เทคโนโลยีโหมแรง ปั่นป่วนธุรกิจไทยปี 63
เทคโนโลยีที่โหมแรงและเร็วในปี 2563 ทำให้องค์กรธุรกิจน้อยใหญ่ต่างเร่งทรานส์ฟอร์มเพื่อหวังให้อยู่รอด หากถามหารูปแบบของการเปลี่ยนแปลง กูรูหลายคนบอกเลยว่าไม่มีสูตรสำเร็จ และยิ่งเป็นสูตรสำเร็จในอดีตแล้ว ก็คงต้องโยนทิ้งกันไปได้เลย
เปิดปี 2563 "ปีหนูทอง" ยังเป็นปีที่ "เทคโนโลยี" เข้ามาปั่นป่วนสำหรับธุรกิจที่ไม่ปรับตัว และสร้างโอกาสทางธุรกิจไปพร้อมกัน สำหรับธุรกิจที่ปรับตัว (ทรานส์ฟอร์ม) รับคลื่นความเปลี่ยนแปลง ที่จะ "โหมแรงและเร็ว" ขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เห็นได้จากในช่วงเทศกาลปีใหม่ ผู้คนต่างใช้สื่อสังคมออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างเฟซบุ๊ค ยูทูป อินสตราแกรม ไลน์ และทวิตเตอร์ ส่งคำอวยพรบุพการี ญาติผู้ใหญ่ มิตรสหายที่รักกันถ้วนหน้า เป็นตัวอย่างใกล้ตัวที่สะท้อนถึง "พลังแห่งเทคโนโลยี" ในการเข้าถึงผู้บริโภคในทุกครัวเรือน ขอเพียงมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนสักเครื่อง
สถานการณ์ดังกล่าว แน่นอนว่าสิ่งที่จะเห็นหนักหน่วงในปีนี้คือการเร่ง "ทรานส์ฟอร์ม" องค์กรน้อยใหญ่ เพื่อดิ้นหนี ไปพร้อมกับการ "สร้างแต้มต่อ" ทางธุรกิจ บนสมรภูมิธุรกิจที่เปลี่ยนไป จากหน้าร้านการค้า (ออฟไลน์) ที่ทยอยลดบทบาทของตัวเองลง อาจเหลือเพียงแค่เป็น "ดิสเพลย์" ให้ผู้บริโภคมาเลือกชม ลองสินค้าและบริการ ก่อนที่จะจบด้วยการสไลด์ปลายนิ้วสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ที่มีโปรโมชั่นล่อใจ แลกกับข้อมูลผู้บริโภค (บิ๊กดาต้า) ที่เจ้าของสินค้าและบริการจะได้รับ สะสมประมวลไว้เพื่อเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคในการสั่งซื้อสินค้าครั้งต่อๆ ไป
ถามว่าจะ "ทรานส์ฟอร์ม" ธุรกิจอย่างไรให้รอด ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเช่นนี้ กูรูหลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไม่มีสูตรสำเร็จ" ยิ่งสูตรสำเร็จในอดีตด้วยแล้วขอให้โยนทิ้งไปเลย เพราะใช้ไม่ได้กับบริบทธุรกิจยุคนี้ อาทิ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีทุนหนา-มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับหลากหลายภาคส่วน (Stakeholders) ไม่อาจสรุปว่า ธุรกิจจะยืนระยะได้นานอีกต่อไป หากไม่มีไอเดียทางธุรกิจที่แหลมคม เกาะเทรนด์โลก ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ ไม่แน่ว่าปี 2563 อาจจะได้เห็นยักษ์ล้ม (แจ็คผู้ฆ่ายักษ์) หรือแจ้งเกิด "เล็กพริกขี้หนู" อีกหลายรายในสังเวียนธุรกิจไทยและเทศก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ในมุมผู้บริโภคการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งจากผู้เล่นหน้าเดิมเก๋าเกม และผู้เล่นหน้าใหม่ที่คิดว่าตัวเองแน่ รวมถึงการย้ายแพลตฟอร์มการค้าที่เคลื่อนจากออฟไลน์สู่ออนไลน์แบบจริงๆ จังๆ ด้วยอัตราเร่งสูง ย่อมมีส่วนทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวลดลงเพื่อช่วงชิงลูกค้า ทำให้ "ผู้บริโภค" ในยุคนี้เป็นพระเจ้าตัวจริงยิ่งกว่ายุคไหนๆ จนเกิดพฤติกรรมที่เดินเข้าสู่ "Lazy Economy" (ตลาดของคนขี้เกียจ) โดยแท้ เพราะไม่ต้องเคลื่อนกายไปไหน เมื่อสินค้าและบริการเข้ามาเคาะประตูบ้านแบบพร้อมเสิร์ฟ
ทั้งนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ล้วนเป็นผลจาก "ความก้าวหน้าและการเข้าถึงเทคโนโลยี" ที่ทลายพฤติกรรมการบริโภคแบบเดิมๆ ลงอย่างสิ้นเชิง โดยกำลังจะขยายผลจากในเมืองหลวงสู่เมืองรอง และภูธรที่ห่างไกล มุมหนึ่งทำให้ "ความเหลื่อมล้ำของเทคโนโลยี" เดินมาเข้าใกล้กันมากขึ้น แปลงคนไกลเป็นคนใกล้ สำหรับผู้บริโภคต้องขอบคุณเทคโนโลยีที่เปิดโลกทัศน์ในทุกสิ่ง ทว่าในมุมธุรกิจ การปรับตัวให้เท่าทันเท่านั้นจึงรอด