‘ฮีโร่’ ถุงขยะเปลี่ยนโลก ศึกษา&จัดการ คือหัวใจสำเร็จ
กรุงเทพธุรกิจมีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพที่สุดแห่งหนึ่ง นั่นคือ “คิงส์ เอ็นเนอร์จี แอนด์ เวซท์ โซลูชั่นส์” (King Energy & Waste Solutions หรือ KEWS) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 22ไร่ในจังหวัดชลบุรี
โรงงานแห่งนี้มีการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากหลากหลายประเทศของยุโรป กระบวนการผลิตจะเริ่มจากการคัดแยกชนิดพลาสติกกลุ่ม PE หรือ Polyethylene เป็นขยะพลาสติกที่นำมาจากบ่อขยะที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดภาคตะวันออกซึ่งอยู่ใกล้กับโรงงาน นำมาคัดแยกและล้างทำความสะอาดด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง หมายความว่าในกระบวนการคัดแยกจะไม่ใช้แรงงานคนซึ่งช่วยลดทั้ง “ความเสี่ยง” ในการที่อาจจะได้รับสารปนเปื้อนต่าง ๆในขยะ แต่สำคัญที่สุดก็คือช่วย “ลดเวลา” ได้อย่างมหาศาล
จากนั้นจึงนำไปหลอมเพื่อให้กลายเป็นเม็ดพลาสติกนำไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกรีไซเคิลต่างๆ อาทิ ถุงขยะ “ฮีโร่” อีโค่ที่ขายทั้งในประเทศและส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
ในเวลานี้ KEWS นับเป็นโรงงานแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ใช้นวัตกรรมรีไซเคิลจากการนำพลาสติกที่สูญเสียจากกระบวนการผลิตจากภาคอุตสาหกรรม (Post Industrial Recycle) จนไปถึงพลาสติกครัวเรือนที่อยู่ในบ่อขยะมาหมุนเวียนใช้ (Landfill Recycling Innovation) จนได้เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพที่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล (หรือที่เรียกว่า Upcycling Plastic Waste) ได้อย่างครบวงจร
“ไพบูลย์ จุลศักดิ์ศรีสกุล” รองประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงส์ คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด ผู้ก่อตั้ง บริษัท คิงส์ เอ็นเนอร์จี แอนด์ เวซท์ โซลูชั่นส์ จำกัด กล่าวว่า ทั้งหมดเกิดมาจากความตระหนักในเรื่องของการสร้างประโยชน์ต่อสังคม เพราะตั้งแต่สมัยที่ร่ำเรียนระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย East Anglia ประเทศอังกฤษ เขาทำวิทยานิพนธ์หัวข้อของเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อได้มาสานต่อธุรกิจของครอบครัวเขาก็เดินบนวิถี Social Enterprise หรือ SE มาโดยตลอด
“การทำดีไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เช่นนั้นทุกคนก็คงทำดีกันได้ทั้งหมด แต่มันจำเป็นต้องทำการศึกษา”
เขาเล่าว่าในสมัยก่อน Post-Consumer Recycled ถือเป็นเรื่องที่ยุ่งยากไม่ค่อยมีใครสนใจ และก่อนจะเปิดโรงงานรีไซเคิล เดินตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตัวเขาเองออกเดินทางไปศึกษาในหลาย ๆเรื่องที่เกี่ยวกับการกำจัดขยะมาแล้วทั่วโลก ทั้งการกำจัดขยะ เตาเผาขยะ บ่อขยะ การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน ฯลฯ จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมรีไซเคิลพลาสติกที่นำขยะพลาสติกจากบ่อขยะในประเทศกลับมารีไซเคิล
เพราะเขาเชื่อว่าการนำทรัพยากรที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจะเป็นการช่วยลดปัญหามลภาวะได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งในประเทศไทยที่จริงนั้นก็สามารถการนำเข้าเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากต่างประเทศ หรือใช้พลาสติกที่สูญเสียจากกระบวนการผลิตจากภาคอุตสาหกรรมได้เช่นกัน แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะลดขยะพลาสติกในประเทศไทย ไพบูลย์เลือกเข้าไปทำงานกับบ่อขยะทั้งได้เข้าช่วยสอนการคัดแยกเศษพลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ถึง 20,000 ตัน ต่อปีและอยู่ในขั้นตอนการขยายการลดปริมาณถึง 40,000ตัน ต่อปี
เพราะในแต่ละปีมีข้อมูลพบว่าประเทศไทยเราสร้างขยะมากถึง 30 ล้านตัน โดย 25% หรือประมาณ 7 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติก เกิดปัญหาพื้นที่บ่อขยะที่ไม่เพียงพอที่จะจัดการขยะ ขยะจึงล้น จากขยะบนบกก็ลงสู่ทะเล (Ocean Wastes) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับสัตว์ทะเลทุกชนิด
ไพบูลย์บอกว่า ขยะพลาสติกจะไม่กลายเป็น “ผู้ร้าย” หากมีการ “จัดการ” ที่ดี แนวทางหนึ่งก็คือนำมารีไซเคิลนำกลับไปใช้ใหม่ ซึ่งพลาสติกที่นำมารีไซเคิลนั้นมีอยู่หลายประเภท อาทิ งาน injection เช่นการทำถนนโครงสร้างของรัฐ การทำท่อส่งก๊าซ การขึ้นรูปชิ้นงานพลาสติก แต่ที่ยากที่สุดคือการผลิตสินค้าที่มีความบาง เช่นถุงพลาสติก “ที่ยิ่งหนายิ่งทำง่าย ยิ่งบาง (แต่เหนียวกว่า ทนกว่า) ยิ่งทำยาก” ซึ่งถือเป็นความโดดเด่นของคิงส์ คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป
ทั้งได้เผยถึงแผนว่า นอกจากการทำผลิตภัณฑ์รีไซเคิลแล้ว คิงส์ คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ปยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะช่วยลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ลงอีกด้วย ในปัจจุบันกำลังเริ่มต้นการ Pyrolysis และการแก้ปัญหาขยะอินทรีย์ โดยนำเอาขยะออแกนิคมาผลิตเป็นปุ๋ย เป็นต้น รวมถึงโรงงานได้ตั้งเป้า Zero waste 100% ด้วย
เมื่อเร็วๆนี้ก็ยังมีการจับมือ “ซิกม่า พลาสติก กรุ๊ป” ประเทศอเมริกา เบอร์หนึ่งของโลก ชิงความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนและนวัตกรรมที่เหนือชั้น หวังกวาดตลาดโลจิสติกส์ที่กำลังเติบโตทั่วโลก เป็นอานิสงส์มาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซหรือการขายของออนไลน์ที่เติบโต โดยจะผลิตสินค้าที่เป็น“ฟิลม์พันพาเลท” สำหรับขนส่ง เพราะเป็นสินค้าที่หลายประเทศมีกฏหมายบังคับให้ใช้เพื่อป้องกันความเสียหายจากการขนส่ง ไม่เพียงแค่ตัวสินค้าแต่เพื่อป้องกันสภาพแวดล้อมโดยรอบให้มีความปลอดภัย รวมถึงป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
อย่างไรก็ดี ในเวลานี้ คิงส์ คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป มีสัดส่วนตลาดต่างประเทศกับไทยอยู่ที่ 80:20 แต่เมื่อภาครัฐไทยร่วมกับภาคธุรกิจ ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ประกาศชัดเจนว่าจะงดแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้าแบบถาวร ดีเดย์ 1 ม.ค. ปีหน้านี้ ทางบริษัทก็มีแผนจะหันมาสร้างแบรนด์ถุงขยะ “ฮีโร่” เพื่อรุกตลาด “บีทูซี” ให้มากยิ่งขึ้น
"เพียงแค่เราคงไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ เราจึงมีแผนการที่จะจัดกิจกรรมที่มุ่งให้ความรู้ในเรื่องของการคัดแยกขยะและการรีไซเคิล ร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการให้ความรู้เพื่อทุกบ้านจะสามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้อง แต่ยังจะช่วยสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักถึงประโยชน์ของการรีไซเคิล ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป อีกทั้งเรายังคงเดินหน้าหานวัตกรรมใหม่ๆ มาเพื่อพัฒนาการรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด"