ไทยจับมือเจโทรปั้นผู้ประกอบการไทยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
4 องค์กร จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ท่องเที่ยวชุมชน ต้นแบบจากญี่ปุ่น” ให้ผู้ประกอบการไทยพร้อมเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น คาดว่าจะเพิ่มยอดขายได้กว่า 1 เท่าตัว
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC)จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ท่องเที่ยวชุมชน ต้นแบบจากญี่ปุ่น” ในวันที่ 17 ธ.ค.ที่ม.หอการค้าไทย โดยประเทศญี่ปุ่น เป็นต้นแบบของการเล่าเรื่องที่และออกแบบสินค้า บริการที่ดี สามารถผูกเรื่องราวระหว่างแหล่งท่องเที่ยวกับสินค้า บริการ และร้านของที่ระลึกได้อย่างลงตัวและน่าสนใจ ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงจากผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ในวันที่ 17 ธ.ค. นี้ เนื่องจากประเทศไทยมีสินค้าที่น่าสนใจมากมายแต่มีข้อด้อยเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ค่อยสวยงามและน่าสนใจ การที่ผู้ประกอบการได้เข้ามาเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ก็จะทำให้สินค้าของไทยได้รับความสนใจ มียอดขายมากขึ้น โดยคาดว่าจะเพิ่มยอดขายได้กว่า 1 เท่าตัว และจะประเมินความสำเร็จของโครงการต่อไป
นายกลินท์ กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยตระหนักในเรื่อง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดความเหลื่อมล้ำ ให้กับภาคธุรกิจตลอดจนผู้ประกอบการในท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสและขยายช่องทางการตลาดพัฒนาสินค้าและบริการชุมชน ส่งต่อ 5 วิถีเท่ การชม ชิม ช้อป ช่วย แชร์ ซึ่งปัจจุบันการแข่งขันการค้าในปัจจุบัน สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้น โดยเฉพาะการตลาดออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่ผู้บริโภค ร้านค้า ร้านขายของฝาก ของที่ระลึกเป็นส่วนหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจะต้องแวะเวียนเข้าไปจับจ่ายใช้สอย การสร้างความเข้มแข็งเพื่อพัฒนาร้านค้าในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการสนับสนุนเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์และสร้างจุดเด่นให้ร้านค้า กระตุ้นให้เกิดการซื้อเพื่อนำไปเป็นของฝากหรือของที่ระลึก ซึ่งจะส่งเสริมให้การท่องเที่ยวมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เป็นการชักนำให้นักท่องเที่ยวต้องมาถึงแหล่งท่องเที่ยวเพื่อจะสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ของฝาก/ของที่ระลึกเหล่านี้ได้
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สินค้าไลฟ์สไตล์เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกถึง 12,353 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.03% จากปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยที่ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย มีมูลค่าการส่งออกในเดือนม.ค.ถึงเดือนต.ค. ปี 2562 กว่า 1,154 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มุ่งเน้นรูปแบบและการบริหารจัดการช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านร้านขายของที่ระลึก รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการจัดแสดงสินค้าเพื่อนำมาพัฒนาร้าน/สินค้าของที่ระลึกของไทย เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างภาพลักษณ์สินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความประทับใจในตัวสินค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการต่อยอดจากกิจกรรมสัมมนาการพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging Design Development) ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561
นายอัตสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวว่า ทางญี่ปุ่นจะนำแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวย่านโอคาเงะโยโคะโจ ของจังหวัดมิเอะ มาถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการไทย ได้รับไปปรับใช้ต่อไป ในหัวข้อ “การค้นหา การใช้ประโยชน์ การสรรสร้าง ทรัพยากรของจังหวัดมิเอะ - ในวิถีของเมืองอิเสะ ย่านโอคาเงะโยโคะโจ” โดยนายฟุมิฮิโระ ฮาชิกาวะ ประธานบริหาร บริษัทอิเซฟุคุ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเส้นทางแห่งความสำเร็จและเป็นผู้สร้างย่านโอคาเงะโยโคะโจ ซึ่งเป็นผู้ทำให้ย่านดังกล่าวกลับมาคึกคักอีกครั้ง
นายซึโยชิ อิโนอูเอะ (Mr. Tsuyoshi Inoue)กรรมการผู้จัดการ หอการค้าญี่ปุ่น -กรุงเทพฯ กล่าวว่า สินค้าท้องถิ่นของประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมอยู่มากมายแต่ยังขาดการนำเสนอที่น่าสนใจ จะทำอย่างไรให้สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นให้มีความน่าสนใจได้มากกว่านี้ ซึ่งการที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ขายได้นั้น จำเป็นที่จะต้องฟังเสียงจากผู้บริโภค แต่เนื่องจากผู้บริโภคแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่ง่ายเลยที่ผู้ผลิตจะได้รับฟังเสียงสะท้อนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
สำหรับกิจกรรมการสัมมนาได้รับความร่วมมือจาก 4 บริษัท จากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ บริษัท สยามทบพันแพคเกจจิ้ง จำกัด, บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย) จํากัด และบริษัท กรุงเทพ - โตคิว สรรพสินค้า จำกัด มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านการทำ Work Shop เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างภาพลักษณ์สินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความประทับใจในตัวสินค้ามากยิ่งขึ้น โดยการสัมมนาเชิงปฎิบัติการจัดขึ้น เวลา 9.-00-16.00 น. ห้องเรียน 10201 ชั้น 2 อาคาร 10 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หอการค้าไทย , JETRO, DITP