ปรับตัวรับศักราชใหม่ เกษตรไทยไปต่อ
หากกล่าวถึงเรื่องการเกษตรคงจะไม่กล่าวถึงเรื่องผลไม้ไม่ได้ โดยเฉพาะผลไม้หรือพืชสวนที่ “ชูโรง” เป็นหน้าเป็นตาของตลาดในประเทศและต่างประเทศอย่างทุเรียน ลำไย มังคุด และมะม่วง โดยในปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกผลไม้ไปทั่วโลกเกือบ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 26 ของสินค้าเกษตรบ้านเรา โดยมีตลาดใหญ่ที่เราส่งออก อาทิ จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น
สวัสดีปีใหม่ครับ
เปิดศักราชใหม่ คนไทยเจออากาศเย็นๆ อยู่หลายวัน ทำให้หลายคนอาจจะเผลอคิดไปว่าโลกก็ไม่เห็นจะร้อนเท่าไหร่ แถมผมยังได้ข่าวอีกว่าชาวต่างชาติทำการสำรวจเร็วๆ นี้ พบว่าคนไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกที่คิดว่าโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว ถึงแม้ปีนี้จะไม่ร้อนหนักเท่าปีที่แล้วซึ่งโดนโจมตีจากเอลนีโญ แต่โลกยังคงร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาวแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อเอลนีโญครั้งต่อไปมาถึงครับ
เรื่องนี้ทำให้นึกถึงผลกระทบโลกร้อนต่อภาคเกษตรทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการเกษตรที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน ปัญหาที่ชัดเจนของเกษตรบ้านเรามาจากทั้งเรื่องภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลัน แน่นอนว่า เมื่อพื้นที่ในการเกษตรได้รับผลกระทบ ย่อมหมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรกว่า 8.7 ล้านราย (ร้อยละ 37.5 ของครัวเรือนทั้งประเทศคิดเป็นพื้นที่กว่า 142.9 ล้านไร่) ที่พึ่งพาการเกษตรในการดำรงชีพต้องเผชิญความยากลำบากต่อกันไปเป็นโดมิโน
จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในช่วงไตรมาส 3 ของปี พ.ศ. 2567 ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัวร้อยละ 0.7 จากผลกระทบของทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้ฝนน้อย และปรากฏการณ์ลานีญาที่ทำให้ฝนตกหนักจนเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ตามที่เราทราบกันดีก่อนหน้านี้ ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) ที่จัดทำโดย Germanwatch ได้บ่งชี้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับ 9 ของโลก โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติใหญ่ทางธรรมชาติทั้งสิ้น 137 ครั้ง นอกเหนือจากปัญหาเชิงโครงสร้างในด้านอื่นๆ ในประเทศแล้ว ผลจากโลกร้อนทำให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยมาถึงจุดที่ว่า “เจ็บทุกทาง” ครับ
หากกล่าวถึงเรื่องการเกษตรคงจะไม่กล่าวถึงเรื่องผลไม้ไม่ได้ โดยเฉพาะผลไม้หรือพืชสวนที่ “ชูโรง” เป็นหน้าเป็นตาของตลาดในประเทศและต่างประเทศอย่างทุเรียน ลำไย มังคุด และมะม่วง โดยในปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกผลไม้ไปทั่วโลกเกือบ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 26 ของสินค้าเกษตรบ้านเรา โดยมีตลาดใหญ่ที่เราส่งออก อาทิ จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เป็นต้น ทว่าด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิต หากไม่มีมาตรการรับมือ เป็นไปได้ว่าราคาของผลไม้ที่เราคุ้นเคยกันดีอาจสูงเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประเทศไทยเองก็ได้เตรียมตัวรับมือไว้เช่นกัน ในฐานะรัฐภาคีของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และความตกลงปารีส เราได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan : NAP) โดยบูรณาการแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศและเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งประเด็นการสร้างความยั่งยืนด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารได้รับการบรรจุให้อยู่ในสาขาที่ 2 ของแผนการปรับตัวดังกล่าว โดยแผนงานนี้จะมุ่งพัฒนานโยบายจากระดับชาติสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ พร้อมทั้งยังให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก
นอกจากแผนที่ชัดเจนแล้ว การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยมิติด้านการเงินด้วย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับเกษตรกรรวมถึงซัพพลายเชนทางการเกษตรให้ปรับตัวต่อความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศที่มีแต่จะรุนแรงขึ้น ตัวอย่างของเครื่องมือการเงินที่มีศักยภาพ อาทิ พันธบัตรสีเขียว (Green Bond) หุ้นส่วนการเงินภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อความยั่งยืน (Blended Finance) รวมทั้งประกันภัยสำหรับผลผลิตทางการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ออกแบบมาเพื่อเกษตรกรรายย่อยโดยเฉพาะ โดยนวัตกรรมทางการเงินเหล่านี้สามารถนำไปผสานกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดและลดความเสี่ยง
ทั้งนี้ ภาคการเงินของไทยได้ตระหนักถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว ก่อนหน้านี้มีธนาคารพาณิชย์ของไทยอย่าง บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปลงทุนใน ‘Ricult’ สตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีเกษตรที่มีการใช้ทั้ง AI การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning : ML) และเทคโนโลยีดาวเทียมเข้ากับการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศเพื่อช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนด้วยแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานหลายแสนราย ทั้งในไทยและอาเซียน ซึ่งสตาร์ทอัพสายเกษตรนี้มีศักยภาพที่ช่วยพัฒนานวัตกรรมล้ำสมัยและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีระดับสากล
ดังนั้น ความเสี่ยงทางกายภาพจากสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหารได้เน้นย้ำให้เราเห็นถึงความเร่งด่วนในการสร้างการเปลี่ยนผ่านให้ภาคการเกษตรของไทยที่มีความเปราะบางสูงให้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น โดยต้องอาศัยทั้งการยึดถือแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเป็นแนวปฏิบัติหลัก การออกแบบระบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย รวมถึงการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการเงิน ซึ่งจะช่วยปกป้องภาคการเกษตรของไทยจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและรังสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปครับ