ขวด 'สไปรท์' รักษ์โลก เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นขาวใส 'รีไซเคิล' ง่าย

ขวด 'สไปรท์' รักษ์โลก เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นขาวใส 'รีไซเคิล' ง่าย

เดอะโคคา-โคล่า คัมปะนี ผลักดันการรีไซเคิลขวดพลาสติกครั้งสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ด้วยการประกาศเปลี่ยนมาใช้ขวดพลาสติกพีอีทีแบบใส แทนการใช้ขวดพลาสติกสีเขียวในเครื่องดื่ม “สไปรท์” ให้สามารถนำขวดมารีไซเคิลได้ง่าย

บีลินดา ฟอร์ด ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า ประจำภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า โคคา-โคล่าได้เริ่มเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สไปร์ทเป็นขวดพลาสติกใสในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนพ.ยงนี้ ส่วนประเทศอื่นๆ จะทยอยเปลี่ยนในปี 2563 ซึ่งการยกเลิกการใช้ขวดพลาสติกสีเขียวอันเป็นเอกลักษณ์ของสไปรท์จะช่วยให้สามารถนำขวดพลาสติกพีอีทีเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น

 

การประกาศของโคคา-โคล่าในครั้งนี้มีขึ้นในระหว่างการประชุมนานาชาติ SEA of Solutions: Partnership Week for Marine Plastic Pollution Prevention จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และสำนักงานประสานงานทางทะเลภูมิภาคเอเชียตะวันออก (COBSEA) ในระหว่างวันที่ 11-14 พฤศจิกายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ เยาวชน และชุมชนกว่า500 คน เข้าร่วมเพื่อหารือแก้ไขปัญหาขยะทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

 

อาชวิน สุบรามาเนียม ประธานบริหารและผู้ก่อตั้ง GA Circular บริษัทที่ปรึกษาผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ผลการศึกษาใน 6 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า การเปลี่ยนมาใช้ขวดพลาสติกพีอีทีแบบใสแทนการใช้ขวดพลาสติกสีช่วยเพิ่มมูลค่าบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคได้เป็นอย่างมาก จึงสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างไม่รู้จบ และเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งการยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดพลาสติกพีอีทีแบบสีคือข้อเสนอแนะสำคัญในรายงานการเร่งสร้างแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากบรรจุภัณฑ์ขวดพีอีทีหลังการบริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับใหม่ เราจึงขอชื่นชมการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงของโคคา-โคล่าในครั้งนี้”

 

ทั้งนี้ เครื่องดื่มสไปรท์จำหน่ายในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติกสีเขียวที่ผู้บริโภครู้จักดีมาตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในฟิลิปปินส์เมื่อ พ.ศ. 2511

 

“เราทุกฝ่ายตระหนักดีว่าปัญหาขยะจากขวดพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตร ซึ่งโคคา-โคล่าได้เริ่มดำเนินการเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาแล้ว แม้ว่าหนทางจะยังอีกไกล แต่เราก็มุ่งมั่นที่จะเดินหน้าให้วิสัยทัศน์ World Without Waste เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม คือสามารถเก็บบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของโคคา-โคล่ากลับมารีไซเคิลให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์” บีลินดา กล่าวเสริม

 

ภายใต้วิสัยทัศน์ World  Without Waste โคคา-โคล่ามีเป้าหมายจัดเก็บบรรจุภัณฑ์เพื่อนำกลับมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อน พ.ศ.2573

 

นอกจากนี้ โคคา-โคล่ายังประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการจัดเก็บและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดยยังให้คำมั่นในที่ประชุม SEA of Solutions ว่าจะร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ (Packaging Recovery Organisations  หรือ PROs) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในประเทศเวียดนามเป็นแห่งแรก ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ตามด้วยประเทศอื่นๆ ในปีเดียวกัน