อยู่ไม่น้อย โดยคาดว่ามีแรงงานนอกระบบทั้งประเทศประมาณ 20 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าว เป็นผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลัง 14.6 ล้านคน ซึ่งกว่า 4 ล้านคนเป็นเกษตรกร และอีกกว่า 3 ล้านคน รับจ้างอิสระ ประกอบธุรกิจส่วนตัว และค้าขาย และคนซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้เข้าข่ายสมัครเป็นสมาชิก แต่ปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีผู้ถือบัตรเป็นสมาชิก กอช. เพียง 1 แสนกว่ารายเท่านั้น
บันไดขั้นที่ 3 กอช. อาจหา “มาตรการจูงใจ” ให้สมาชิกเข้ามาออมกับ กอช. ให้มากขึ้น อาจนำแนวคิดใหม่ ๆ มาใช้ เช่น ทางเลือกที่ 1 ยังคงเป็นการสมัครใจออม แต่เพิ่มอัตราเงินสมทบ 2 เท่าตัว เพื่อสร้างแรงจูงใจและตัดสินใจเพื่อความมั่นคงในชีวิตยามวัยเกษียณ ทางเลือกที่ 2 บังคับให้ออม โดยบังคับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 14.6 ล้านคน ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ออม โดยรัฐบาลเพิ่มเงินสวัสดิการในการออมเพิ่มเติมจากการให้เงินสวัสดิการอื่น ๆ
บันไดขั้นที่ 4 กอช. ต้องหาช่องทางการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงกว่าเดิม เพื่อให้เงินออมงอกเงย :: จากรายงานการเงิน รายได้ของ กอช. เกือบทั้งหมดมาจากการลงทุน และปรากฎว่ายังเป็นการลงทุนที่ขาดทุนอีกด้วย ดังนั้น กอช. ควรจะต้องหาวิธีการมในการลงทุนอย่างมืออาชีพ โดยอาจจัดหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านการลงทุนมาเสริมทีมงานการลงทุน หรือมอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนให้ดำเนินการ นอกจากนี้ในการลงทุนจะต้องคำนึงถึงธรรมาภิบาลและนโยบายการลงทุนที่ชัดเจนอีกด้วย