นายกฯ นั่งหัวโต๊ะถก กพอ.วันนี้ ตั้งบอร์ดคุมไฮสปีดเทรน
“คณิศ” ชง กพอ.ตั้งบอร์ดคุมไฮสปีดวันนี้ “คมนาคม” นั่งประธานดูแลโครงการ “สกพอ.” ประธานบริหารสัญญา รฟท.นัด “ซีพี” หารือมั่นใจสรุปแบบ-เคลียร์ย้ายสาธารณูปโภคปลาย ม.ค.63
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) วันนี้ (6 ธ.ค.) เพื่อติดตามความคืบหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ลงนามสัญญาร่วมลทุนแล้ว คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3
2.กลุ่มที่อยู่ระหว่างการประมูลและมีข้อพิพาทในชั้นศาลปกครอง คือ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ของกองทัพเรือ
3.กลุ่มที่ต้องเริ่มขั้นตอนการประมูลหรือจัดหาเอกชนร่วมลงทุนใหม่ คือ โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การประชุม กพอ.วันนี้ จะเสนอให้มีการพิจารณากลไกการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 ส่วน คือ 1.คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะเข้ามาดูแลส่วนนี้ 2.คณะกรรมการบริหารสัญญา โดยที่ผ่านมา กพอ.เห็นชอบหลักการไว้แล้วและการประชุมครั้งนี้จะพิจารณารายละเอียด เช่น รายชื่อกรรมการกำกับสัญญา
นายคณิศ กล่าวว่า ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยกองทัพเรือได้ดำเนินการเปิดซองเอกสารข้อเสนอตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
“คมนาคม”นั่งประธานกำกับ
รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ จะมีผู้แทนกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ซึ่งอาจมีการเสนอชื่อนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ดูแลการแก้ปัญหาค่าโง่โฮปเวลล์และค่าโง่ทางด่วน หรือนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบกและประธานกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
ส่วนคณะกรรมการบริหารสัญญามี 5 คน คือ ผู้แทน สกพอ.เป็นประธาน ส่วนกรรมการมาจากผู้แทนกระทรวงคมนาคม 1 คน ผู้แทน ร.ฟ.ท.ระดับรองผู้ว่าการ 1 คน และผู้แทน สกพอ. 2 คน
คณะกรรมการบริหารสัญญามีหน้าที่ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามสัญญา พิจารณาให้ความเห็นการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน รวมทั้งรายงานความคืบหน้า ปัญหาหรือข้อพิพาทให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการและ สกพอ.
“ซีพี”เร่งออกแบบไฮสปีด
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ในขั้นตอนรอดูรายละเอียดของแบบก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จํากัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นหลัก อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด และจะมีการนัดหารือร่วมกันในวันที่ 11 ธ.ค.นี้
“ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรอดูภาพรวมการออกแบบโครงการ เพื่อที่จะดำเนินการเรื่องอื่นๆ วางแผนเรื่องอื่นต่อไป ซึ่งตอนนี้ทางซีพีแจ้งว่าได้จะนัดทีมงานออกแบบมาหารือในรายละเอียดร่วมกัน การรถไฟฯ ก็จะขอเข้าไปฟังข้อมูลด้วย เพราะต้องฟังสรุปภาพรวมว่าเขาต้องการก่อสร้างอะไร ส่วนใดก่อน และมีปัญหาอะไรติดขัดอย่างไรบ้าง จะได้นำมาดำเนินการในทิศทางเดียวกัน”
สำหรับการดำเนินงานภายหลังลงนามสัญญาร่วมทุนไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจอย่างเป็นทางการ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องการเห็นภาพของแผนก่อสร้างทั้งหมดก่อน แต่ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหาการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาผู้บุกรุก ปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากต้องรอดูความชัดเจนของการเข้าพื้นที่ที่ทางเอกชนต้องการก่อสร้างโครงการก่อน
เตรียมส่งมอบพื้นที่ช่วงแรก
นายวรวุฒิ กล่าวว่า ตอนนี้ยังคงส่งมอบพื้นที่ไว้ตามเดิม คือ พื้นที่ที่มีความพร้อมส่งมอบได้ทันที ได้แก่ ช่วงสุวรรณภูมิ –อู่ตะเภา คาดว่าจะส่งมอบแล้วเสร็จภายใน 1 ปี จึงประเมินว่าพื้นที่นี้ จะเป็นส่วนแรกที่กลุ่มซีพีสามารถเข้าพื้นที่เพื่อเริ่มงานก่อสร้างได้ แต่ปัจจุบันยังต้องคุยในรายละเอียดของการรื้อย้ายสาธารณูปโภคให้ชัดเจนก่อน เพื่อไม่เป็นปัญหาติดขัดขั้นตอนก่อสร้างในอนาคต
นอกจากนี้ กพอ.เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ โดยจะมีการแต่งตั้งผู้แทนจากกระทรวงคมนาคมเป็นกรรมการด้วย ถือเป็นข้อกำหนดตามกฎหมายร่วมทุนที่ระบุไว้ ว่าจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวเพื่อติดตาม ดูแลความคืบหน้าของโครงการ
“ตอนนี้โครงการก็อยู่ในช่วงของการเดินหน้างานต่างๆ เราไม่ได้อยู่นิ่งตั้งแต่ลงนามมา มีการทำงานร่วมกันมาตลอดแต่หลายๆ อย่างในตอนนี้จำเป็นต้องเห็นภาพรวมทั้งหมดของแผนก่อสร้างก่อน จึงจะวางแผนทำงานส่วนอื่นได้ อย่างส่วนสำคัญเรื่องปัญหาบุกรุก หากเราลงพื้นที่ขอคืนพื้นที่แต่ยังไม่ได้เริ่มงานก่อสร้าง ก็จะเป็นปัญหาตามมา แต่ปีหน้าที่แน่ๆ จะเห็นแผนออกแบบก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ เริ่มเห็นขั้นตอนเคลื่อนย้ายผู้บุกรุก และเริ่มมีการกั้นรั้วโครงการ”
สรุปรื้อย้ายสาธารณูปโภค ม.ค.
แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ทำงานร่วมกับกลุ่มซีพีมาตลอด อยู่ระหว่างหารือรายละเอียดของการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ร่วมกับทุกหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภค คาดว่าภายใน ม.ค.นี้ จะรู้ผลว่าแต่ส่วนจะมีการรื้อย้ายอย่างไร หลังจากนั้นก็จะเริ่มทำสัญญามอบพื้นที่
รวมทั้งการออกแบบก่อสร้างโครงการที่ปัจจุบันทางกลุ่มซีพีอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือน ม.ค.นี้ ส่งผลให้การทำงานหลังจากนี้จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น โดยยอมรับว่าการก่อสร้างโครงการหากสามารถรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค หรือมีแผนรื้อย้ายที่ชัดเจน จะทำให้การทำงานง่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ กลุ่มซีพีต้องการให้ ร.ฟ.ท.ส่งมอบพื้นที่เป็นแปลงใหญ่ ไม่ต้องการให้ส่งมอบเฉพาะส่วนที่มีความพร้อมได้ก่อน เพราะไม่ต้องการก่อสร้างเป็นช่วงๆ แต่ไม่เชื่อมต่อ
“ตอนนี้ก็มีพื้นที่ที่การรถไฟฯ มีความพร้อมส่งมอบอยู่แล้ว อย่างช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา แต่ก็ควรคุยในรายละเอียดของสาธารณูปโภคต่างๆ รอบพื้นที่ไปเลย เพื่อที่จะได้วางแผนงานก่อสร้างได้ชัดเจน ประกอบการทางซีพีเองก็ไม่ต้องการสร้างแบบฟันหลอ แต่ต้องการสร้างแล้วเป็นแนวเส้นทางระยะยาวที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่แล้ว เพราะที่ผ่านมาเราก็คุยในรายละเอียดกับหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคมาตลอด”
มั่นใจเริ่มส่งมอบพื้นที่ภาย1ปี
สำหรับแผนส่งมอบพื้นที่ของ ร.ฟ.ท.ก่อนหน้านี้มีการกำหนดออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.พื้นที่ที่มีความพร้อมส่งมอบได้ทันที ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา คาดว่าจะใช้เวลาส่งมอบแล้วเสร็จภายในประมาณ 1 ปีกว่า หลังลงนามสัญญา
2.ช่วงโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีความพร้อมส่งมอบแล้ว แต่มีเงื่อนไขเอกชนจะต้องจ่ายค่าโอนสิทธิ์บริหารประมาณ 1 หมื่นล้านบาทให้แล้วเสร็จ ซึ่งมีกรอบกำหนดว่ากลุ่มซีพีจะต้องจ่ายค่าโอนสิทธิ์ดังกล่าวให้ครบทั้งหมดภายใน 2 ปีนับจากวันลงนามสัญญา
3.พื้นที่ที่ยังไม่พร้อมส่งมอบ เนื่องจากยังมีระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญที่ต้องใช้เวลาเคลื่อนย้าย เช่น ท่อน้ำมัน อีกทั้งยังมีปัญหาผู้บุกรุก คือ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง คาดว่าจะใช้เวลาทยอยส่งมอบให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามสัญญา