เคาะประมูล 5 จี 4 คลื่น กดดันกลุ่มสื่อสารข้ามปี

เคาะประมูล 5 จี 4 คลื่น  กดดันกลุ่มสื่อสารข้ามปี

สุดท้ายบทสรุปการประมูล 5 G ที่เกิดขึ้นปี 2563 จะมีการนำคลื่นความถี่ 4 คลื่นมาประมูล ซึ่งให้มีการยื่นซอง 4 ก.พ. 2563 และประมูลคลื่นในวันที่ 16 ก.พ. ปี 2563 ทำให้เกิดความวิตกถึงการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น ทั้งจากผู้เล่นหน้าใหม่และราคาในการประมูล

      จากก่อนหน้านี้ มีการระบุว่าคลื่นที่จะนำไปประมูลมีเพียง 3 คลื่นประกอบด้วยคลื่น 1800 -2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งเมื่อดูจากราคาประมูลเบื้องต้น จำนวนชุดความถี่ และคลื่นในมือเดิมของโอปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย น่าจะทำให้การประมูลในครั้งนี้ ไม่ได้กดดันกลุ่มสื่อสารมากหนักในแง่ของการแข่งขันและราคาประมูล

     หากแต่เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการ กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กลับไปใช้แผนเดิมด้วยการดึงคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ กลับมาประมูลด้วย ทำให้เริ่มคาดการณ์แล้วว่าจะเกิดการแข่งขันทันที

    ท่ามกลางผู้ประกอบการปัจจุบันที่มี 3 รายคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ยังสามารถครองเบอร์ 1 มาตลอด ด้วยจำนวนฐานลูกค้า 41.55 ล้านราย อันดับ 2 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE มีจำนวนฐานลูกค้า 30.1 ล้านราย และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ค คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC จำนวนฐานลูกค้า 20.4 ล้านราย

   

   ส่วนรายใหม่ที่ประกาศชัดเจนจะเข้าร่วมประมูลด้วยคือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งในเบื้องต้นทาง กสท ประกาศชัดเจนแล้วว่ามีความสนใจในคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อมาทดแทนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์

    ความน่าสนใจของคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ มาจากการประโยชน์ที่คลอบคลุมมากกว่าเพราะเป็นคลื่นความถี่ต่ำสามารถนำไปในในรูปแบบโซลูชั่นเพื่อให้บริการ ซึ่งหากเป็นรายใหม่ย่อมต้องการคลื่นลักษณะนี้ไว้ให้บริการ 5 G ในอนาคตแน่นอน

    นอกจากนี้การที่มี กสท แสดงความสนใจอยากได้คลื่นนี้ด้วยทำให้ต้องมีการมาประเมินฐานเงินทุนของทั้ง กสท. และทีโอที (อนาคตจะมีการควบรวมทั้ง 2 องค์กร) รวมกันมีถึง แสนล้านบาททำให้การแข่งขันน่าจะดุเดือดในคลื่นดังกล่าว

    ขณะเดียวกันเริ่มมีการประเมินด้วยว่าหาก กสท ได้คลื่นดังกล่าวไปอาจจะสู้โอปอเรเตอร์ที่แข็งแกร่งทั้ง 3 รายไม่ได้ในแง่ของฐานลูกค้า การทำการตลาด โปรโมชั่นที่คลอบคลุมบริการมากกว่าและเชื่อมไปยังบริการอื่น ยกเว้น กสท. จะจับมือกับผู้ประกอบการายใหม่อื่นๆ ที่เข้ามาเป็นพันมิตรแทนซึ่งจะเป็นจุดที่น่ากังวลใจในกลุ่มสื่อสสารอีกครั้ง

   

ส่วนโอปอเรเตอร์อีก 3 รายแม้จะมีคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ในมืออยู่แล้วก็ตาม โดยทุกรายมีจำนวน 3 ใบอนุญาต ๆ ละ 17,584 ล้านบาท จำนวน 10 เมกะเฮิร์ตซ์ มีอายุสัมปทาน 15 ปี ซึ่งมีเงื่อนไขชำระค่าแบงก์การันตรี 880 ล้านบาท และนับหนึ่งงวดแรกที่ต้องจ่าย 1 ต.ค. 2563 ซึ่งสามารถแบ่งชำระเป็น 10 งวด

    กรณีที่ให้บริการ 5G จำเป็นต้องใช้ จำนวนเมกะเฮิร์ตซ์ ที่มากขึ้น ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ทั้ง 3 ที่ปฎิเสธไม่เข้าประมูลคลื่นนี้เปลี่ยนใจกลับมาร่วมประมูลด้วยเป็นไปได้ ซึ่งจากจำนวนการจัดสรรคลื่นดังกล่าว อยู่ที่ 3 ชุด มีราคาขั้นต่ำ 8,792 ล้านบาทต่อชุด และสามารถแบ่งชำระ 10 งวด ๆ ละ 10 % ได้เช่นกัน

    บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ยูโอบี เคย์เฮียน ประเมินกลุ่มสื่อสารมีแรงกดดันจากการกลับมาตัดสินใจประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ อีกครั้ง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแข่งขันในระยะยาว เนื่องจากเป็นคลื่นที่มีความยืดหยุ่นในการนำไปใช้ในการบริการประเภทต่างๆ และเป็นเป้าหมายที่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่มีคลื่นในมือ จะใช้เป็นช่องทางในการเข้าสู่ตลาดทำให้เกิดความกังวลต่อการแข่งขันที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต

157729106622