'พฤกษา' ชูโมเดล 'FMCG' ติดสปีดฝ่าวิกฤติอสังหาฯ ฟุบ
“พฤกษา”รับปีนี้ยอดขายพลาดเป้า หลังเผชิญปัจจัยลบฉุดภาพรวมอสังหาฯทรุด ประเมินต่อเนื่องปี 63 งัดกลยุทธ์ FMCG ติดสปีดธุรกิจหมื่นล้าน รับมือคลื่นการเปลี่ยนแปลงเร็ว-แรง ผนึกแบงก์เร่งปล่อยสินเชื่อดันยอดขาย
ชู“เอฟเอ็มซีจี”เคลื่อนธุรกิจ
ทำให้บริษัทปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้รวดเร็วขึ้น เหมือนกับสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG : Fast Moving Consumer Goods) ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันได้ผนึกพันธมิตรกับสถาบันการเงินให้อนุมัติสินเชื่อเร็วขึ้น นำไปสู่การเร่งโอน นอกจากนี้ยังต้องเลือกเปิดโครงการที่มีศักยภาพ จับกลุ่มเรียลดีมานด์เป้าหมาย (ความต้องการที่แท้จริง) พร้อมเร่งระบายสต็อกที่เหลือ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดสินค้าที่อยู่ระหว่างดำเนินงานและบริหารจัดการที่ดินเพื่อลดสินค้าคงค้างให้น้อยลง รวมทั้งควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งหากลยุทธ์ใหม่ๆเพื่อให้อยู่รอดในภาวะตลาดชะลอตัว
อาทิ การจัดแคมเปญโปรโมชั่นร่วม Shopee รวมทั้งการเข้าร่วมโครงการ ‘บ้านในฝัน รับปีใหม่’ ของกระทรวงการคลังที่ร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)เพื่อกระตุ้นยอดขายที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อยูนิต
ขณะที่ตลาดอสังหาฯปี 2562 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา รวมไปถึงมาตรการแอลทีวี ส่งผลให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น โดยเฉพาะเซกเมนต์ระดับล่าง สังเกตได้จากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น จากภาพรวมของพฤกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 8% คอนโด 5% บ้านเดี่ยว 6% และทาวน์เฮ้าส์สูงถึง15% จากปกติ 5-7%
คาดรายได้ปีนี้“ต่ำกว่าเป้า”
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ประเมินว่า แนวโน้มรายได้รวมในปี 2562 ว่า น่าจะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ที่ 45,000 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 ประเมินว่าจะเป็นไตรมาสที่ผลการดำเนินงานเติบโตสูงสุด โดย สิ้นไตรมาส 3 บริษัทมียอดขายรอโอน(Backlog) มูลค่ารวมกว่า 42,534 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ช่วงที่เหลือของปี 2562-2565 โดยในช่วงไตรมาส 4นี้ จะทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 16,092 ล้านบาท ในปี 2563 จะทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 10,024 ล้านบาท ในปี 2564 จะทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 13,937 ล้านบาท และในปี 2565 จะรับรู้รายได้ส่วนที่เหลือ 2,481 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าพร้อมขาย (สต็อก) ไตรมาส 3 จำนวน 5,638 ยูนิต มูลค่ารวม 18,300 ล้านบาท แบ่งเป็น สินค้าประเภทบ้านเดี่ยว จำนวน 708 ยูนิต มูลค่ารวม 4,300 ล้านบาท, สินค้าประเภททาวน์เฮาส์ จำนวน 2,552 ยูนิต มูลค่ารวม 8,100 ล้านบาท, สินค้าประเภทคอนโดมิเนียม จำนวน 2,169 ยูนิต มูลค่า 5,200 ล้านบาท และสินค้าในระดับพรีเมียม จำนวน 209 ยูนิต มูลค่ารวม 700 ล้านบาท ทั้งนี้ สต็อกทั้งหมดเป็นสินค้าในระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อยูนิต ประมาณ 34% คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 6,222 ล้านบาท หรือ จำนวน 2,000 ยูนิต