‘ปิดทอง’ จับมือ ธปท.แก้หนี้ครัวเรือน
ปิดทองหลังพระฯจับมือ ธปท. และหน่วยงานในจังหวัดน่านเร่งให้ความรู้ประชาชนแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หลังทำโครงการแก้จนสำเร็จ แต่ยังพบปัญหาการออมต่ำหนี้สินสูง
นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ เปิดเผยว่าหลังจากสถาบันส่งเสิรมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ได้เข้ามาให้การส่งเสริมการพัฒนาพื้นในจังหวัดน่านตั้งแต่ปี2552ถึงขณะนี้เวลา10ปีแล้วประชาชนในพื้นที่เริ่มพัฒนาได้ด้วยตนเอง โดยพบว่าระดับรายได้ของคนในพื้นที่ได้ปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบข้อมูลที่น่ากังวลว่าแม้รายได้จะดีขึ้น แต่ประชาชนในพื้นที่ยังมีปัญหาเรื่องการออมต่ำและยังคงมีปัญหาหนี้สิน
ดังนั้นสถาบันฯได้ร่วมกับหลายหน่วยงานที่เป็นภาคีทำงานร่วมกันในจังหวัดน่าน ได้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และจังหวัดน่าน ในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเป็นการให้ประชาชนในจังหวัดน่านเห็นถึงความสำคัญของปัญหาหนี้สินและการออมโดยจะเริ่มต้นทำในพื้นที่เล็กๆ ระยะเวลาประมาณ6เดือนและประเมินผล แล้วค่อยขยายพื้นที่ออกไปยังพื้นที่อื่นๆ
นายชนินทร์ เพชรไทย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ส่วนคุ้มคอรงและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงินธปท. สำนักงานภาคเหนือ กล่าวว่า
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในภาคเหนือยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ยังมีปัญหาหนี้สิน ทั้งในระบบและนอกระบบ แม้เกษตรกรส่วนใหญ่บางพื้นที่มีรายได้ดีขึ้น แต่จำนวนหนี้ก็ยังไม่ลดลง อาจเป็นไปได้ว่า เกษตรกรมีความเชื่อว่าการกู้เงินเท่าเดิมเป็นการรักษาเครดิตตัวเอง บางรายยังหาทางกู้เงินจากหลายแหล่งโดยเฉพาะกู้เงินจากสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ ไปจ่ายหนี้คืนกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งพบว่าคนในภาคเหนือมักกู้เงินในลักษณะนี้มากกว่าภาคอื่น
ส่วนประเด็นที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศคือกรณีที่คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นโดยเฉพาะคนเจนวายที่เพิ่งเริ่มทำงานและส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค ในขณะที่คนสูงอายุวัยเกษียณแล้วก็ยังมีหนี้ในระดับสูง เป็นปัญหาว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วและยาวนานทั้งนี้ ณ ปี2561พบว่า คนไทยมีหนี้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่คนละ 574,100 บาท เพิ่มจากปี2553 ที่มีคนละ 400,800 บาท ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่เป็นการซื้อสินค้าอุปโภค