“อินเด็กซ์”จับสัญญาณอีเวนท์หดตัว ปลุกเทรนด์ NUL กู้ชีพธุรกิจ
ประเด็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ต่ำ ยังเป็นปัญหาใหญ่ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต ไม่เท่านั้น เพราะเศรษฐกิจที่โตน้อย ยังกระเทือนกำลังซื้อให้หดตัว การทำแคมเปญ จัดกิจกรรมต่างๆ จึงกระทบถึงธุรกิจ “อีเวนท์หมื่นล้าน”
เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ว่าปี 2561 เป็นปีที่ธุรกิจอีเวนท์กลับมา “โต” ได้อีกครั้ง หลังจาก 4-5 ปีก่อนหน้านั้นตลาด “ติดลบ” ตลอด
ทว่า ยิ้มออกไม่ทันข้ามปีก็ต้องเผชิญภาวะชะลอตัวอีกครั้งในปี 2562 ที่ประเมินว่ามูลค่าตลาดอีเวนท์อยู่ที่ 13,000 ล้านบาท หดตัวราว 4% แนวโน้มยังชะลอตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2563 ตลาดดิ่งอีก 5% ภายใต้จีดีพีจะต่ำกว่า 3% ขณะที่ผู้ประกอบการแบรนด์สินค้าและบริการในเซ็คเตอร์ต่างๆ ได้ปรับรูปแบบการจัดอีเวนท์ จากอดีตเน้นสร้างแบรนด์ควบคู่ยอดขาย แต่ปัจจุบันต้องการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค ขาดไม่ได้ “ยอดขาย” จะต้องประจักษ์ให้คุ้มกับเงินลงทุนด้วย !
นอกจากนี้ เทรนด์การจัดอีเวนท์ในอดีตที่เคยจัดเพื่อกวาดกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง(Mass) ได้พลิกภาพใหม่ โดย เกรียงไกร ยกเทรนด์ NUL จะเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจอีเวนท์ในปี 2563 มากขึ้น ประกอบด้วย มีความเฉพาะตัวหรือ Niche มากขึ้น คอนเสิร์ตใหญ่โกยคนดูมากๆ อาจต้องลดขนาดเล็กลง จับคนดูเฉพาะกลุ่ม มีเอกลักษณ์ หรือ Unique ยิ่งขึ้น ต้องแตกต่างด้วยคอนเซปต์ ทำเลการจัดงาน ซึ่งต้องไม่เหมือนคู่แข่ง และพิเศษ จัดแบบจำกัดหรือ Limited เป็นงานที่จัดครั้งเดียว ไม่มีซ้ำ ทำให้คนต้องการร่วมงานชนิดที่ห้ามพลาด และต้องไป!
“เมื่อจีดีพีโตน้อยลง เงินในกระเป๋าเท่าเดิมหรือโตขึ้นเล็กน้อย เวลาผู้บริโภคมีเท่าเดิม กลายเป็นข้อจำกัดในการใช้จ่ายและใช้เวลาให้กับกิจกรรมที่เป็นประโยชน์สูงสุด จึงทำให้เกิดเทนด์ NUL ขึ้น”
อินเด็กซ์ ยังหยิบยกกรณีศึกษา การจัดงาน “วัดร่องขุ่นไลฟ์เฟส” การแสดงโชว์ระบบมัลติมีเดียระดับเวิล์ดคลาส ซึ่งจัดขึ้นที่วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 22 พ.ย.-22 ธ.ค.2562 เป็นงานที่ “Niche” เจาะคนดูวัยเกษียณ ผู้ใหญ่ ซึ่งมีกำลังซื้อสูง ในจังหวัดเชียงราย รวมถึงนักท่องเที่ยวไทย ต่างชาติที่ไปเยือนภาคเหนือ เป็นอีเวนท์ลิมิเต็ด เพราะจัดเพียงครั้งเดียว รวมถึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะเนรมิตวัดร่องขุ่นสีขาวให้มีแสงสีเสียง
ตลาดอีเวนท์เปลี่ยน ยังทำให้ “อินเด็กซ์” ต้อง “ปรับตัว” ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการโฟกัสงานโครงการของตนเอง(Own-Project) ในประเทศมากขึ้น เพราะกำไรดีกว่าและสร้างการเติบโตยั่งยืนได้ แม้จะมีความเสี่ยงว่าโครงการจะปังหรือแป้กก็ตาม รวมถึงการมุ่งกลุ่มพัฒนาธุรกิจครีเอทีฟให้โตต่อเนื่อง เพราะเป็น Creative never die ซ้ำยังเป็นเทรนด์ที่ทั้งโลกต้องการความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเนรมิตสถานที่ต่างๆให้เป็น “จุดหมายปลายทาง”หรือ Destination ที่นักท่องเที่ยวต้องไปเยือนเพื่อดูดเงินใสนกระเป๋าและฟื้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ สุดท้ายธุุรกิจให้บริการด้านการตลาด(Marketing Service)จะหดตัวลง เพราะลูกค้าแบรนด์ต่างๆเปลี่ยนรูปแบบและการเทเงินจัดอีเวนท์อย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ ภายในปี 2563 บริษัทคาดว่าสัดส่วนรายได้จาก Own-Project จะเพิ่มเป็น 25% จากปัจจุบัน 5.5% ครีเอทีฟ 20% จาก 13.9% และการบริการด้านการตลาดจะอยู่ที่ 50-55% จาก 80.6% ขณะที่ภาพรวมปีนี้ธุรกิจครีเอทีฟมีการเติบโตสูงถึง 119% ธุรกิจ Own-Project โต 65% ส่วนการบริการด้านการตลาดหดตัว 6% สำหรับรายได้ของบริษัทปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท เติบโต 13%
เกรียงไกร กล่าวอีกว่า ปลายปีเป็นไฮซีซั่นของการจัดอีเวนท์ โดยเฉพาะการเคาท์ดาวน์ปีใหม่ บริษัทไม่ได้เข้าประมูลงานมากนัก เพราะต้องการโฟกัสโครงการที่สร้างเองมากกว่า จากก่อนหน้านี้ได้รับงานเคาท์ดาวน์ที่เซ็นทรัลเวิลด์ 8-9 ปีติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม การจัดเคาท์ดาวน์ยังมี โดยร่วมกับนักธุรกิจ “วิชัย พูลวรลักษณ์” จัดงาน The Helipad 360 องศา แบงค็อก เคาท์ดาวน์ 2020 เป็นเอ็กซ์คลูสีพ ปาร์ตี้ จำหน่ายบัตรราคาตั้งแต่ 3,500 บาท รองรับคน 1,000 คน ซึ่งไฮไลท์ผู้เข้าร่วมงานจะเห็นพลุจากทุกมุมทั้งคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงจากเซ็นทรัลเวิลด์ ทำให้งานวางแผนเคาท์ดาวน์ล่าช้ากว่าทุกจุดราว 5 นาที เพื่อให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำความงามของพลุ
ปัจจุบันการจัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์สู่ปีใหม่ เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่เพียงแค่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่เท่านั้น โดยมูลค่าการจัดงานโดยรวมคาดอยู่ที่หลักพันล้านบาท และสร้างเม็ดเงินสะพัดราว 5 เท่าตัว ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจจะพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคให้ความสนใจสวดมนต์ข้ามปีมากขึ้น และรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทีวีสูงมากกว่าการจัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์ ซึ่งประชาชนต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อจดจำโมเมนต์ในงาน