'จุฬาฯ' เปิดผลวิจัยขยะอีอีซี เตือนรับมือ 20 ปี พุ่ง 80%

'จุฬาฯ' เปิดผลวิจัยขยะอีอีซี  เตือนรับมือ 20 ปี พุ่ง 80%

“จุฬาฯ” จับมือกระทรวงอุตสาหกรรม-กระทรวงทรัพยากรฯ เปิดผลวิจัยขยะอีอีซี เตือนรับมือ 20 ปี พุ่ง 80%

ขยะที่เกิดขึ้นในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่วนใหญ่ถูกจัดการโดยวิธีฝังกลบและถูกจัดการไม่ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องวางแผนรับมือเพื่อให้ขยะทั้งหมดเข้าสู่ระบบการกำจัดที่ถูกต้อง ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมระยะยาว

สุธา ขาวเธียร อาจารย์ประจำ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำรวจวิเคราะห์และคาดการณ์ปริมาณขยะในอีอีซี พบว่าขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในอีอีซี ปี 2561 มีปริมาณ 4,268 ตันต่อวัน หรือ 1.5 ล้านตันต่อปี 

ขยะส่วนใหญ่ถูกกำจัดด้วยการฝังกลบ แต่ในจำนวนนี้มี 40% ที่จัดการไม่ถูกต้องจึงต้องวางแผนรับมือเพื่อให้อีอีซีเติบโตได้ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับเป้าหมายหลักของความร่วมมือครั้งนี้ คือ การสนับสนุนการพัฒนาอีอีซีทั้งด้านผลิตงานวิจัยที่จะรองรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น สร้างแพลตฟอร์มที่จะให้ข้อมูลและช่วยตัดสินใจวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการของเสีย 

รวมถึงพัฒนาสู่ระบบอัจฉริยะในการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเพื่อกลับเข้าเป็นวัสดุรอบ 2 ซึ่งปัจจัยที่จะสนับสนุน คือ การนําข้อมูลมาแบ่งปันและใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยจําลองวิธีการแก้ปัญหาและเข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

สำหรับการคาดการณ์ปริมาณของเสียในอีอีซี ประเมินจากขยะมูลฝอยชุมชน ขยะอันตรายจากชุมชน ขยะติดเชื้อ กากอุตสาหกรรมอันตราย กากอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย เศษวัสดุจากผลิตผลทางการเกษตรจากภาคการเกษตร รวมทั้งของเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่และส่งไปจัดการภายนอก หรือของเสียจากภายนอกพื้นที่ส่งมาจัดการในอีอีซี และในส่วนของผู้รับจัดการก็มีหลายประเภทขึ้นกับชนิดของเสีย

คณะทำงานได้ประเมินปริมาณของเสียและประเมินศักยภาพการจัดการเพื่อให้ทราบส่วนเกินของศักยภาพการจัดการ เพื่อให้เห็นภาพรวมจะประเมินปริมาณของเสียที่ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในภาพใหญ่ก่อน ได้แก่ กากอุตสาหกรรมอันตราย ขยะติดเชื้อ ขยะมูลฝอยชุมชน

ผลการประเมิน พบว่า การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในอีอีซี จะทำให้กากอุตสาหกรรมอันตรายจากปี 2562 ที่มีปริมาณ 630,000 ตัน จะเพิ่มในปี 2565 เป็น 791,781 ตัน ส่วนปี 2570 เพิ่มขึ้นเป็น 907,734 ตัน ปี 2575 เพิ่มเป็น 1,028,217 ตัน และปี 2580 จะเพิ่มเป็น 1,172,441 ตัน ซึ่งในปี 2580 ขยะอุตสาหกรรมอันตรายเพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 80%

ส่วนขยะมูลฝอยติดเชื้อ ได้คํานวณจากข้อมูลปริมาณมูลฝอยติดเชื้อและปริมาณเตียงของโรงพยาบาลรัฐในอีอีซี ปี 2560 โดยนําค่าที่ได้มาคำนวณหาความสัมพันธเชิงสถิติ จากนั้นนําสมการความสัมพันธ์ที่ได้ประมาณหาค่าปริมาณมูลฝอยติดเชื้ออีก 20 ปี ข้างหน้า โดยให้ปริมาณเตียงเพิ่มขึ้นปีละ 2% เพราะประชากรรวมในอีอีซี เพิ่มขึ้นปีละ 2% 

จากการประเมิน คาดว่าปี 2565 จะมีปริมาณ 5,483 ตัน ในปี 2570 จะเพิ่มเป็น 6,053 ตัน ในปี 2575 จะเพิ่มเป็น 6,683 ตัน และในปี 2580 จะเพิ่มขึ้นเป็น 7,378 ตัน โดยตั้งแต่ปี 2565 ถึงปี 2580 ในอีอีซีจะมีขยะมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้น 34% เพราะประชากรเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้นทำให้สถานพยาบาลเพิ่มขึ้นด้วย

ด้านขยะชุมชนคํานวนจากข้อมูลปริมาณขยะชุมชนของประชากรในอีอีซี (กิโลกรัม/คน/วัน) พบว่ามีขยะเกิดขึ้น 1.006 กิโลกรัม/คน/วัน จากค่าเฉลี่ยปี 2558-2560 จากนั้นนําข้อมูลที่ได้ไปคํานวนหาปริมาณขยะทั้งหมดในอีอีซี 

157710640682

จากการประเมินคาดว่าปี 2562 จะมีปริมาณ 1.55 ล้านตัน ในปี 2565 จะมีปริมาณเพิ่มเป็น 1.76 ล้านตัน ในปี 2570 เพิ่มเป็น 1.99 ล้านตัน ในปี 2575 เพิ่มเป็น 2.28 ล้านตัน และปี 2580 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.63 ล้านตัน หรือปริมาณขยะชุมชนในปี 2580 จะเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 70% อันเนื่องมาจากแรงงานและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

สำหรับปริมาณขยะที่เพิ่มบางส่วนนำไปรีไซเคิลได้ โดยกากอุตสาหกรรมรีไซเคิลได้มากกว่า 50% ขยะชุมชนนำไปรีไซเคิลได้ 30% ทำให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้ถูกวิธีประมาณ 50-60% ซึ่งการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การนำไปเผาเพราะเหลือขี้เถ้าไปฝังกลบไม่มาก รองรับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นได้ในระยะยาวและไม่ก่อมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมในอีอีซี

ส่วนปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายและกากอุตสาหกรรมอันตรายใน จ.ชลบุรี มีทั้งหมด 2.43 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่เป็นขยะโลหะ และขี้เถ้า แบ่งเป็นเป็นขยะอุตสาหกรรมไม่อันตราย 2.23 ล้านตันต่อปี และอันตราย 1.98 แสนตันต่อปี 

มีโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม 187 แห่ง ได้แก่ โรงงานประเภท 101 (โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม) 1 แห่ง โรงงานประเภท 105 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว) 144 แห่ง และโรงงานประเภท 106 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่) 42 แห่ง

จ.ระยอง มีขยะอุตสาหกรรมรวม 2.22 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่เป็นขี้เถ้าและโลหะ แบ่งเป็นขยะไม่อันตราย 2.13 ล้านตันต่อปี และอันตราย 8.71 หมื่นตันต่อปี มีโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรม 86 แห่ง ได้แก่ โรงงานประเภท 101 จำนวน 1 แห่ง โรงงานประเภท 105 จำนวน 69 แห่ง และโรงงานประเภท 106 จำนวน 16 แห่ง 

จ.ฉะเชิงเทรา มีขยะอุตสาหกรรมรวม 7.03 แสนตันต่อปี ส่วนใหญ่เป็นโลหะและพลาสติก แบ่งเป็นขยะอุตสาหกรรมไม่อันตราย 6.57 แสนตันต่อปี และอันตราย 4.52 หมื่นตันต่อปี โดยมีโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรม 67 แห่ง ได้แก่ โรงงานประเภท 105 จำนวน 52 แห่ง และโรงงานประเภท 106 จำนวน 15 แห่ง

ทั้งนี้ มีความเป็นห่วงในเรื่องของขยะชนิดใหม่ที่เกิดจากอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี โดยขยะเหล่านี้มีปริมาณไม่มากแต่กำจัดได้ยาก

“หลังจากที่รวบรวมข้อมูลเสร็จจะนำไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อทำเป็นแผนการกำจัดขยะในอีอีซีระยะยาว”