กางแผน 4 ตระกูลดัง ! พลิก 'ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่'
ไม่นานเกิน 5 ปี ! “ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่” ปั้นพอร์ตรายได้ธุรกิจพลังงานแตะ 10% 'ศรีวัฒนประภา-วิไลลักษณ์-เจียรวนนท์-พุ่มพันธุ์ม่วง' 4 หุ้นใหญ่ลุยยุทธศาสตร์พลิกฟื้น ดันผลประกอบการเติบโตสม่ำเสมอ ไม่สวิงตามราคาแก๊ส LPG
เมื่อ 4 ตระกูลดัง 'ศรีวัฒนประภา-วิไลลักษณ์-เจียรวนนท์-พุ่มพันธุ์ม่วง' กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ WG ควักเงินกว่า 1,700 ล้านบาท ร่วมกันลงขันซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ บมจ. ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น หรือ PICNI เมื่อปี 2557 ก่อนกลุ่มทุนใหม่เข้ามาฟื้นฟูกิจการทันที !
กลายมาเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ และเปลี่ยนชื่อมาเป็น บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ หรือ WP ปัจจุบันประกอบธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภายใต้เครื่องหมายการค้า 'เวิลด์แก๊ส' วันที่ 1 ก.พ.2561 'หุ้น WP' กลับมาซื้อขายในตลาดหุ้นอีกครั้ง ! และความธรรมดาย่อมไม่ใช่วิถีทางของ '4กลุ่มตระกูลคนดังเหล่านี้'
4 โจทย์หินต้องแก้ไขด่วนของ 4 ตระกูลดัง ! 'ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ หรือ WP เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า คงต้องเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ PICNI ตอนนั้น 4 หุ้นใหญ่มีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่า หากนำธุรกิจของ PICNI เข้ามาทำให้มีการประสานทำงานร่วมกัน (Synergy) กับธุรกิจของเวิลด์แก๊สแล้วจะเกิดประโยชน์สูงสุดในแง่ของธุรกิจได้ สะท้อนผ่าน PICNI มีคลังก๊าซ LPG อยู่คนละพื้นที่กับคลัง LPG เวิล์ดแก๊ส
เมื่อกลายเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว สิ่งแรกต้องเร่งทำคือการเคลียร์โครงสร้างภายในทั้งหมดก่อน หากต้องการให้ธุรกิจ 'ไปต่อ' ดังนั้น '3 โจทย์หิน' ของกลุ่มหุ้นใหญ่จึงกำหนดขึ้นทันที ข้อแรก 'บริษัทต้องกลับมากำไร' เนื่องจากตอนนั้นบริษัทมีขาดทุนสุทธิจำนวนมาก ข้อสอง 'บริษัทต้องกลับมาซื้อขายในตลาดหุ้น' และ ข้อสาม 'บริษัทต้องสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น'
4-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถดำเนินการตามโจทย์ของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ 2 ข้อแล้ว นั่นคือ บริษัทมีกำไรและนำหุ้น WP กลับมาซื้อขาย ส่วนข้อ 3 นั้น คาดว่าปี 2563 น่าจะมีการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) พิจารณาจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี หลังจากต้นปีที่ผ่านมาบริษัทล้างขาดทุนสะสมกว่า 'พันล้านบาท' หมดแล้ว 'นายหญิง WP' ย้ำให้ฟัง
หลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น 'ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่' แปลว่า บริษัทจะไม่ได้มีเพียงธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) อย่างเดียวแล้ว ! นายหญิง WP เล่าให้ฟังว่า ธุรกิจจำหน่ายแก๊ส LPG อาจจะไม่เห็นการเติบโตหวือหวาเฉกเช่นในอดีต ฉะนั้น เมื่อเป้าหมายของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องการเห็นพัฒนาการของบริษัทให้มีการเติบโตทุกๆ ปี สะท้อนผ่านปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือระดับ 'พันล้านบาท'
ดังนั้น แผนธุรกิจระยะยาว 5 ปี (2562-2566) จำต้องปรับพอร์ตรายได้ (Diversify) ด้วยการสร้างพอร์ต 'รายได้ประจำ' หรือ Recurring Income ที่สร้างสินทรัพย์ที่มั่นคงด้านรายได้ต่อเนื่อง ไม่สวิงตามความผันผวนของราคา LPG มากนัก ด้วยการสร้างรายได้ใน 'ธุรกิจใหม่' (New Business) หรือ แม้แต่ธุรกิจที่ต่อยอดจากธุรกิจ LPG
ถามถึงแผนขยายงานธุรกิจใหม่ เธอแจกแจงว่า ตั้งเป้า 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้ 'ธุรกิจพลังงาน' เท่ากับ 10% ของรายได้รวม สะท้อนผ่านปัจจุบันบริษัทสนใจลงทุนใน 'พลังงานแสงอาทิตย์' (โซล่าร์) โดยเฉพาะโซล่าร์ภาคเอกชน เบื้องต้นมองในโปรเจคขนาดเล็กที่ร่วมกันกับเอกชน โดย WP จะเป็นฝ่ายลงทุนให้ คาดว่า 'อัตราผลตอบแทนการลงทุน' หรือ IRR ประมาณ 9-10% โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับเอกชน 1 ราย คาดว่าจะมีความชัดเจนปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
'เราสนใจในธุรกิจพลังงานทุกชนิด แต่จะใช้ความระมัดระวังในการลงทุน แม้เราจะมีกำไรสะสมเป็นพันล้านก็ตาม'
สำหรับธุรกิจที่ต่อยอดจากธุรกิจ LPG นั้น บริษัทสนใจลงทุน 'ธุรกิจผลิตถังบรรจุก๊าซ LPG' และ 'ธุรกิจซ่อมถังบรรจุก๊าซ LPG' โดยอยู่ระหว่างศึกษา 'ลงทุนเอง' และ 'ซื้อกิจการ' (เทคโอเวอร์) วงเงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท เบื้องต้นในธุรกิจผลิตถังบรรจุก๊าซ LPG ในเฟสแรก คาดว่ากำลังการผลิต 30,000-40,000 ใบต่อปี ขณะที่ปริมาณการใช้ถังบรรจุก๊าซ LPG ของบริษัทประมาณ 'แสนใบต่อปี' และ ธุรกิจซ่อมถังบรรจุก๊าซ LPG เป็นธุรกิจที่ต้องลงทุน เพราะว่าถังบรรจุก๊าซ LPG จำหน่ายออกไปตามครัวเรือนเมื่อกลับคืนมาต้องมีการตรวจสอบก่อนใช้งานครั้งใหม่ หากบริษัทมีโรงซ่อมเองจะสามารถควบคุมคุณภาพของถังได้
อย่างไรก็ตาม มองว่าธุรกิจผลิตและซ่อมถังบรรจุแก๊ส LPG ใน 2 ปีข้างหน้า ลงทุนมาเพื่อสนับสนุนธุรกิจของบริษัท แต่ในระยะยาวอาจจะมีโอกาสที่บริษัทจะกลายมาเป็น 'ผู้รับจ้างผลิต' หรือ OEM ได้ เพราะว่าปัจจุบันในตลาดดังกล่าวมีผู้เล่นรายใหญ่เพียง 3 รายเท่านั้น และสัดส่วน 80-90% เป็นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก
'การเริ่มต้นลงทุนใน 2 ธุรกิจ (ผลิตและซ่อม) ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการลดต้นทุนของเราลงได้หลักสิบล้านบาทต่อปี จากเดิมที่บริษัทจ้างผลิต (OEM) ทั้งหมด หลังจากเราผลิตและซ่อมเองได้นั้น สิ่งสำคัญคือจะสามารถควบคุมคุณภาพได้'
สำหรับการขยาย 'ธุรกิจจำหน่าย LPG' บริษัทหันกลับมาเน้นการลงทุนในประเทศเพื่อสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจก่อน เพราะว่าสถานการณ์ในต่างประเทศต้องยอมรับว่ายังไม่สดใสมากนัก ปัจจุบัน WP มีคลังแก๊ส LPG จำนวน 5 แห่งใน 4 จังหวัด ขนาดรวม 8,989 ตัน ได้แก่ จ.ลำปาง ,จ.ขอนแก่น ,อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เฟส 1 และเฟส 2 และ จ.สมุทรสงคราม
ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการก่อสร้างคลังแห่งใหม่ ใน อ.บางปะกง เป็นเฟสที่ 3 มูลค่า 500 ล้านบาท จะแล้วเสร็จก่อนปี 2564 ทำให้บริษัทมีความสามารถบรรจุ LPG เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 18,000 ตันต่อปี และไม่มีความจำเป็นต้องเช่าคลังเพิ่มเพื่อรองรับการสำรอง LPG ตามกฎหมายที่จะเพิ่มเป็น 2% ของปริมาณการค้าประจำปีในปี 2564 ด้วย
โดยแผนธุรกิจในปีหน้า บริษัทจะเน้นเข้าไปทำตลาดใหม่ๆ มากขึ้น โดยการเพิ่ม 'จุดกระจายสินค้า' ในพื้นที่ที่ยังเข้าไปไม่ถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่บริษัทยังไม่เคยเข้าไปทำตลาดมาก่อนเลย จากปัจจุบันมีจุดกระจายสินค้า 140-150 แห่ง หากสามารถเพิ่มจุดกระจายสินค้าได้ก็จะทำให้บริษัทมีฐานลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น
สอดคล้องกับ 4 ผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ต้องการให้บริษัทแข็งแกร่งในประเทศก่อน แต่ว่าตลาดต่างประเทศไม่ได้ปิดกั้นหากมีโอกาสที่ดีเข้ามาก็พร้อมจะไปทันที อย่างตลาดในอาเซียน (AEC) ตอนนี้ยังต้องนโยบายของแต่ละประเทศในการสนับสนุนธุรกิจ ถึงจะเป็นแรงดึงดูดการเข้าไปลงทุน เหมือนในตลาดเมียนมาที่ปัจจุบันความต้องการ LPG ก็ยังไม่มาก
'เรามุ่งเน้นทำตลาดในประเทศให้แข็งแกร่งก่อน ด้วยกลยุทธ์ขยายจุดกระจายสินค้าให้ไปสู่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น'
โดยคาดว่าปี 2562 จะมียอดขายแก๊ส LPG เพิ่มขึ้น 2-3% แตะระดับ 8.4 แสนตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 8.17 แสนตัน ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกมียอดขายก๊าซแล้ว 2.5 แสนตัน โดยในปีนี้บริษัทเข้ามารุกตลาดในครัวเรือนมากขึ้น โดยสัดส่วนรายได้ปีนี้คาดว่ามาจากสัดส่วนกลุ่มลูกค้าหุงต้มภาคครัวเรือน 45% , ภาครถยนต์ 23-24% , ภาคอุตสาหกรรม 11-12% และอื่นๆ 9%
ช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินธุรกิจตามแผนที่ได้วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการต้นทุน รวมถึงการขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
โดยผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 136.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.15 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา 52.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 89.22 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมเท่ากับ 3,816.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.76 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 3,798.95 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเป้าหมายสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจและพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมองหาโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจ เพื่อขยายความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตถังก๊าซสำหรับภาคครัวเรือน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลกำไรให้กับบริษัท
รวมถึงสร้างแบรนด์ของบริษัทแม่ 'WP Energy' ให้ความมีความแข็งแกร่งควบคู่กับแบรนด์ 'Worldgas' ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าหลักของบริษัทในปัจจุบันให้เป็นที่รู้จัก ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ WP มีผลประกอบการที่ดี มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
สำหรับ ผลประกอบการของบริษัทถือว่าเติบโตอยู่ในทิศทางที่ดีและเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ สืบเนื่องมาจากตัวเลขรายได้จากการขายในกลุ่มลูกค้าภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับ บริษัทมีความสามารถในการบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมั่นใจว่าภาพรวมธุรกิจของบริษัทในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแนวโน้มสดใส
'เราจะดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อสร้างฐานกำไรให้มีความแข็งแกร่งในระยะยาว และในอนาคตเตรียมจะพิจารณาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น จากกำไรสะสมที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง'
ท้ายสุด 'ชมกมล' กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า กลุ่มบริษัทยังคงมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อต่อยอดรายได้และสร้างฐานธุรกิจให้แข็งแกร่งและมั่นคงตามแผนยุทธศาสตร์ในการเป็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจพลังงานอย่างครบวงจร และอนาคตจะทำให้รายได้-กำไรไม่ผันผวนตามทิศทางราคา LPG อีกต่อไป