ค้าปลีกอ่วมโตต่ำ-ไฮเปอร์ฯ ชะลอ 'ซูเปอร์มาร์เก็ต' บูมรับไลฟ์สไตล์เปลี่ยน
อุตสาหกรรมค้าปลีก เป็นอีกเซ็คเตอร์ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ในภาวะที่ภาพรวมกำลังซื้ออ่อนแรง ผสมโรงกับกระแสรักษ์โลก ในรอบปี 2562 จึงเห็นการปรับตัวคึกคัก ไปดูกันว่าแต่ละประเภทค้าปลีก อยู่ในอาการใดกันบ้าง
อุตสาหกรรมค้าปลีกรอบปี 2562 เผชิญภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ นอกจาก “ชอปปิงออนไลน์” ที่เป็น “ทางเลือกใหม่” เขย่าธุรกิจออฟไลน์ต้องพลิกกลยุทธ์ครั้งใหญ่สร้างการเติบโตคู่ขนาน “ออนไลน์-ออฟไลน์” เพื่อเข้าถึงลูกค้าและทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้แบบไร้รอยต่อ หรือ ออมนิแชนแนล ผู้ประกอบการค้าปลีกยังปลุกกระแสรักษ์โลก รณรงค์ “ลดการใช้ถุงพลาสติก” อย่างจริงจังและเข้มข้น ก่อนที่จะ “งดให้บริการถุงพลาสติก” อย่างเป็นทางการ วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป ภายใต้ความร่วมมือของผู้ค้าปลีก 75 รายทั่วประเทศ
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาพรวมธุรกิจค้าปลีกปี 2562 เติบโตเพียง 2.8% ลดลงจากปีที่ผ่านมาเติบโต 3.2% เนื่องจากการบริโภคหดตัวในทุกหมวดสินค้า
โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ประเมินภาวะธุรกิจสมาชิกผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ พบว่า การบริโภคภาคค้าปลีกค้าส่ง (Retail Consumption) ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางลงล่างที่ต้องอาศัยรายได้จากผลผลิตภาคเกษตรซึ่งยังคงมีกำลังซื้อที่อ่อนแอ!! ขณะที่ “หนี้ครัวเรือน” ในระดับสูงไม่มีแนวโน้มลดลง และรอการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐผ่านมาตรการต่างๆ
สะท้อนชัดเจนในหมวดสินค้าไม่คงทน (Nondurable Goods) เช่น เครื่องดื่ม อาหาร ที่เติบโตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับ ผู้บริโภคระดับกลางที่มีรายได้ประจำเริ่มแสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อที่อ่อนแอลงเช่นกัน ส่งผลให้การเติบโตการบริโภคหมวดสินค้ากึ่งคงทน (Semi-Durable Goods) เติบโตถดถอยลง โดยหมวดสินค้ากึ่งคงทน เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องหนัง รองเท้า นาฬิกา เคยมีการเติบโตเฉลี่ย 8-12% ในช่วง 10 ปีผ่านมา กลับเติบโตเพียง 3.2%
ส่วนกลุ่มสินค้าคงทนถาวรเติบโตลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย โดยเฉพาะในหมวดสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ อย่าง กล้องถ่ายภาพ และสมาร์ทโฟน ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 40% ของหมวดสินค้าคงทน มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ส่วนหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน “ทรงตัว” เนื่องจากฤดูกาลที่ผันผวน ช่วงฤดูร้อนค่อนข้างสั้น และฤดูฝนเริ่มต้นเร็วกว่าปกติ สำหรับ หมวดสินค้าวัสดุก่อสร้างยังไม่ฟื้นตัวผลจากภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างที่หดตัวลง
หากพิจารณาสถานการณ์ค้าปลีกแบ่งตามประเภทของธุรกิจค้าปลีก (by Segment) พบว่า เซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตมากยังเป็นหมวด “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ซึ่งเป้าหมายกลุ่มผู้บริโภคเป็นกลุ่มกลางขึ้นบนที่ยังมีกำลังซื้อสูงอยู่ และในจังหวัดที่เป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เป็นไปตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มองหาทางเลือกและประสบการณ์ใหม่ ให้ความสำคัญกับคุณภาพ การดูแลสุขภาพ มากขึ้น
จะเห็นว่า ค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตซึ่งเน้นกลยุทธ์ “ราคา” เป็นหลัก ปรับแนวทางธุรกิจโดยมุ่งยกระดับ “แผนกอาหารสด” แบบ “อัพสเกล” เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ไม่ได้มองเรื่องของ “ราคา”อย่างเดียวอีกต่อไป!
อีกเซ็กเมนต์ที่เติบโต คือเฮลธ์แอนด์บิวตี้ (Health&Beauty) ซึ่งมีการแตกเซ็กเมนต์ย่อย (Fragment) เป็นหมวด Beauty Store, Drug Store และ Health&Personal Store อย่างชัดเจนมากขึ้น
ผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมากมายในหมวดบิวตี้!! ทั้งแบรนด์สัญชาติไทยและต่างชาติ แม้การแข่งขันรุนแรง แต่ตลาดมีการเติบโตสูงสวนกระแสเศรษฐกิจ เกิดจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป และโครงสร้างประชากรชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น เป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสนองความ “พึงพอใจ” และมองหาประสบการณ์ใหม่
ห้างสรรพสินค้า (Department Store) ยังคงได้รับผลกระทบจากบรรยากาศการจับจ่ายที่ยังไม่ปกติ และราคาสินค้าที่ไม่เอื้ออำนวยในการจับจ่ายแก่นักท่องเที่ยว เนื่องจาก ภาระ “ภาษีนำเข้า” สินค้าแบรนด์หรูยังสูงเมื่อเทียบกับประเทศที่มีนโยบาย ชอปปิง เดสทิเนชั่น (Shopping Destination) เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว
ส่วนหมวดสินค้าเกี่ยวกับบ้านทั้งการซ่อมแซม และตกแต่ง รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน “Home Improvement”และ “Home Appliance and Electronic” ยังไม่เติบโต ซึ่งเป็นผลจากความซบเซาของอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์
แต่สำหรับ “Home Improvement” ที่มีเป้าหมาย “เจ้าของบ้าน” ยังคงมีการเติบโตจากการขยายตัวของบ้านและคอนโดหรูระดับไฮเอนด์
ขณะที่ ฟู้ดเซ็กเตอร์ (Food Sector) ประเภท ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermart) และ ร้านสะดวกซื้อ หรือ คอนวีเนียนสโตร์ (Convenience) ที่จับกลุ่มลูกค้าระดับกลางลงล่างยังคงประสบปัญหาการเติบโต!! เนื่องจากกำลังซื้อในกลุ่มกลางลงล่างอ่อนแรง มาตรการการผลักดันงบประมาณการใช้จ่ายภาครัฐผ่านบัตรสวัสดิการคนจนลงสู่รากหญ้าและมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ได้ผลเพียงระยะสั้น และส่วนใหญ่ผลพวงจากมาตรการจะไปอยู่ที่ร้านค้าปลีกภูธร ซึ่งส่งผลให้ร้านค้าปลีกภูธรเติบโตอย่างมีนัยสำคัญทุกภูมิภาค