“เอไอ” บริหารพอร์ต ทางรอด “แก่ก่อนรวย”
ฟินเทค (Fin-Tech) แทรกซึมทุกวงการ ในแวดวงตลาดทุน “เอไอ-สมองกล” รุกเข้ามาบริหารพอร์ต ประเดิมหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ กับบริการ Robo Advisor ต่อกรตลาดผันผวน & ดอกเบี้ยต่ำ เจาะรายย่อย คอนเซ็ปต์ ดึงคนไทยพ้น “แก่ก่อนรวย” รับเทรนด์สังคมสูงวัย
บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ต้องปรับตัว! นี่คือสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาตลอด 3-5 ปีที่ผ่านมา หลังการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม“นักลงทุน” ประกอบกับเหล่าโบรกเกอร์เตรียมปรับตัวหนีค่าธรรมเนียมนายหน้าค่าหลักทรัพย์ (คอมมิชชั่น) กลายเป็น “ศูนย์” (0) สอดคล้องตามเทรนด์โลกหลังเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐ นำร่องค่า “ฟรีคอมมิชชั่น” ไปแล้ว
เสียงยืนยันทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะ “ชะลอตัว” สะท้อนผ่านปฏิกิริยาที่เห็นทั่วโลกคือ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศจำเป็นต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการปรับลด “อัตราดอกเบี้ย” เพื่อหวังต่อกรกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สวยหรู
ขณะที่ประเทศไทย หลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 1.50% เหลือ 1.25 (เมื่อ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา) ซึ่งถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ “ต่ำสุด” นับจากวิกฤติการเงินโลก หรือใน “รอบ 10 ปี”
อย่างไรก็ตาม การผลักดันฐานะการเงินของเหล่าโบรกเกอร์ ดูจะไม่ง่ายเท่าไหร่นัก เมื่อ “มูลค่าซื้อขาย” (Volume) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ปีนี้“เบาบาง” เฉลี่ยอยู่แค่ระดับ 40,000 ล้านบาท จากเดิมเฉลี่ยระดับ 80,000 ล้านบาท เป็นเหตุให้นักลงทุนรายย่อยเมืองไทยบางราย หยุดหรือชะลอลงทุน และบางส่วนโยกเงินลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้าง “ผลตอบแทน” (Return)ที่แน่นอน และมี “ความเสี่ยงต่ำ” !
สอดคล้องกับสถานการณ์ “ตลาดทุน” ที่มีความ “ผันผวนหนัก” ทำให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายหุ้น “ลดลง !” เห็นได้จากสัดส่วน “นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์” (รายย่อย) 6 เดือนแรกปี 2562 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 34% จากอดีต 5-6 ปีก่อน สัดส่วนนักลงทุนรายย่อยอยู่ที่ 70% และคาดว่าปลายปีนี้ลดลงอีก !
สวนทางกับจำนวนของบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ปรับ “เพิ่มขึ้น” เนื่องจากความสะดวกในการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และผ่านโครงการสร้างนักลงทุนหน้าใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์หลายที่ร่วมกันผลักดันให้มีสัดส่วนนักลงทุนมากขึ้น แต่สัดส่วนของบัญชีที่มีการลงทุนสม่ำเสมอยังอยู่ในระดับ “ค่อนข้างต่ำ”เฉลี่ยประมาณ 20% ในภาพรวมของทั้งตลาด
ฉะนั้น การนำเทคโนโลยีเข้ามา “ดึงดูด” เพื่อเป็นตัวช่วยให้การลงทุนง่ายขึ้น พร้อมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคตามสไตล์การลงทุนของแต่ละคนได้นั้น จึงเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาต่อกรในยามที่ตลาดหุ้นไร้เสน่ห์และความเสี่ยงในแง่ผลตอบแทนค่อนข้างสูง
การปรับกลยุทธ์การสร้างเงินลักษณะนี้ ยังถือเป็นการเตรียมพร้อม หลังเมืองไทยกำลังก้าวสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” (Ageing society) เต็มตัวในปี 2568
ฝากแบงก์ดอกเบี้ยต่ำเรี่ยดิน ! เมื่อทางเลือกที่เคยเชื่อว่าจะสามารถมีเงินเพียงพอใช้จ่ายยามเกษียณอายุ (60 ปี) ไม่เป็นเฉกเช่นเดิมแล้ว คนไทยกว่า“70 ล้านคน” จะทำอย่างไรให้มีเงินเพียงพอเลี้ยงตัวเองยามเกษียณอายุ
“กัมพล จันทวิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS เล่าว่า ยุคที่ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเพียง 1.25% ฝากเงินแบงก์อย่างเดียวผมบอกได้คำเดียวว่าค่อนข้างลำบาก
คงต้องยอมรับกันแล้วว่าตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ นั่นคือ “คนแก่ก่อนรวย” บ่งชี้ผ่านอัตราการเกิดของเด็กไทยต่ำมากอยู่แค่ระดับ 1.6% จากอดีตอยู่ 5% ซึ่งถือเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำกว่าประเทศจีนไปแล้ว และที่สำคัญคนไทยยังมี “รายได้ต่อหัวต่ำ” อีกด้วย แสดงว่า คนไทยส่วนใหญ่หลังเกษียณอายุจะไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้จนกว่าจะเสียชีวิต
หากดูตามสถิติเฉลี่ยคนไทยมีอายุ 80-83 ปี หมายความว่า หลังเกษียณอายุคนไทยต้องดำรงชีวิตต่อไปอีกราว 20 ปี นั่นหมายความว่าต้องมีเงินเก็บเพียงพอไว้ใช้จ่ายยามที่ไม่ได้ทำงาน ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือคนไทยยังไม่ตระหนักเรื่องดังกล่าวเท่าไหร่ เนื่องจากความคิดเดิมๆ ที่สืบทอดต่อกันมาว่า เดี๋ยวแก่ลูกๆ หลานๆ ก็เลี้ยง ทว่า ตอนนี้จำนวนคนเกิดน้อยลงเหลือ 1.6% แปลว่า ลูก 1 คน ต้องเลี้ยงพ่อแม่ 2 คน จากเดิม 1 ครอบครัวมีลูก 3-5 คนช่วยกันเลี้ยงดูพ่อแม่นั้นทำได้
ยกตัวอย่าง หลังเกษียณอายุ (60 ปี) ต้องการมีเงินใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ดังนั้น 1 ปี ต้องมีเงิน 2.4 แสนบาท และหากอายุยืนยาวจนถึง 80 ปี ต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายตกปีละ 4.8 ล้านบาท แต่ไม่ได้หมายความว่าเงินจำนวนดังกล่าวจะเพียงพอ เพราะว่าทุกปีจำนวนเงินจะลดลงเรื่อยๆ ตามภาวะเงินเฟ้อ ฉะนั้น คนไทยต้องตระหนักเรื่องดังกล่าว และต้องรู้จักลงทุนอย่างต่อเนื่อง
“ในยุคปัจจุบันคนไทยตกอยู่ในสถานการณ์แก่ก่อนรวย และยังโชคร้ายอีกด้วยที่แก่ก่อนรวยแล้วยังเจอกับยุคที่อัตราดอกเบี้ยแบงก์ต่ำอีก หากเทียบกับสมัยก่อนที่อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์อยู่ในระดับ 5.6-5.7% และดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12% ส่วนเงินกู้ซื้อบ้าน 15% และไม่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL เช่นปัจจุบัน”
คงถึงเวลาแล้วที่ “คนไทย” ต้องเริ่มวางแผนเลี้ยงดูตัวเองให้ได้ยามเกษียณอายุ โดยไม่ต้องพึ่งพิงการเลี้ยงดูจากลูก หากไม่รีบแก้ไขจะเป็นภาระต่อภาพรวมของประเทศมากๆ ดังนั้น แนวทางแก้ไขคือ “การดึงคนไทยลงทุน” อย่างต่อเนื่อง และไม่คาดหวังการเลี้ยงดูจากลูกเพียงอย่างเดียว จากอดีตอาจจะไม่ต้องคิดมากเนื่องจากคนไทยมีลูกหลายคนจึงสามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ แต่ปัจจุบันด้วยครอบครัวมีลูกเพียงคนเดียวต้องหาเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ 2 คน คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากขึ้น
และหากคนไทยยังมองการออมเงินไว้ในยามเกษียณอายุด้วยรูปแบบเดิมๆ อย่างการฝากเงินไว้กับธนาคาร (แบงก์) เพื่อหวังได้ดอกเบี้ยมาใช้จ่ายเฉกเช่นในอดีตที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับ “ตัวเลขสองหลัก” นั้น ในยุคปัจจุบันคงไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นอีก สะท้อนผ่านอัตราดอกเบี้ยอยู่ใน “ระดับต่ำ”มายาวนานกว่า 5 ปีแล้ว และแนวโน้มจะต่ำลงอีก !
ดังนั้น ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเรี่ยดินเช่นนี้ไม่ต้องถามเลยว่าตอนเกษียณอายุจะมี “เงินพอใช้” และไม่เป็นภาระหรือไม่ ? ส่วนตัวบอกได้เลยว่า “ค่อนข้างยาก” หากคนไทยยังฝากเงินอย่างเดียวต่อไปเรื่อยๆ คงเป็นเรื่องยากที่จะมีเงินเพียงพอใช้จ่ายในอนาคต
“กัมพล” บอกต่อว่า SCBS จึงพยายามที่จะดึงคนไทยหันมาตระหนักในเรื่องของ “การลงทุน” มากขึ้น ด้วย “การปรับกลยุทธ์” เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าและสนับสนุน “การออม และ การลงทุน” อย่างยั่งยืนในอนาคต สอดคล้องกับในช่วงปลายปี 2562 ทาง SCBS เตรียมเปิดตัว “แอพพลิเคชั่น EASY INVEST” ในการลงทุน ซึ่งเป็นระบบการซื้อขายที่ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ทุกเพศและวัย ตามแต่สไตล์การลงทุนของแต่ละคน
โดยในช่วงแรกลูกค้าสามารถซื้อขาย “กองทุนรวม และ ตราสารหนี้” ทั้งแบบ DIY และ Automated Service ได้แก่ “Robo Advisor” ซึ่งเป็นการบริหารพอร์ตกองทุนรวมอัตโนมัติด้วยสมองกลอัจฉริยะ หรือ AI เป็นรายแรกในเมืองไทย ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นหลัก “พันบาท” โดยการลงทุนด้วยจำนวนเงินไม่มาก ถือเป็นฐานลูกค้า (รายย่อย) กลุ่มใหญ่ของเรา
ปัจจุบัน SCBS มีลูกค้าอยู่ 1.7 แสนบัญชี ซึ่งตอนนี้ “มาร์เก็ตติ้ง”1 คน ต้องดูแลลูกค้า 300 ราย ในความเป็นจริงมาร์เก็ตติ้งสามารถดูแลลูกค้าได้เต็มที่ 30 รายเท่านั้น ฉะนั้น มาร์เก็ตติ้งจะต้องเลือกดูแลลูกค้าที่เป็น Hi-touch (ลูกค้ารายใหญ่) ก่อน ส่วนลูกค้ารายย่อย (พอร์ตเล็ก) ก็ต้องดูแลตัวเองในช่วงที่ผ่านมา เพราะเป็นไปไม่ได้เลยเวลาหุ้นร่วงหนักๆ แล้วมาร์เก็ตติ้งจะสามารถยกหูโทรศัพท์หาลูกค้าที่ดูแลครบทั้งหมด 300 คน ไม่มีทาง !
ดังนั้น SCBS จึงหาแนวทางการ “แก้ปัญหา” (Pain Point) ดังกล่าว โดยในส่วนของพอร์ตนักลงทุนรายย่อย บริษัทจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารพอร์ตกองทุนรวมอัตโนมัติด้วยสมองกลอัจฉริยะ หรือ AI โดยเข้ามาช่วยในการลงทุนและให้คำปรึกษาเรื่องการลงทุนเพื่อให้เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของแต่ละคน
“ที่ผ่านมาเราดูแลได้เฉพาะพอร์ตลูกค้ารายใหญ่ ทว่าพอร์ตลูกค้ารายย่อยเขาก็เป็นลูกค้าเราเหมือนกัน ฉะนั้น SCBS จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องการลงทุนเพื่อหวังให้คำแนะนำ และดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ”
**ธุรกิจโบรกเร่งรับมือ ค่าคอมมิชชั่น 0%
“กัมพล จันทวิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS เล่าให้ฟังว่า ธุรกิจโบรกเกอร์ต้องปรับตัวเตรียมรับมือกับค่าคอมมิชชั่นเท่ากับ “ศูนย์” หลังเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ในประเทศสหรัฐ มีค่าคอมมิชชั่นเท่ากับ 0% ไปแล้ว
โดยที่ผ่านมา “ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์” โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมนายหน้าค่าหลักทรัพย์ (คอมมิชชั่น) เป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของธุรกิจปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ! โดยปัจจุบันอยู่ที่ 0.09% เดิม 0.13% และไม่มีโอกาสปรับขึ้นแน่นอน นั้นเป็นสัญญาณยืนยันว่าหากโบรกเกอร์ที่มีธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเดียวคงหนีไม่พ้นคำว่า “อยู่ยาก” หากยังไม่ปรับตัว !
ทำให้ที่ผ่านมาเหล่าผู้ประกอบการโบรกเกอร์ทุกรายพยายามหา “ทางรอด” เพื่อหวังต่อลมหายใจให้ธุรกิจ ! และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS
ก็เป็นหนึ่งในโบรกเกอร์ที่ทำธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเดียว ซึ่งปัจจุบัน SCBS ก็พยายามปรับตัวเองแต่ต้องยอมรับว่าทำได้ค่อนข้าง “ยาก” !
แต่ในเมืองไทยค่าคอมมิชั่นเป็น 0% คงจะต้องมาถึงในวันใดวันหนึ่ง เพราะว่าเทรนด์ของโลกเป็นเช่นนั้น โดยในสหรัฐฯ ที่ฟรีค่าคอมมิชชั่นนั้น เกิดจากแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Robinhood คือ ฟินเทคที่ให้บริการเป็นช่องทางการซื้อขายหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆ ในสหรัฐฯ โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม นักลงทุนที่สมัครแอพพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถเทรดหุ้นตลาดสหรัฐและฮ่องกงด้วยค่าธรรมเนียม 0% และปัจจุบันฟินเทคดังกล่าวกำลังเข้ามาในธุรกิจจัดการกองทุนด้วย สะท้อนผ่านซื้อกองทุนที่สหรัฐฯ ไม่มีค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนเพราะว่ากองทุนเหล่านี้ใช่หุ่นยนต์ในการบริหารแทนคน
** 6 ปัจจัยกระทบธุรกิจหลักทรัพย์
เขา บอกต่อว่า สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ด้วย“6 ปัจจัย” ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจหลักทรัพย์ ประกอบด้วย
1.การแข่งขันที่รุนแรงและการปรับตัวลดลงของค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ ร่วมกับสถานการณ์ตลาดทุนที่มีความผันผวนทำให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายหุ้นลดลง
2.สภาพแวดล้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผล (Technology Disruption) ทำให้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมหลักทรัพย์มากขึ้น ได้แก่ FinTech, Wealth Tech Players, AI and ROBO Technology Start-up Company
3.การวางแผนเกษียณอายุ สืบเนื่องจากจำนวนประชากรสูงวัยที่มีชีวิตยืนยาวมากขึ้น ส่งผลทำให้ต้องการบริหารจัดการความมั่งคั่งเพื่อให้เพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีแนวโน้มแก่ก่อนจน
4.การเพิ่มขึ้นของผู้มีอันจะกิน หรือลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีความต้องการบริการด้านการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น (customized and personalized wealth advisory services)
5.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่น Millennials ที่มีความต้องการในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ในชีวิตในรูปแบบ Real-time ผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Smartphone and mobile devices) และ
6.ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป อ้างอิงกับพฤติกรรมความต้องการส่วนบุคคล (Need-based Basis) ปัจจัยต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นล้วนส่งผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อทิศทางด้านการบริหารจัดการความมั่งคั่งของผู้ลงทุน
ทั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ในประเทศไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกันกับของภูมิภาคและของโลก พบว่าภายหลังจากการที่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทและมีการพัฒนามากขึ้นส่งผลให้จำนวนสาขาของบริษัทหลักทรัพย์รวมทั้งอุตสาหกรรมมีการปิดตัวลงเพิ่มมากขึ้น
ส่วนที่มาของรายได้บริษัทหลักทรัพย์ยังคงมาจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ (Brokerage Business) กว่า 55% ส่วนที่เหลือมาจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากบัญชีมาร์จิ้น และอื่นๆ อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคืออัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าค้าหลักทรัพย์เฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.09% จากอดีตที่อยู่ที่ระดับ 0.13%
**ทุ่ม 100 ล้านบาท พัฒนาระบบ AI
บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) คาดในปี 2563 บริษัทเตรียมทุ่มงบลงทุนราว 100 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อตอบโจทย์นักลงทุน อาทิ การปรับปรุงการให้บริการลงทุนผ่านแอพพลิเคชั่น EASY INVEST ให้บริการซื้อขายกองทุนรวม และตราสารหนี้ ในลักษณะ DIY และ Automated Service ได้แก่ Robo Advisor ที่สามารถบริหารพอร์ตกองทุนรวมอัตโนมัติด้วยสมองกลอัจฉริยะ หรือ AI
โดยเป็นรูปแบบการเลือกกองทุนรวมของทั้ง 17 บลจ. ที่มีผลตอบแทนที่ดีที่สุดเหมาะสมกับสไตล์ผู้ลงทุน เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้
นอกจากนั้น บริษัทกำลังพัฒนาระบบ AI เพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนหุ้นในต่างประเทศได้ด้วยตัวเอง มีข้อมูลครบถ้วนประกอบการตัดสินใจลงทุน เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดบริการเป็นทางการได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 และจากการลงทุนปรับแพลตฟอร์มการลงทุนโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการมากขึ้น ทำให้ในปีนี้มีจำนวนลูกค้าที่เข้ามาเปิดบัญชีใหม่ราว 70,000 บัญชี ส่งผลให้ปัจจุบันพอร์ตลูกค้ารวมของบริษัทเพิ่มขึ้นมาเป็น 170,000 บัญชี พร้อมกับเชื่อว่าภายในปี 2563 คาดจะมีจำนวนลูกค้าใหม่เข้ามาเปิดบัญชีกับบริษัทอีกราว 50,000-60,000 บัญชี
"ที่ผ่านมาเราไม่เคยลงไปแข่งขันเรื่องค่าคอมมิชชั่นเรามุ่งเน้นพัฒนาระบบ AI และคุณภาพการให้บริการด้านต่างๆ เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนคุ้มค่าผลตอบแทน ขณะที่ปัจจุบันแนวโน้มธุรกิจรายได้จากค่าคอมมิชชั่นก็จะถูกลดลงไปเรื่อยๆ ตามเทรนด์อุตสาหกรรมหลักทรัพย์ของโลก ถ้าในกรณีไทยเปิดเสรีให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างชาติต่อท่อเข้ามาซื้อขายได้โดยตรงกับตลาดหลักทรัพย์ฯ จากปัจจุบันที่ยังต้องผ่านตัวกลางบริษัทหลักทรัพย์ในไทยที่ได้รับใบอนุญาต มีความเป็นไปได้ว่าการแข่งขันของธุรกิจหลักทรัพย์ในไทยรุนแรงมากกว่าในปัจจุบันอย่างแน่นอน”
ทั้งนี้ จากแผนดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงเหลือต่ำกว่า 50% จากปัจจุบันอยู่ในระดับ 70% ขณะที่สัดส่วนรายได้ที่เหลือมากกว่า 50% เป็นธุรกิจอื่นที่มุ่งเน้นคุณภาพการให้บริการเป็นหลัก