หนี้ครัวเรือนปี 62 สูงสุดประวัติการณ์ 3.4 แสนบาท
พิษเทรดวอร์ เศรษฐกิจไทยฟุบ ดันหนี้ครัวเรือนพุ่ง 340,053 บาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จี้รัฐเร่งฟื้นเศรษฐกิจ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยว่า ในปี 2562 หนี้ครัวเรือนเฉลี่ยที่ 340,053 บาทต่อครัวเรือน เป็นอัตราที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ และเพิ่มจากปีก่อน 7.4%
โดยสาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวจากผลกระทบสงครามการค้า ทำให้ภาคการส่งออกลดลง ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ปริมาณนักท่องเที่ยวลดลง นอกจากนี้รายได้ลดลง ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น มีการซื้อสินทรัพย์ที่ถาวร เช่น บ้าน รถ มีการใช้จ่ายบัตรเครดิตมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือเจเนเรชั่นวาย ที่มีการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยและเกินตัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีการซื้อสินค้าบ่อยครั้งหรือซื้อจุกจิก
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าจำนวนหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อครัวเรือน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองว่าปัญหามาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลก โดยปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัว 2.5-2.6% ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่า 3% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ส่งผลกับรายได้ของประชาชนจำเป็นที่จะต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ,แก้ปัญหาการว่างงาน,ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ,ลดอัตราการจัดเก็บภาษี เป็นต้น เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศไทยสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงกลางไตรมาส 1 ปี 2563 หากยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว ก็จะยิ่งทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นได้ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 78% ของจีดีพี เพราะหากเกิน 80% ของจีดีพี ก็จะอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก
"หนี้ครัวเรือน 340,053 บาท โดยเป็นหนี้ในระบบ 59.2% และนอกระบบ 40.8% ส่วนการผ่อนชำระต่อเดือนนั้นพบว่าครัวเรือนมีการชำระหนี้ในระบบเฉลี่ยเดือนละ 16,960 บาท ลดลงจากปีก่อน 0.90% และชำระหนี้นอกระบบเฉลี่ยเดือนละ 5,222 บาท เพิ่มขึ้น 0.56% โดยหนี้นอกระบบส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และคนที่มีวงเงินกู้ในระบบเต็มเพดานจึงหันไปกู้นอกระบบ"
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนยังไม่น่ากังวลเพราะยังไม่ถึง 80% ของจีดีพี อีกทั้งหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทั้งเพื่อใช้จ่ายทั่วไป เพื่อการลงทุนประกอบธุรกิจ ชำระหนี้เก่า ซื้อสินทรัพย์ เป็นต้น
ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาในช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ปีหน้า ดูแลค่าครองชีพ และควบคุมระบบค่าครองชีพให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ฟื้นฟูแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ผู้ประกอบการและนักลงทุน จัดหาแหล่งทุนในระบบดอกเบี้ยต่ำ
รวมถึงลดข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับประชาชนที่มีความต้องการกู้ยืม แก้ไขหนี้นอกระบบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แก้ไขการว่างงาน พัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้แก้ไขปัญหาความยากจน และดูแลสวัสดิการให้กับประชาชน เช่น ค่ารักษาพยาบาล เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น