อนาคตงาน ปี 2025 : ทักษะที่จำเป็น และกลยุทธ์ปรับตัวองค์กร

อนาคตงาน ปี 2025 : ทักษะที่จำเป็น และกลยุทธ์ปรับตัวองค์กร

World Economic Forum (WEF) ได้ออกรายงานล่าสุดเรื่อง “อนาคตของงาน ปี 2025 (Future of Jobs Report 2025)” มาเมื่อต้นสัปดาห์นี้โดยรายงานดังกล่าวมาจากการสำรวจบริษัทต่างๆ มากกว่า 1,000 บริษัท ใน 22 อุตสาหกรรม จาก 55 ประเทศทั่วโลก

รายงานได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่สำคัญซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสโลกนี้ ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดย 86% ของนายจ้างทั่วโลกคาดว่าการประยุกต์ใช้ AI จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานในธุรกิจของพวกเขา

2. การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียวการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและการลดการปล่อยคาร์บอนทำให้เกิดความต้องการแรงงานในสายงานใหม่ เช่น วิศวกรพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Engineers) และผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน (Sustainability Specialists)

3. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจราคาสินค้าและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย ส่งผลให้แรงงานต้องปรับตัวด้วยการเพิ่มทักษะและความสามารถในการทำงานที่ซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น

4. ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองและข้อจำกัดทางการค้าโลก ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานในหลายอุตสาหกรรม เช่น การขนส่งและการผลิตสินค้าในประเทศไทย ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายนี้ด้วยการเสริมความคล่องตัวในองค์กร

5. การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์การลดลงของประชากรวัยทำงานในหลายประเทศกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ แต่สำหรับประเทศไทย การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้มีความต้องการแรงงานในกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น การพยาบาลและการดูแลผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ทาง WEF คาดการณ์ว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะทำให้มีตำแหน่งงานเกิดขึ้นใหม่ 170 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030 ในขณะที่จะทำให้งาน 92 ล้านตำแหน่งหายไป ผลลัพธ์สุทธิคือ การเติบโตของตำแหน่งงาน 78 ล้านตำแหน่ง (คิดเป็น 7% ของตำแหน่งงานปัจจุบัน)

โดยตำแหน่งงานที่เติบโตเร็วที่สุด มักได้รับแรงหนุนจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น AI หุ่นยนต์และการเข้าถึงดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลขนาดใหญ่ วิศวกรด้านการเงินดิจิทัล (FinTech Engineer) ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอ และวิศวกรซอฟต์แวร์

นอกจากนี้ก็ยังมีตำแหน่งงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่จะเกี่ยวข้องกับด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไร้คนขับ วิศวกรสิ่งแวดล้อม และวิศวกรพลังงานหมุนเวียน ติดอันดับ15 อาชีพที่เติบโตเร็วที่สุด

ขณะที่ตำแหน่งงานที่ลดลงเร็วที่สุด ส่วนใหญ่เป็นงานธุรการ เช่น เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ พนักงานธนาคารเจ้าหน้าที่ป้อนข้อมูล ผู้ช่วยงานธุรการ เลขานุการ ตลอดจนนักบัญชี และผู้ตรวจสอบบัญชี

ในรายงานระบุว่า 44% ของแรงงานทั่วโลกต้องพัฒนาทักษะใหม่ (Reskilling) และพัฒนาทักษะเพิ่มเติม (Upskilling) เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้ โดยทักษะที่ทางด้านเทคโนโลยีมีความจำเป็นอย่างมาในอนาคต สำหรับทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เป็นทักษะที่นายจ้างเกือบทุกอุตสาหกรรมคาดว่าจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดย 93% ของนายจ้างคาดว่าทักษะนี้จะมีความจำเป็นมากขึ้นในปี 2030 และยังมีทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงทักษะด้านเทคโนโลยีโดยทั่วไป ที่นายจ้างให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ

ส่วนทักษะด้าน Soft skill ก็จะที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เช่น การคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) ทักษะนี้ยังคงสำคัญที่สุด โดย 74% ของนายจ้างระบุว่าเป็นทักษะหลักที่จำเป็นในปัจจุบัน และ 72% คาดว่าทักษะนี้จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต

อีกทักษะที่สำคัญคือทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เป็นทักษะที่นายจ้างให้ความสำคัญมากขึ้น โดย 74% ของนายจ้างระบุว่าเป็นทักษะหลักที่จำเป็นในปัจจุบัน และ 71% คาดว่าทักษะนี้จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ก็ยังมีทักษะด้านความยืดหยุ่น (Resilience, Flexibility and Agility) และทักษะความเป็นผู้นำ รวมทั้งทักษะความเป็นผู้นำและสร้างอิทธิพลต่อสังคม (Leadership and Social Influence) เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทักษะการบริหารจัดการคนเก่ง (Talent Management) และทักษะด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Curiosity and Lifelong Learning) เป็นทักษะที่นายจ้างให้ความสำคัญมากขึ้น

นอกจากทักษะที่กล่าวมาข้างต้น รายงานยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal skills) ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence) และความมุ่งมั่นในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Commitment to continuous learning) เพื่อให้ประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมการทำงานในปัจจุบัน

จากรายงานนี้องค์กรส่วนใหญ่วางแผนใช้กลยุทธ์สำคัญในการบริหารแรงงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 5 ด้าน ดังนี้

1. การพัฒนาทักษะ (Reskilling & Upskilling): องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

2. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี: องค์กรต่างๆ ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และทดแทนงานที่ใช้แรงงานคน โดยเฉพาะด้าน AI และหุ่นยนต์ เพื่อทำให้กระบวนการทำงานเป็นแบบอัตโนมัติ (Automation) และทำงานร่วมกับมนุษย์ (Augmentation) นอกจากนี้องค์กรต่างๆ เริ่มมีการนำ GenAI มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงาน เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การพัฒนาแอปพลิเคชัน และการสื่อสาร

3. การส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม (Diversity, Equity and Inclusion): องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้างและเท่าเทียม เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถหลากหลาย

4. การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน: องค์กรต่างๆ ปรับรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของพนักงานและสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การทำงานทางไกล (Remote Work) และการทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid Work) นอกจากนี้มีการให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เพื่อลดความเครียด และสร้างแรงจูงใจในการทำงาน

5. การปรับกลยุทธ์การจ้างงาน: องค์กรต่างๆ ปรับกลยุทธ์การจ้างงาน เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีทักษะที่จำเป็น เช่น การจ้างงานแบบ Skills-based องค์กรให้ความสำคัญกับทักษะและความสามารถของผู้สมัครมากกว่าวุฒิการศึกษา หรือการเสนอค่าตอบแทนที่สูงขึ้น เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ

สำหรับประเทศไทยหากจะสร้างโอกาสในการแข่งขันต่อการเปลี่ยนของตลาดงานในอนาคต แรงงานไทยควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็น เช่น ทักษะด้านเทคโนโลยี การคิดเชิงวิเคราะห์ การแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ และความยืดหยุ่นในการทำงาน ส่วนภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต รวมถึงส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ประเทศไทยสามารถแข่งขันในภูมิภาคได้ หากสามารถใช้ประโยชน์จากแนวโน้มเหล่านี้อย่างเต็มที่ และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานอย่างเหมาะสม