จ่อเถกเอฟทีเอไทย-ตุรกี ดันเป้าการค้า2 ฝ่ายสู่ 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 63
พาณิชย์เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจรจาเอฟทีเอไทย - ตุรกี 2 - 4 ธ.ค.นี้ เน้นหารือการเปิดตลาด ลดและยกเลิกภาษีศุลกากรการค้าสินค้าระหว่างกัน คาดสรุปผลเจรจาปีหน้า
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ไทย - ตุรกี รอบที่ 6 ระหว่างวันที่ 2 - 4 ธ.ค. 2562 ณ กรุงเทพฯ โดยการเจรจารอบนี้จะเน้นหารือเรื่องการเปิดตลาด ลดและยกเลิกภาษีศุลกากรในการค้าสินค้าระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการจัดทำข้อบทเอฟทีเอต่อเนื่องจากการประชุมรอบที่แล้ว โดยเบื้องต้น คาดว่า ความตกลงฉบับนี้จะประกอบด้วย 11 ข้อบท เช่น การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการเยียวทางการค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัย และอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า เป็นต้น โดยตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในปี 2563
นางอรมน กล่าวว่า า ไทยให้ความสำคัญกับการจัดทำเอฟทีเอกับตุรกี เนื่องจากตุรกีถือเป็นตลาดศักยภาพที่มีประชากรกว่า 80 ล้านคน มีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 40 ล้านคนต่อปี รวมทั้งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญสามารถเป็นประตูสู่ 3 ทวีป ได้แก่ เอเชีย แอฟริกา และยุโรป ซึ่งคาดว่าการจัดทำความตกลงเอฟทีเอไทย – ตุรกี จะช่วยดันมูลค่าการค้าสองฝ่ายขยายตัวจาก 1,427 ล้านดอลลาร์ในปี 2561 เป็น 2,000 ล้านเดอลลาร์ในปี 2563 ตามที่รัฐมนตรีด้านการค้าของทั้งสองประเทศตั้งเป้าไว้ โดยสินค้าสำคัญที่คาดว่าไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากเอฟทีเอ เช่น สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง หม้อไอน้ำ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผักและผลไม้เมืองร้อน เป็นต้น
ทั้งนี้ ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 36 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยปี 2561 สองประเทศมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,427 ล้านดอลลาร์ เป็นการส่งออกจากไทยไปตุรกี 1,082 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้าจากตุรกี 345 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับ อัญมณี และรถไฟ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น