"สุวิทย์" ดึงอุตฯ-ศูนย์วิจัยต่างชาติ ผนึกลงทุนไฮเทค “อีอีซี”
กระทรวงการอุดมฯ เร่งสร้างบุคลากรชั้นสูง ดึงอุตสาหกรรมไฮเทคเข้ามาลงทุนพร้อมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ
หัวใจหลักของการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ การสร้างบุคลากรทักษะสูงรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพราะถ้าขาดบุคลากรกลุ่มนี้ก็ยากที่จะดึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงมาลงทุน ดังนั้น จึงเป็นโจทย์สำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะสร้างบุคลากรเร่งด่วน
สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมฯ ได้ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง “อีอีซี โมเดล” ซึ่งได้ประชุมไปเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา
รวมทั้งเมื่อโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 5 โครงการ ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว ในปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเร่งเดินหน้าเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี)
การพัฒนาอีอีซีไอจะเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดการลงทุนการลงทุน การวิจัยและพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิด “เบรนพาวเวอร์” หรือบุคลากรที่เป็นมันสมองของประเทศในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
รวมทั้งสร้าง “แมนพาวเวอร์” หรือบุคลากรที่มีทักษะสูงในเทคโนโลยี โดย สกพอ.จะดึงมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลกมาตั้งในอีอีซี พร้อมดึงอุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้าของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยมาลงทุนไทยด้วย ซึ่งจะเข้ามาลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำที่เป็นการวิจัยไปจนถึงปลายน้ำที่เป็นภาคการผลิต
นอกจากนี้ จะผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยนำผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยของไทยนำมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมและสินค้าเชิงพาณิชย์และจะไปวางรูปแบบการของบประมาณของอีอีซีไอ ซึ่งปัจจุบันต้องขอเป็นปีต่อปีและจะปรับให้สอดคล้องกับงานวิจัยที่จะต้องใช้งบประมาณในระยะยาว เพื่อให้งานวิจัยมีความต่อเนื่อง
รวมทั้งจะต้องสอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลที่จะพัฒนาประเทศไทยไปสู่บีซีจี (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจด้านสิ่งแวดล้อม) ดึงดูดบริษัทระดับโลกด้านนี้มาอยู่ที่ไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้าง “เบรนพาวเวอร์” ที่เข้มแข็งให้กับไทย